สตง. กังวล "นโยบายบริหารจัดการขยะ" มรดก 8 ปีจากยุครัฐบาลลุง หลังสอบย้อนหลัง 5 ปี ผ่านแผนแม่บทฯ-แผนปฏิบัติการฯ ส่อกระทบ "จังหวัดสะอาด" ที่หวังยกระดับการกำจัดขยะ ผ่าน "กลุ่มคลัสเตอร์" ของ อปท.ทั้งประเทศ 247 กลุ่ม เฉพาะแผนเพิ่มสถานที่กำจัดขยะ หวังยกระดับ "โรงงานจัดการขยะ+โรงไฟฟ้าขยะชุมชน" ผ่าน อปท. 7,964 แห่ง เฉพาะ "โรงไฟฟ้าขยะชุมชน" ล่าช้าปัญหาพรึ๊บ! เผยปี67 พบ อปท. ยังไม่ร่วมกลุ่มคลัสเตอร์ 1,099 แห่ง เหตุเปลี่ยนเจ้าภาพบ่อย หน่วยงานกำกับมีข้อจำกัด แถมพบข้อเสนอ "ปิดบ่อขยะ" มีถึง 241 แห่ง
วันนี้ (30 ต.ค.2567) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบ นโยบายของกระทรวงมหาดไทย ย้อนหลัง 5 ปี 2562-66 ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผ่านแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565–2570) (แผนปฏิบัติการฯ) เป็นแผนต่อเนื่องจากแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) (แผนแม่บทฯ) หลังจากแผนแม่บทฯ ดังกล่าวได้สิ้นสุดลง และดำเนินการมามากกว่า 8 ปี
มท. ขณะนั้น หวังยกระดับการกำจัดขยะให้ครอบคลุมพื้นที่ ปรับปรุง ฟื้นฟูระบบ เก็บรวบรวม และสถานที่หรือโรงงานกำจัดขยะ ผ่าน "กลุ่มคลัสเตอร์" (ขยะมูลฝอยชุมชน) ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งประเทศ รวม 237 กลุ่ม
(โดยข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2567 มีกลุ่มคลัสเตอร์ขนาดเล็ก (S) 188 กลุ่ม กลุ่มพื้นที่ขนาดกลาง (M) 38 กลุ่ม และกลุ่มพื้นที่ ขนาดใหญ่ (L) 21กลุ่ม รวม 247 กลุ่มคลัสเตอร์
ประเด็นแรก สตง. พบว่า การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ของ อปท. มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุม ตามบัญชีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย และยังไม่สามารถบริหาร จัดการร่วมกันได้ตามแนวทางที่กำหนดไว้ หลายจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลง อปท. เจ้าภาพ และสมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (กลุ่มคลัสเตอร์) ของ อปท. ตามบัญชีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย ที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผน ในการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มคลัสเตอร์โดยเรียงลำดับความสำคัญที่กำหนดไว้ในแต่ละปีเพื่อให้ครอบคลุม
จากการสุ่มตรวจ 10 จังหวัด พบมีเพียง 3 จังหวัดที่สามารถดำเนินการจัดตั้งกลุ่มคลัสเตอร์ได้ตามบัญชีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอยที่กำหนดไว้และจังหวัด
"ส่วนใหญ่ไม่มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มตามแผนดังกล่าว โดยมีการจัดตั้งในคราวเดียวกันคือช่วงปี พ.ศ. 2561 ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้มีแนวทางให้ อปท. ทุกแห่งถือปฏิบัติการรวมกลุ่มคลัสเตอร์"
พบว่า จาก คลัสเตอร์ 23 แห่ง หลายแห่งมีการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงเพิ่ม/ลดจำนวนสมาชิกภายในคลัสเตอร์หลายครั้ง ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่แน่นอน ของสถานภาพความเป็นเจ้าภาพกลุ่มคลัสเตอร์
และข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบกำจัดขยะมูลฝอย ชุมชน รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายแปรรูปขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) จึงทำให้ ยังมีการปรับเปลี่ยน อปท. เจ้าภาพ และสมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่อง
"ปัญหามาจาก อปท. หลายแห่งไม่มีความพร้อมและศักยภาพในการเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์ ใน 76 จังหวัด พบว่า ณ ปี พ.ศ. 2567 มีข้อมูล อปท. จำนวน 7,964 แห่ง ในจำนวนนี้เข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์ 6,865 แห่ง และไม่เข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์ 1,099 แห่ง "
พบว่า ตามแผนจัดการขยะปลายทางในการขนขยะ ไปยังสถานที่กำจัดขยะของ อปท. เจ้าภาพกลุ่มคลัสเตอร์ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด สามารถดำเนินการได้เพียงร้อยละ 56.34 เนื่องจากกว่า 10 จังหวัด ขณะนั้น ยังไม่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการจังหวัด (Action Plan)
ทำให้การแปลงแผนปฏิบัติการฯ เป็นแผน "จังหวัดสะอาด" ไม่ครอบคลุมทุกเป้าหมายและกิจกรรมที่กำหนดไว้
และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ของ อปท. ทั่วประเทศ มีข้อจำกัดในการส่งเสริมและขับเคลื่อน เนื่องจากมีปริมาณงาน/กิจกรรมที่ต้องดำเนินการจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับอัตรากำลังที่มี
ประเด็นที่่สอง สตง. ยังกังวล ประเด็นการ "ยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย" เฉพาะปี 2560 - 65 ซึ่งพบว่า ไม่ถูกหลักวิชาการ 1,963 แห่ง ร้อยละ 94.65
เนื่องจากข้อมูล "สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย" ที่เปิดตั้งแต่ปี 2562 – 66 ในระบบสารสนเทศ ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย อปท.
"ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสม ควรปิดสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย และจัดระบบขนส่งขยะมูลฝอยไปยังกลุ่มคลัสเตอร์ ของจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่มีศักยภาพเพียงพอในการรองรับปริมาณขยะมูลฝอย เห็นควรให้ปิดดำเนินการเป็นจำนวนมากถึง 241 แห่ง เช่นในกรณีที่ถูกประชาชนร้องเรียน หรือเกิดเหตุอุทกภัย"
สตง. สรุปว่า สาเหตุมาจาก สถ. ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางไม่สามารถเร่งรัดการดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอย ตกค้างทั่วประเทศให้หมดไป รวมทั้งไม่สามารถกำกับดูแลจังหวัดและ อปท. ให้ดำเนินการปิด หรือปรับปรุงฟื้นฟูสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเดิมให้ถูกต้องได้ เป็นต้น
ประเด็นสุดท้าย สตง. ตรวจสอบ กรณีที่ อปท.มอบหมายให้เอกชนดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการกำจัดมูลฝอยใน "รูปแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชน" ซึ่งส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายกำหนด
เฉพาะ "ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ" 86 โครงการ กำลังการผลิตรวม 837.38 MW ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 698.78 MW หรือคิดเป็นร้อยละ 77.64 ของปริมาณรับซื้อไฟฟ้า ตามแผน AEDP 2015 และ AEDP 2018 แบ่งการดำเนินงาน ออกเป็น 3 ระยะ
1. โรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Project) ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยโครงการ Quick Win Project จำนวน 11 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 84.04 MW และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 68.90 MW ภายใต้แผน AEDP 2015
กำหนดให้มีการจ่ายไฟฟ้า เข้าระบบ (SCOD : Scheduled Commercial Operation Date) ภายในปี พ.ศ. 2564 กำลังการผลิตรวม 84.04 MW และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 68.90 MW
ความคืบหน้าในการดำเนินงาน พบว่า สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) แล้ว 6 โครงการ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 โครงการ
และถูกยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากหน่วยงานบริการจำหน่ายไฟฟ้า แก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคเนื่องจากเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และบริษัทเอกชนคู่สัญญาอยู่ระหว่างขอขยาย SCOD จำนวน 4 โครงการ
2. โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีโควตาการรับซื้อไฟฟ้า จากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานแล้ว 34 โครงการ (โครงการ รับซื้อเพิ่มเติม)
มีความเสี่ยงที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้โดยโครงการรับซื้อ เพิ่มเติม 34 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 331.15 MW และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 279.98 MW ภายใต้แผน AEDP 2018 กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี พ.ศ. 2568 – 2569
ความคืบหน้าในการดำเนินงาน พบว่า ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 15 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 169.05 MW และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้า รวม 142.17 MW ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า แล้ว
แต่ยังไม่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 14 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 114.30 MW และมี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 96.91 MW ยังไม่ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 37.90 MW และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 31.00 MW
และยกเลิกคำเสนอขายไฟฟ้า จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 9.90 MW และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 9.90 MW
3. โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการ ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพิ่มเติม 41 โครงการ ยังไม่มีความชัดเจนของแผนยื่นคำ เสนอขอขายไฟฟ้า และจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD)
โดยพบว่า มีกำลังการผลิต ติดตั้งรวม 422.19 MW และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 349.90 MW ซึ่งมีศักยภาพในการกำจัด ขยะมูลฝอยชุมชน 18,374 ตันต่อวัน ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินโครงการ และการกำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD)
เนื่องจากยังไม่มีโควตาการรับซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน โดยมีสถานภาพความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ ดังนี้
1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความเห็นชอบโครงการแล้วจำนวน 20 โครงการ กำลังการ ผลิตติดตั้งรวม 212.10 MW มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 172.00 MW
2) อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการกำจัดขยะมูลฝอยของ อปท.
มอบหมายให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมกำจัดขยะมูลฝอย 21 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 210.09 MW และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 177.90 MW
สตง. ได้ข้อมูลว่า โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Project) ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ
"ยังไม่สามารถยกระดับการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในรูปแบบการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ให้เกิดผลสำเร็จได้"
จากการสุ่มตรวจสอบโครงการ Quick Win Project จำนวน 3 โครงการ ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ยังไม่สามารถยกระดับการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในรูปแบบการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ให้เกิดผลสำเร็จได้
โดยพบว่าทั้ง 3 โครงการยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากบางแห่งสามารถรวมปริมาณขยะไปกำจัดที่โรงไฟฟ้าได้เพียง 50 ตันต่อวันซึ่งสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพียง 1 MW หรือคิดเป็นร้อยละ 13.16 ของศักยภาพโรงไฟฟ้า
และบางแห่งเกิดความล่าช้าในการก่อสร้างเนื่องจากบริษัทเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ภายในระยะเวลาที่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานกำหนด
"จึงทำให้หน่วยงานบริการจำหน่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้บางแห่งมีสภาพปัญหา "ปริมาณขยะที่ส่งเข้ามากำจัดยังศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย" เกินกว่าศักยภาพที่สามารถรองรับได้ ทำให้ขยะมูลฝอยชุมชนบางส่วนไม่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ"
ทำให้ การส่งเสริมให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมดำเนินการกำจัดมูลฝอยในรูปแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชน มีความล่าช้าและยังไม่เป็นตามแผนเป้าหมายที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มความสำเร็จ ในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนจัดการขยะมูลฝอยในรูปแบบพลังงาน (Waste to Energy)
โดย อปท. ยังไม่สามารถยกระดับสถานที่กำจัดขยะและจัดการขยะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และจัดการขยะปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับจัดสรรโควตาไฟฟ้าเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานในอนาคต
ส่งผลให้กลุ่มคลัสเตอร์ไม่ต่ำกว่า 41 แห่ง ใน ระยะที่ 3 ต้องมีการทบทวนแผนและแนวทางในการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน
และเป็นผลให้การยกระดับสถานที่กำจัดขยะไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ระบุ ไว้ในแผนปฏิบัติการ โดยมีสาเหตุเกิดจากขาดกรอบนโยบายการปฏิบัติที่ชัดเจนในขั้นตอนที่สำคัญ
รวมถึงขาดแผนงานในการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผน AEDP 2015 และ 2018
โดยยังขาดการกำหนดลำดับความสำคัญ (Priority) เพื่อส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนจัดการขยะมูลฝอย และยังไม่มีแนวทางการพิจารณาทางเลือกในการยกระดับการจัดการขยะมูลฝอยให้แต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ร่วมกัน
รวมทั้งขาดการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน กระบวนการเพื่อการส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนจัดการขยะมูลฝอยแก่ อปท. และขาดกลไกในการ ควบคุม กำกับ และติดตามการดำเนินงานตามโครงการ.