xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” สวน “นพดล” ยัน MOU44 กระทบสิทธิทางทะเล ส่อลามถึงเสียดินแดน เหตุกัมพูชาลากเส้นไม่ถูกต้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” โต้ “นพดล” ยัน MOU44 กระทบการอ้างสิทธิทางทะเลแน่นอน เหตุกัมพูชาลากเส้นไม่ถูกต้อง ส่งผลให้พื้นที่พัฒนาร่วมกว้างใหญ่เกินไป ไทยเสียสิทธิทางทะเล และอาจลามถึงขั้นเสียสิทธิ์บางส่วนของเกาะกูด ซ้ำมีหลักฐานกัมพูชาทำผิดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ต้องยกเลิก MOU44

วันนี้(2 พ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อนพดลยืนยันอะไร? มีรายละเอียด ระบุว่า

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 นายนพดล ปัทมะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวเรื่อง MOU44 ว่าเป็นการบิดเบือนว่าไทยจะเสียเกาะกูด

โดยกล่าวว่า ปัญหาเนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน สองประเทศเลือกวิธีเจรจาทางการทูต จึงเป็นที่มาของ MOU44 เพื่อวางกรอบในการเจรจา บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ

นอกจากนั้น เนื้อหาของ MOU44 และการเจรจาจะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา

อีกทั้งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็เคยใช้การเจรจาตามกรอบของ MOU44 มาก่อน
ผมตั้งข้อสังเกตดังนี้

**หนึ่ง การอ้างว่าเนื้อหาของ MOU44 และการเจรจาจะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชานั้น ไม่ถูกต้อง

รูป 1-2 แสดงพื้นที่ Joint Development Area JDA ไทย-มาเลเซีย ซึ่งเส้นกรอบขอบเขตของพื้นที่ boundaries คือเส้นเขตแดนในทะเลที่ประกาศโดยไทย และมาเลเซีย




รูป 3 แผนที่ใน MOU44 ส่วนที่เป็น"พื้นที่พัฒนาร่วม" ใช้คำว่า JDA ไม่มีข้อความใน MOU44 ที่กำหนดให้มีการเจรจาเส้นกรอบขอบเขตของพื้นที่ boundaries มีแต่เพียงกำหนดให้ทำการเจรจาสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ ลงทุน ฯลฯ


MOU44 จึงแสดงอาการยอมรับเส้นกรอบขอบเขตของพื้นที่ boundaries ของ JDA ไทย-กัมพูชาไปเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ ไทยยอมรับเส้นสีแดงของ "พื้นที่พัฒนาร่วม" ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกนั้นไปแล้ว

แต่ถามว่า ในเมื่อเส้นสีแดงด้านทิศตะวันตกของ "พื้นที่พัฒนาร่วม" นั้น เส้นเริ่มต้นจากตำแหน่ง P จะหมายความว่า ไทยไม่ยอมรับตำแหน่ง P ได้อย่างไร?

และในเมื่อตำแหน่ง P เกิดจากการลากเส้นจากตำแหน่ง A ไปยังตำแหน่ง P ผ่านเกาะกูด จะหมายความว่า ไทยได้ปัดเส้น A-P นี้ทิ้งไปแล้ว ได้อย่างไร?

และในเมื่อตำแหน่ง P ที่ไม่ถูกต้อง มีผลทำให้ "พื้นที่พัฒนาร่วม" มีขนาดกว้างใหญ่เกินไป จะบอกว่าไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของไทย ได้อย่างไร?

ในชั้นแรก จะเสียสิทธิ์ทางทะเล ในชั้นที่สอง ก็อาจจะลามไปจนถึงขั้นเสียสิทธิ์บางส่วนของเกาะกูดอีกด้วย

**สอง หลักฐานใหม่ทำให้การเจรจาตามกรอบของ MOU44 ไม่เหมาะสม

ถึงแม้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็เคยใช้การเจรจาตามกรอบของ MOU44 มาก่อน ในขณะนั้น ไม่ได้มีข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะที่ทำให้วิเคราะห์เจาะลึกได้ว่า เส้นสีแดงผ่านเกาะกูดที่กัมพูชาประกาศขัดต่อสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส

ผมเคยพยายามค้นหาข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษใน Google เพื่อจะเอาข้อความใน MOU44 มาวิเคราะห์ แต่หาไม่เจอ น่าแปลกใจ ทำไมกระทรวงต่างประเทศจึงไม่เผยแพร่เอกสารสำคัญเช่นนี้ให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงโดยสะดวก

แต่เมื่อได้อ่าน MOU44 โดยละเอียด ก็พบว่า เส้นสีแดงผ่านเกาะกูดที่กัมพูชาประกาศนั้น ขัดต่อสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสอย่างชัดแจ้ง ไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไป

ผมไม่ทราบว่า รัฐบาลของอดีตนายกทักษิณในปี 2544 จะตระหนักว่าเส้นสีแดงผ่านเกาะกูดที่กัมพูชาประกาศนั้น ขัดต่อสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส หรือไม่

แต่บัดนี้ รัฐบาลของนายกแพทองธาร ตระหนักแล้ว จากที่พรคพลังประชารัฐแถลง ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงควรพิจารณายกเลิก MOU44

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น