xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมกร” ชี้จุดตาย MOU 44 ไทยไม่รักษาสิทธิเดิม จนเสียเปรียบ-เสี่ยงเสียดินแดน แฉพิรุธเจรจารวบรัด 44 วันลงนาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หม่อมกร” ชี้จุดพึงระวัง MOU 2544 ไทยเปลี่ยนจุดยืนไม่รักษาสิทธิเขตแดนทางทะเลตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 และหันไปยอมรับเส้นเขตแดนกัมพูชาที่ประกาศไม่มีกฎหมายสากลรองรับ จนเกิดพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตร.กม. ทำใหเไทยเสียเปรียบและเสี่ยงเสียดินแดนซ้ำรอยเขาพระวิหาร ชี้พิรุธเจรจารวบรัดแค่ 44 วันก็ลงนาม ขณะที่เขตทับซ้อนไทย-เวียดนาม ใช้เวลา 6 ปี ไทย-มาเลเซียใช้เวลา 7 ปี เพราะเจรจาอย่างรอบคอบ
วันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คุยกับหม่อมกร” เกี่ยวกับความแตกต่างที่ต้องระวัง ระหว่างพื้นที่ทับซ้อน กรณีไทย-มาเลเซีย กรณีไทย-เวียตนาม และกรณีไทย-กัมพูชา (MOU 2544) โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความแตกต่างที่ต้องระวังอย่างยิ่งของพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (MOU 2544)

1. ไทยและมาเลเซีย เริ่มเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลกันใน ปี 2515 หลังจากทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว ยังมีจุดที่เป็นปัญหาคือเกาะโลซินของไทยทำให้เกิดพื้นที่พิพาท 7,250 ตร.กม. โดยตกลงกันได้ในปี 2522 กินเวลา 7 ปี โดยทางมาเลเซียเห็นว่ามีบ่อน้ำมันกลางพื้นที่ หากแบ่งเส้นกึ่งกลางจะเกิดปัญหาในการพัฒนาปิโตรเลียม จึงเสนอการพัฒนาร่วมกันในปี 2523

2. ไทยและเวียตนาม เริ่มเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลในปี 2535 หลังปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้วมีพื้นที่ทับซ้อนกันกลางอ่าวไทย เนื้อที่ 6,000 ตร.กม โดยกินเวลา 6 ปี ได้ตกลงเลือกวิธีแบ่งเขตทางทะเลเมื่อ 9 ส.ค.2540 เพราะมุ่งหมายแก้ปัญหาการทำประมงและโจรสลัด


3. ไทยและกัมพูชามีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลปี 2513 ก่อนประเทศอื่น โดยไทยยึดมั่นปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ขณะที่การเจรจาดำเนินอยู่กัมพูชากลับชิงประกาศเส้นเขตแดนในปี 2515 ทับเกาะกูดโดยไม่มีกฎหมายสากลรองรับ ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิฝ่ายไทยจึงมีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยฝั่งอ่าวไทย ปี 2516 ทำให้เห็นได้ว่า เส้นที่ฝ่ายกัมพูชาประกาศไปนั้น เป็นการล่วงล้ำพระราชอาณาเขต ทำให้การเจรจายุติลงถึง 20 ปี โดยหน่วยราชการไทยทั้ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกองทัพเรือ ยังคงยึดถือแผนที่แนบท้ายประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปนั้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่และการปกป้องประเทศ


การเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลเริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2535 ถึง 2538 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยไทยยังมีจุดยืนเดิม คือ คู่เจรจาต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 แต่การเจรจาไม่คืบหน้า

เพียงสองเดือนหลังตั้งรัฐบาลใหม่ ในปี 2544 รัฐบาลได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาเจรจาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2544 โดยทั้งสองฝ่ายลงนาม MOU 2544 กันในวันที่ 4 มิ.ย. 2544 รวมเวลา 44 วัน โดยไทยเปลี่ยนท่าทีจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยไม่รักษาสิทธิอันพึงมีของไทยตามกฎหมายสากล ที่จะต้องให้คู่เจรจาปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 เสียก่อน จึงค่อยดำเนินการในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

MOU 2544 มีไทยเพียงฝ่ายเดียวที่ปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 และยังยอมรับเส้นของกัมพูชาขีดทับพระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก จนเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตมากถึง 26,000 ตร.กม. ทั้งที่ หากทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว พื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตขนาดนี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย


การอ้างการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันของรัฐบาลได้บดบังสาระสำคัญที่ไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นฝ่ายถูกเพราะยึดมั่นในกฎหมายสากล กลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะเปิดโอกาสให้กัมพูชานำพื้นที่ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายสากลรับรองเข้ามาเจรจาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย มาเลเซีย และไทย-เวียตนามอย่างชัดเจน

รัฐบาลจึงควรยกเลิก MOU 2544 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เส้นเขตแดนของกัมพูชาได้รวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด เกาะกูดและทะเลเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยเข้าไปด้วย ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและมีโอกาสเสียดินแดน เช่นเดียวกับเขาพระวิหาร คล้ายกับกรณีฝรั่งเศสที่เข้ายึดแผ่นดินของสยามเพื่อเป็นหลักประกันในการเจรจาต่อรอง

สุดท้ายนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ที่ไทยเปลี่ยนจุดยืนนี้ บรรลุข้อตกลงอย่างง่ายดาย และถือเป็นเจรจาที่ทุบสถิติความเร็วโดยใช้เวลาเพียง 44 วัน โดยการเจรจา ไทย-เวียตนาม ใช้เวลา 6 ปี ไทย-มาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิดข้อสงสัยว่า MOU 2544 เป็นไปด้วยความรอบคอบ หรือไม่ ประเทศและปวงชนชายไทยได้ประโยชน์จริง หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น