xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลแตะของร้อน พื้นที่ทับซ้อนเสี่ยงวิกฤต !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร  - ทักษิณ ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

แม้ว่านาทีนี้ การเจรจาเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่าง ไทย-กัมพูชา ในเขตที่ทางฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายลงนามในเอ็มโอยู เมื่อปี 2544 ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นทางการ แต่พอรับรู้ได้จากระดับแกนนำของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ที่ย้ำว่าต้องเดินหน้าเจรจากันอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีเสียงคัดค้านดังขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นของไทย เป็นอธิปไตยของไทย ไม่ใช่เป็นพื้นที่ทับซ้อนตามที่ฝ่ายกัมพูชาอ้าง และยังเห็นว่าฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ “นายใหญ่” ในพรรคเพื่อไทย มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจด้านพลังงาน ที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในบริเวณนั้นจำนวนมหาศาล

ก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุถึงฝ่ายที่คัดค้านในเรื่องดังกล่าว โดยย้ำว่า ไม่มีเรื่องเสียดินแดน รวมไปถึงเกาะกูดด้วย พร้อมกับเตือนว่าอย่าสร้างกระแสคลั่งชาติ ให้กระทบความสัมพันธ์

นายภูมิธรรม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า MOU 2544 เราทำได้ดีแล้ว คนที่ทำเรื่องนี้ได้ดีก็คือนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งในสมัยนั้น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า เกาะกูด เป็นของไทยมาโดยตลอด และไม่เคยมีปัญหาว่ากัมพูชาอยากจะเอา แบ่งเขตแดนและการพูดคุยเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนในเรื่องเก่า

นายภูมิธรรม กล่าวว่าขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขตแดน แต่ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะทุกประเทศมีหลักการที่ใช้คือ วัดจากไหล่ทวีปมา 200 ไมล์ทะเล และอ่าวไทยแคบ เมื่อมีการประกาศ 200 ไมล์ทะเล เราก็ 200 ไมล์ทะเลตาม ทำให้ต่างฝ่ายมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ซึ่งในโลกนี้มีหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ก็ใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อตกลงผลประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายถึงเรื่องดินแดน

รมว.กลาโหม กล่าวว่า เรื่องดินแดนของเราในเรื่องเกาะกูด ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศส ว่าเกาะกูดเป็นของไทย ตรงนี้ไม่ต้องห่วงว่าจะเสียเกาะกูด หรือไม่ ขออย่าหลงประเด็น สิ่งสำคัญคือ ข้างล่างใต้ทะเลที่มีประโยชน์ น้ำมันใช้ได้ ซึ่งอีก 10 ปีจะลดความสำคัญลง และตรงนี้กว่าจะตกลงกันได้ หากเอาผลประโยชน์ขึ้นมา ก็ปาไป 5 ปี ซึ่งหากไม่ทำอะไรภายใน 10 ปี ก็ไม่มีความหมาย เพราะปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่น่าเสียดาย ที่ประเทศชาติจะต้องสูญเสียทรัพยากรตรงนี้ไป

“การที่รัฐบาลจะนำเรื่องนี้มาพูดคุย ซึ่งเข้าใจว่า ผมน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะสมัยก่อนเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายยความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ต้องเจรจากัน แต่ที่สำคัญ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน อย่าขยายเป็นเรื่องการยึดดินแดน เสียดินแดน ชาติขึ้นมา เพราะเป็นการปลุกความคลั่งชาติขึ้นมา ทำร้ายผลประโยชน์ที่ประเทศควรจะได้รับ” รมว.กลาโหม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลและหลักฐานที่ชี้ชัด ว่ากัมพูชาก็อ้างสิทธิ์ในเกาะกูด ทั้งการขีดเส้น ขีดแดนขึ้นเอง และการสร้างสะพานลงในอ่าวไทย โดยยึดเขตแดนดังกล่าว นายภูมิธรรม บอกว่าเรื่องนี้ก็คงต้องคุยกัน เพราะต่างฝ่ายต่างพูด ก็จะไม่มีข้อสรุป ซึ่งปัจจุบันนี้เรื่องเส้นแดน หรือเขตแดนที่ทุกประเทศมีปัญหา มีความสำเร็จน้อยมากที่จะพูดคุยกัน มีหลายประเทศที่พูดคุยกันแต่ก็หาข้อสรุปไม่ได้ใช้เวลา 20-30 ปี แต่เขามีกระบวนการที่จะหาประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้ทรัพยากรตรงนั้นอำนวยประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีหลายเคสที่ประสบความสำเร็จ

"อยากให้ลดอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับความคลั่งชาติ และต้องทำความเข้าใจประเด็นขายชาติ ขายดินแดน มันไม่มี สิ่งที่แตกต่างกันก็ยังยืนยันอยู่ แต่ก็ไม่มีการล่วงล้ำอะไร สิ่งที่จะดูก็คือ จะแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไร กับผลประโยชน์ที่ทั้งสองชาติ สามารถที่จะอ้างอิงได้ ถ้าท่านเข้าใจว่าจาก 2 ไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล ตามที่โลกยอมรับทับกันแน่นอนอยู่แล้ว และเขายึดแผนที่ฝรั่งเศสด้วย ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาอยู่สิ่งที่เกิดขึ้นในการประกาศขึ้นมา ก็เกิดขึ้นได้อยู่แล้วเหมือนกับประเทศอื่นๆ ก็ต้องมีการเจรจา

ปัญหาเรื่องเขตแดนทางทะเลดังกล่าว เป็นเรื่องที่สร้างความระแวงให้กับคนไทยจำนวนมาก หลังจากที่ไทยลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ เอ็มโอยู กับกัมพูชา ที่เรียกว่า “เอ็มโอยู 44” ที่มองว่าทำให้เสียดินแดน เสียอธิปไตย โดยเฉพาะจะต้องเสียเกาะกูด ไปโดยปริยาย จนมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกทันที

ความระแวงและความไม่พอใจเริ่มมากขึ้น หลังจากที่ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถือว่าเป็น “นายใหญ่” ของพรรคเพื่อไทย และอยู่เบื้องหลังรัฐบาล และเคยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเจรจาและยอมลงนามในเอ็มโอยูดังกล่าว และเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่เขาพ้นจากการพักโทษกลับมาบ้านจันทร์ส่องหล้า ไม่ทันข้ามคืนก็มี นายฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีอิทธิพลสูงสุดในประเทศนั้น ได้เข้าพบกับนายทักษิณ และตามมาด้วยการเชิญน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปเยือนกัมพูชา พร้อมกับมีการเร่งรัดให้มีการเจรจาพื้นที่ ที่อ้างว่าพื้นที่ซับซ้อน โดยอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องสำรวจแหล่งพลังงาน ที่เชื่อว่ามีอยู่มหาศาล

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ถือว่าเป็นหนึ่งใน “ของร้อน” ที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ เพราะกำลังสร้างกระแสความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำนอง “ขายชาติ” และยิ่งมองเห็นว่า ครอบครัว นายทักษิณ ชินวัตร มีความใกล้ชิดกับ ครอบครัวของ นายฮุนเซน ยิ่งทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ และยังมองเห็นว่าการเร่งรัดเรื่องดังกล่าว ก็มาจากคำพูดของนายทักษิณ ที่เคยเปิดเผยถึงวาระเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการ และการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งกำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันหากพิจารณากันแล้ว ถือว่าเวลานี้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย กำลังเจอกับกระแสต่อต้านเพิ่มขึ้นทุกวัน อีกทั้งแต่ละเรื่อง ล้วนเป็นเรื่องอ่อนไหว มีความเสี่ยงแทบทั้งสิ้น นอกเหนือจากนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่ผลออกมาแบบไม่ตรงปก เรื่องค่าแรง เงินเดือนปริญญาตรี ผลงานแก้ปัญหาปากท้องที่ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

ล่าสุดกำลังเร่งผลักดันนโยบาย แหล่งบันเทิงครบวงจร หรือ “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ที่แฝงมาด้วย “บ่อนการพนัน” ทั่วประเทศ กำลังเป็นกระแสต่อต้านอยู่เช่นเดียวกัน

ดังนั้นเมื่อมีกรณี พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา เสี่ยงต่อการสูญเสียผลประโยชน์ทางด้านทรัพยากร และเกาะกูด ไปอีก มันก็ยิ่งเพิ่มความระแวง ความไม่พอใจสูงขึ้นไปอีก จนน่าจะกลายเป็นความเสี่ยงให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของฝ่ายคัดค้าน ที่เริ่มรวมพลังต่อต้านกันแล้ว หากรัฐบาลยังเดินหน้า ก็น่าจะจบไม่สวยอีกครั้ง !!



กำลังโหลดความคิดเห็น