xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.พัฒนาการเมืองขอพบนายกฯ ปธ.สภา-ประธานศาล รธน.เร่งคลอด รธน.ใหม่ทันเลือกตั้งครั้งหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พริษฐ์” เผย กมธ.พัฒนาการเมือง ทำหนังสือขอพบ “นายกฯ-ประธานรัฐสภา-ประธานศาล รธน.” หาทางออกมี  รธน.ใหม่ทันใช้เลือกตั้งหน้า

วันนี้ (1 พ.ย.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า เวลานี้เกือบเป็นที่แน่นอนแล้วว่าหากรัฐบาลเดินตามแผนเดิม เราจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ตามนโยบายที่รัฐบาลเคยได้ประกาศไว้ แผนเดิมที่ว่า คือ แผนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา คือ ให้มีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกอบด้วยการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยกำหนดว่าจะไม่มีการจัดประชามติครั้งแรกจนกว่าร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ซึ่ง ครม. ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่เคยสื่อสารว่ามีแผนที่เปลี่ยนแปลงไป

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการพิจารณาร่างร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จนทำให้ประชามติรอบแรกยากที่จะเกิดขึ้นทันช่วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนก.พ. 2568 ซึ่งเป็นแผนเดิมของรัฐบาล ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าหากรัฐบาลยังต้องการบรรลุเป้าหมาย มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันบังคับใช้ก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องคิดแผนใหม่

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ในบรรดาทางเลือกที่เหลืออยู่ ตนเห็นว่า ทางเดียวที่เป็นไปได้ คือ การลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง โดยขั้นตอนแรกของกระบวนการดังกล่าวคือ การให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการมีส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1

ทั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ต่างยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะดังกล่าวเข้ารัฐสภาตั้งแต่ต้นปี 2567 แต่รัฐสภายังไม่มีโอกาสพิจารณาร่างเหล่านั้น เพราะประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุร่างเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ซึ่งยังมีการตีความที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาและภายในสังคม

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า แม้ตนเคยอภิปรายไปแล้วว่าเพราะอะไรตนจึงเห็นว่าการเดินหน้าด้วยกระบวนการทำประชามติ 2 ครั้ง และการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.ร. เข้าสู่รัฐสภา จึงสอดคล้องกับกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ แต่เพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกับทุกฝ่าย

ฉะนั้น ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จึงได้ทำหนังสือขอเข้าพบกับ 3 บุคคลสำคัญ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกและแผนใหม่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งตนหวังจะหารือกับทุกพรรคในรัฐบาล เพื่อให้เห็นตรงกันถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการเดินหน้าด้วยแผนการทำประชามติ 2 ครั้ง รวมถึงร่วมกันหาวิธีการในการหารือกับสมาชิกวุฒิสภาให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน

2. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพราะหวังจะหารือให้ประธานรัฐสภา เห็นว่า การทบทวนหันมาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.ร. ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ซึ่งจะทำให้มีการลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง สอดคล้องกับกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

3. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากโดยส่วนตัวตนหวังจะหารือให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายความความหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากระบวนการ และขั้นตอนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องประกอบด้วยการทำประชามติจำนวนกี่ครั้ง

“ผมหวังว่า ทั้ง 3 ท่านจะยินดีให้ กมธ.พัฒนาการเมือง เข้าพบท่านหรือตัวแทนท่านที่สามารถตัดสินใจหรือให้ความเห็นแทนท่านได้ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนและต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการจับมือกันเดินหน้าไปด้วยกัน” นายพริษฐ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น