เมืองไทย 360 องศา
กรณีบันทึกความเข้าใจหรือ เอ็มโอยู 44 ระหว่างไทย-กัมพูชา กำลังกลายเป็นประเด็นร้องแรง อาจกลายเป็นวิกฤตภายในชาติ และรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เวลานี้ เพราะทำให้คนไทยระแวงสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน และเสี่ยงจะสูญเสียดินแดนเพิ่มเติม และกำลังมีปฏิกิริยาต่อต้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่า ที่ผ่านมานอกจากทั้งสองเรื่องดังกล่าว ทั้งแหล่งผลประโยชน์ด้านพลังงาน และความเสี่ยงจะเสียดินแดน โดยเฉพาะมีการโฟกัสไปที่ “เกาะกูด” จังหวัดตราดของไทย ซึ่งเอาเข้าจริงพื้นที่เกาะกูด ไม่ว่ามองมุมไหนก็ต้องเป็นของไทยอยู่แล้ว เพราะมีองค์ประกอบครบถ้วนในปัจจุบัน และน่าสังเกตก็คือ ฝ่ายที่พยายามเน้นย้ำเป็นพิเศษในเรื่องสิทธิ์เหนือเกาะกูดนั้นเป็นฝ่ายรัฐบาล แต่สิ่งที่น่าจับตายิ่งกว่า กลับเป็นเรื่องพื้นที่ทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วมต่างหาก เพราะหากมีการยอมรับในการเจรจากันทั้งสองฝ่ายแล้ว นอกจากมีความเสี่ยงในเรื่องการ “แบ่งพื้นที่” และกระทบมาถึงเกาะกูด อย่างเลี่ยงไม่ได้
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.ต่างประเทศ ก็พยายามย้ำให้เห็นว่า เกาะกูดนั้นเป็นของไทยอยู่แล้วไม่มีปัญหา แต่ขณะเดียวกันกลับเน้นให้เห็นว่า “เอ็มโอยู 44” ฝ่ายไทยไม่ได้เสียเปรียบ และเตือนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายนพดล อ้างว่า มีการปั่นกระแสบิดเบือนไทยจะเสียเกาะกูด จ.ตราด ตามการเจรจาในเอ็มโอยู 44 ว่า ข้อเท็จจริงคือ เกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีใครยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ ไม่เคยได้ยินกัมพูชาเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะกูด ขอให้เลิกปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูดเป็นความเท็จ รัฐบาลนี้รักประเทศ ไม่มีใครทำให้เสียดินแดน เอ็มโอยู 44 ลงนามโดย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ ขณะนั้น เป็นกรอบการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วม เนื่องจากไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ทั้ง 2 ประเทศ เลือกใช้วิธีเจรจาการทูต เป็นที่มาเอ็มโอยู 44 เพื่อวางกรอบเจรจาบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ
“ที่สำคัญการเจรจาเอ็มโอยู44 ไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของไทยและกัมพูชา ถ้าเจรจาไม่สำเร็จก็ไม่กระทบสิทธิไทยและกัมพูชา อีกทั้งกลไกเจรจาตามเอ็มโอยู 44 ทำโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา(เจทีซี) คนเจรจา คือ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นมือหนึ่งกฎหมายของประเทศ มีตัวแทนกองทัพ กระทรวงพลังงาน คนอื่นไปเจรจาไม่ได้ นายกรัฐมนตรีก็ไม่เกี่ยวข้องการเจรจา การเจรจาในระดับเจทีซี ได้อย่างไร ต้องนำมาเข้าสภาพิจารณาก่อน ไม่สามารถไปเซ็นข้อตกลงกับกัมพูชาได้ รัฐบาลไม่สามารถงุบงิบทำได้”
นายนพดล กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้นำเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล มาบิดเบือนใส่ร้าย อย่างที่ตนเคยถูกกระทำในอดีต สมัยเป็น รมว.ต่างประเทศ ที่ถูกใส่ร้ายเป็นคนยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้งที่ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี การใส่ร้ายตนยกเขาพระวิหารให้กัมพูชาจึงเป็นความเท็จ มองว่า ความพยายามปั่นกระแสเรื่องการยกเกาะกูดให้กัมพูชานั้น มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ต้องการทำลายเสถียรภาพรัฐบาล เพราะเป็นกระแสอ่อนไหว ถ้าไม่ชี้แจงอาจเป็นไฟลามทุ่งได้
“คนไทยไม่ว่าเสื้อสีใด รักชาติเท่ากัน อย่านำประเด็นเรื่องดินแดนมาเป็นประเด็นการเมือง บั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาล ถ้ารักชาติจริง ต้องเอาความจริงและข้อกฎหมายมาพูด หากยังมีการปั่นแสโจมตี ระบุชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยทำให้ประเทศไทยเสียเกาะกูด คิดว่าคงต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายต่อไป” นายนพดล กล่าว
ขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านกลับมองอีกด้านหนึ่ง ที่น่าสนใจก็คือ บอกว่า บุคคลทั่วไปที่เกาะติดเรื่องดังกล่าวมาอย่างยาวนาน เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว. ที่ติดตามปัญหามาตลอดกลับชี้ให้เห็นถึงความกังวลหากไทยยังยอมรับเอ็มโอยู 44
นายคำนูณ ชี้ให้เห็น 6 ข้อเสียของ เอ็มโอยู 44
1.ไทยไม่มีประเด็นใดๆ จะต้องเจรจาเรื่องกรรมสิทธิเหนือเกาะกูด (อย่างน้อยก็ในส่วน “ตัวเกาะ”) เพราะเกาะกูดเป็นของไทยมา 127 ปีแล้ว โดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 คนไทยทุกฟากความคิด เห็นตรงกันในข้อนี้ รัฐบาลกัมพูชาเองก็เริ่มยอมรับ จึงปรากฏเส้นเว้ารอบตัวเกาะด้านทิศใต้ เป็นรูปตัว U ในแผนผังประกอบ MOU 2544
2. อาจเข้าข่ายว่า ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2544 วันที่ไทยจรดปากกาลงนามใน MOU 2544 ไทยยอมรับการคงอยู่โดยปริยาย ซึ่งเส้นเขตไหล่ทวีป ค.ศ.1972 ด้านทิศเหนือ ซึ่งประกาศโดยกฤษฎีกา 439/72/PRK ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 ทั้งๆ ที่ตลอด 29 ปีก่อนหน้านั้น ไทยตอบโต้กัมพูชาทุกรูปแบบมาโดยตลอด และอาจเข้าลักษณะ “กฎหมายปิดปาก” หากต้องเป็นความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในอนาคต
3. สารัตถะใน MOU 2544 เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย ในพื้นที่ทั้ง 2 ส่วน ของข้อตกลง คือ ส่วนบนเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และส่วนล่างเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
ส่วนบนเส้น 11 - กัมพูชาที่เสียเปรียบในการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน คือ อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) ข้อ 121 และข้ออื่นๆ ชนิดแทบจะไม่มีประตูสู้ได้เลย เหลืออยู่ประตูเล็กๆ ประตูเดียวที่จะอ้างว่า กัมพูชายังไม่ได้ให้สัตยาบัน UNCLOS 1982 กลับสามารถหยิบยกเป็นประเด็นมาต่อรองกับการเจรจาตกลงแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ส่วนล่างได้ โดยเป็นฝ่ายไทยเสียเองที่ยอมสละข้อได้เปรียบของประเทศตัวเอง
ส่วนล่างเส้น 11 - การกำหนดให้เจรจาเฉพาะแบ่งผลประโยชน์ ไม่เจรจาปักปันเขตแดน ทำให้การเจรจาหลุดออกจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ UNCLOS 1982 ที่ไทยได้เปรียบ แล้วไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีป นอกกฎหมาย ค.ศ. 1972 ของกัมพูชา มาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตกโดยไม่หือ ไม่อือ เท่ากับประเทไทยทิ้งความได้เปรียบในการเจรจาทั้งส่วนบนเส้น 11 และส่วนล่างเส้น 11 ไป
4. การยอมรับพื้นที่ส่วนล่างเส้น 11 เป็นพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ทั้งหมด โดยนำเส้นเขตไหล่ทวีป นอกกฎหมายค.ศ. 1972 ของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตก ทำให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่ไม่สมควรจะได้รับ หรืออีกนัยหนึ่ง ทำให้ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่สมควรจะได้รับ
5. ทำให้การเจรจาจำกัดกรอบไว้ภายใต้รูปแบบเดียว ถ้าถึงทางตัน ก็ไปต่อไม่ได้
6. หากยึดสารัตถะรูปแบบการเจรจาตาม MOU ก็เท่ากับเป็นการเจรจานอกกรอบ UNCLOS 1982 ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก 1 ใน 160 ประเทศ
แน่นอนว่า ประเด็นหลักในเวลานี้น่าจะเป็นข้อกังวลในเรื่องเขตแดน ที่เรียกว่าเขตไหล่ทวีป ที่ทางฝ่ายกัมพูชากำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ ที่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ขณะเดียวกันเรื่องเกาะกูดน่าจะรับรู้กันอยู่แล้วย่อมต้องเป็นของไทย เพียงแต่ว่าหากมีการลากเส้นเขตแดนใหม่ทางทะเล มันก็อาจทำให้ต้องเสียเกาะกูดไปโดยปริยาย
กรณี เอ็มโอยู 44 ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเสี่ยงทำให้เกิดวิกฤต ทั้งในรัฐบาล และบ้านเมือง ซึ่งหากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว ต้นตอของปัญหาล้วนเกิดจากความไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเฉพาะคนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกมองอย่างน่าระแวง ในเรื่องผลประโยชน์กับทางฝ่ายกัมพูชา กับ นายฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีอิทธิพลสูงสุดในกัมพูชา และถือว่ามีความใกล้ชิดกับ “แบบพิเศษ” และพฤติกรรมที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่ส่อให้มีความเชื่อแบบนั้นเสียด้วย
ดังนั้น งานนี้เชื่อว่าหากรัฐบาลยังเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาในเรื่อง “เอ็มโอยู 44” โดยไม่ยอมยกเลิก เชื่อว่าจะต้องเกิดวิกฤตกลับมาอีกรอบ เพราะเวลานี้กระแสคัดค้านเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจุดติด เพราะหากไม่ถอย มันก็เหมือนกับว่าข้อระแวงสงสัยนั้นเป็นความจริง!!