ทางออกเป็นประเทศพัฒนาแล้ว! “มาริษ” เชื่อหากไทยเข้า OECD ได้ จะปฏิรูปประเทศได้เร็วขึ้น เหตุต้องสร้างมาตรฐานสากลทุกด้าน เผย TDRI ประเมินผล ศก.โตแน่ 1.6% ปลื้มเลขาฯ OECD มาเยือนเอง ตอกย้ำความพร้อมไปถึงไหน มั่นใจไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ตั้งเป้าเป็นสะพานให้ประเทศ OECD ที่พัฒนาแล้วต้องฟังในสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ บอก 5-10 ได้ร่วมหรือไม่อยู่ที่ทุกฝ่ายร่วมมือ
วันนี้ (31 ต.ค. 2567) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายมาทีอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เดินทางมาเยือนไทย เพื่อหารือเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ว่า เลขาธิการ OECD ได้เดินทางมาด้วยตัวเอง โดยได้หารือกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ตนขอเรียนว่าการการเยือนของเลขาธิการ OECD มีวัตถุประสงค์ 2-3 อย่าง เป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นการเริ่มเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิก OECD ของไทย โอกาสนี้ เลขาธิการ OECD ได้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งเป็นภาคเอกชนด้วย และถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มกระบวนการกับภาคราชการของไทย
“ท่านได้รับทราบว่าความพร้อมของประเทศไทยไปถึงไหน มีข้อจำกัดอย่างไรในการที่จะเข้าร่วมกระบวนการของการเป็นสมาชิก ทำให้ OECD ได้มาเห็น ได้รับทราบ ทุกภาคส่วนของไทยก็ได้รับทราบว่าเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และมีผลดี ผลกระทบอย่างไร” นายมาริษ กล่าว
นายมาริษ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีและตนได้ย้ำว่าเราต้องการเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ซึ่งผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในครั้งนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้มีการคำนวณว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตของเราเติบโตขึ้นถึง 1.6% เนื่องจากเราจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งก้าวข้ามรายได้ปานกลาง เนื่องจากประเทศไทยต้องปฏิรูปทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
“ถามว่าเราปฏิรูปอยู่หรือไม่ เราก็ปฏิรูปอยู่ แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องมีมาตรฐานเป็นตัวชี้วัด ว่าการปฏิรูปของประเทศก้าวไปสู่การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางหรือยัง การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ประเทศไทยมีมาตรฐานที่ชัดเจนและโปร่งใส กฎระเบียบทั้งหลายที่ทำให้เราเข้าเป็นสมาชิกภาคีกับเขา จะทำให้เรายกระดับทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทุกอย่างต้องโปร่งใสหมด” นายมาริษ กล่าว
นายมาริษ ยังกล่าวว่า OECD ก็มองเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ OECD ต้องการให้ประเทศไทยเข้าเป็นประเทศสมาชิก ในอดีตหลายคนพูดถึงกลุ่มประเทศ OECD ว่าเป็น Rich Men Club หรือคลับของคนรวย หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่หลังจากที่ OECD พัฒนาไปเรื่อยๆ ก็ได้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว การที่จะทำให้โลกทั้งใบอยู่ในมาตรฐานสากลเป็นสิ่งสำคัญ จึงขยายกรอบให้ครอบคลุมถึงประเทศกำลังพัฒนา
“ประเทศไทยต้องการมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนให้ประเทศที่กำลังพัฒนามีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดทิศทางของโลก รวมทั้งการที่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น การที่ OECD กำลังขยายไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา สอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย ที่ต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิ์มีเสียง ในการเข้ามาในธุรกิจการค้าอย่างเป็นธรรม และมีความโปร่งใสมากขึ้น” นายมาริษ กล่าว
นายมาริษ ย้ำถึงจุดแข็งของประเทศไทยว่าเราสามารถพูดให้เขาเห็นและทำเอาคุณค่าที่สำคัญ ได้แก่ มาตรฐานของ OECD ไปช่วยโปรโมต เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้เห็นความสำคัญ และเข้ามาร่วมในการทำให้ประเทศมีมาตรฐานสากลมากขึ้น OECD ก็จะได้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนามีคุณค่าในมิติด้านต่างๆ เราจะทำให้ OECD ต้องฟังในสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ ทั้งนี้ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องการเห็นประเทศไทยเข้าไปอยู่ในจอเรดาร์มากขึ้นด้วย
จากนั้น นายมาริษ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่คนละขั้วอำนาจได้ทันที เรามองความร่วมมือในกรอบของการพัฒนา ไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มทางการเมือง เป้าหมายของประเทศไทยคือพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ไม่ได้ให้เกิดการแตกแยก
เมื่อถามว่าในกรอบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สิ่งที่เป็นเงื่อนไขในการเตรียมความพร้อมที่ยากที่สุดคืออะไร นายมาริษ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ได้มีความยากลำบาก เพราะต่อให้ไม่มี OECD ตนคิดว่าประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปสู่การเป็นมืออาชีพ มาตรฐานที่สูงขึ้นอยู่แล้ว เราต้องพัฒนาตัวเรา เพื่อปฏิรูปประเทศให้มีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น แต่การที่เราเป็นสมาชิก OECD สามารถทำให้เราเร่งรัดกระบวนการเหล่านี้
“ผมคิดว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยต้องการที่จะปฏิรูปอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีคนมาช่วยทำให้ปฏิรูปได้เร็วขึ้น สมบูรณ์ เป็นที่ต้องการมีมาตรฐานสากล เพราะฉะนั้น ผมเห็นถึงประโยชน์ที่สำคัญของการเข้าเป็นสมาชิก OECD” นายมาริษ กล่าว
ส่วนเป้าหมายของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเข้าเป็นสมาชิก OECD ภายใน 5 ปีเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน กระทรวงการต่างประเทศสามารถเร่งรัดการเตรียมความพร้อมภายในประเทศไทยอย่างไร นายมาริษ กล่าวว่า ก็ต้องพูดคุยกัน กระทรวงต่างประเทศดูเรื่องนโยบาย ตนก็กำชับทางกระทรวงไปให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การที่เราจะเข้าร่วมได้ 5-10 ปี ก็เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราเข้าไปช่วยเติมเต็มในส่วนที่เขาขาด แน่นอนว่าเราเข้าไปมีส่วนช่วยเพื่อให้เกิดได้เร็วที่สุด แต่ถ้าเกิดช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกหน่วยราชการและทุกภาคส่วน