xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษ112ไม่ถึงฝัน ลอยแพ“พรรคส้ม”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร - ภูมิธรรม เวชยชัย
เมืองไทย 360 องศา

พลันที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถือว่าเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” รวมถึงระดับ “แกนหลัก” ในพรรคเพื่อไทย ออกมาย้ำว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 อย่างเด็ดขาด ทำให้ถูกมองว่า พรรคเพื่อไทยได้กระโดดชิ่งหนีพรรคประชาชนอย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะในกรณีดังกล่าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้สร้างความเคลือบแคลงจากสังคมมาพักใหญ่

หรือก่อนหน้านั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ยืนยันหนักแน่นเช่นเดียวกันจะไม่แตะมาตรา 112 รวมไปถึงหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะยกเว้นใน หมวดที่ 1 และ 2

สอดคล้องกับ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานสส. พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานวิปรัฐบาล แนวทางในการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายเกี่ยวนิรโทษกรรม และการทำประชามติว่า ในส่วนของการทำประชามติ เราได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของทั้งสองสภาแล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด เกี่ยวกับการประชุมก็ปล่อยให้กรรมาธิการได้ทำงานกัน ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับนิรโทษกรรม ซึ่งมี 4 ร่าง ในขณะนี้ ตนเห็นว่ามีสองแนวทางคือ รัฐบาลอาจจะเห็นด้วยกับร่างของพรรคไหน หรือไม่เห็นด้วยเลย ตรงนี้เราก็ไม่ทราบ แต่ในส่วนของสส.พรรค พท.นั้น ต้องมีการหารือกันในพรรคก่อน

“ฉะนั้น ไม่ว่าจะนิรโทษกรรมแบบไหน แต่ย้ำว่า เราจะไม่นิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับ มาตรา 112 โดยเด็ดขาด ขอให้ความมั่นใจกับประชาชน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วยกับการแก้ไขร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ที่จะแก้ไขมาตรา 112 ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่า เราจะนิรโทษกรรมให้นั้นก็ไม่มีข้อเท็จจริง แต่หากเป็นคดีธรรมดา คดีการเมือง ที่เกิดขึ้นมาหลาย 10 ปี จากความขัดแย้ง จะอยู่ในข่ายที่เราพิจารณา อย่างไรก็ตาม ต้องมีการหารือกับสส.ในพรรค รวมถึงต้องปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และจะแก้ไขอย่างไรบ้าง” นายวิสุทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม จะไม่เป็นชนวน นำไปสู่รอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ต้องปรึกษาหารือกัน เพราะพรรคร่วมก็มีการเสนอร่าง แต่ยืนยันว่าไม่มีอะไรต้องหนักใจ เพียงแค่เราต้องมีการปรึกษาหารือกันให้ตกผลึกก่อน

เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่นอยู่เหมือนเดิม ใช่หรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เหนียวแน่นปึ้กอยู่ หลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย การเห็นด้วยหรือเห็นต่าง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีการกำชับเรื่องอะไรหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่ค่อยมาฝากฝังเรื่องอะไร มีแต่คำถามด้วยความเป็นห่วงว่า ช่วงนี้มีอะไรหรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบไปว่าไม่มีปัญหาอะไร

ขณะที่ปฏิกิริยาจากพรรคประชาชน ที่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรม ครอบคลุมไปถึงความผิดตาม มาตรา 112 อย่างเต็มที่ ก็ได้ดาหน้าออกมาวิจารณ์ท่าทีของพรรคเพื่อไทย และฝ่ายรัฐบาลอย่างรุนแรง แสดงอาการผิดหวังอย่างแรง และยังอ้างว่า เป็นการปิดโอกาสในการสร้างความปรองดองในชาติกันเลยทีเดียว

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยสัญญาว่าจะคลี่คลายปัญหาของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง จึงไม่ควรมองว่านิรโทษกรรมคดีใดบ้าง แต่ควรมองหลักการว่าหากเราต้องการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะโดนด้วยข้อหาอะไร ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การดำเนินคดีการเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องยอมรับว่า บางครั้งก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง หรือเพราะสถานการณ์ที่บีบคั้นทำให้ผู้ชุมนุมพูดเกินเลยไป จึงต้องดูเจตนา แต่คำถามที่ต้องคิดคือ ประเทศเราได้อะไรจากการดำเนินคดีด้วย มาตรา 112 ส่วนตัวมองว่าการนิรโทษกรรมสามารถทำได้ และรัฐบาลนี้ก็ถูกคาดหวังว่า ครั้งหนึ่งรัฐบาลเองก็ถูกจดจำในประวัติศาสตร์ว่าอยู่เคียงข้างประชาชน ต่อสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย ต่อสู้กับชนชั้นนำ หรือผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ในสังคม ทำไมวันนี้เปลี่ยนไปขนาดนั้น

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า แม้กระทั่งนายภูมิธรรมเอง ตนเองทราบดีว่า คนเดือนตุลาฯ ก็มีอุดมการณ์ที่หลากหลาย สิ่งที่เคยต่อสู้ในวันนั้นอาจจบลงไปแล้ว แต่คุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ การชุมนุมปี 2563 การต่อสู้ของภาคประชาชน ไม่เห็นตัวเองในนั้นบ้างเลยหรือ อะไรทำให้การตัดสินใจของท่านในการคลี่คลายความขัดแย้ง ทั้งที่ตัวเองมีโอกาสแล้ว

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หากจะตั้งเงื่อนไข ก็ตั้งกันว่าอะไรคือความเหมาะสม และการนิรโทษกรรมก็ไม่ใช่การยกเลิกกฎหมาย ไม่ใช่การแก้ไข มาตรา 112 และกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยออกมา ก็ไม่ได้รวมไปถึงการนิรโทษกรรม ดังนั้น รัฐบาลสามารถทำได้ และคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมวันนี้

แน่นอนว่านี่คืออาการไม่ต่างกับการ “คลุ้มคลั่ง” ตีอก ชกหัว เพราะผิดหวังอย่างแรง อารมณ์เหมือนกับการถูกลอยแพ ไม่ใยดี หลังจากก่อนหน้านี้ ยังเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะให้การสนับสนุนหรือร่วมมือกันในการผ่าน ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่พวกเขาเสนอกันเข้ามา หรือแม้แต่รายงานการศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ผลักดันโดยพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีการพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ในสามแนวทาง

แต่กลายเป็นว่า เมื่อถึงคราวลงมติว่าจะรับรายงานดังกล่าวหรือไม่ ผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของพรรคเพื่อไทย ลงมติกลับลำไม่เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย เป็นประธานหน้าตาเฉย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากพิจารณาจากท่าทีจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ รวมไปถึงกระแสสังคมไม่เอาด้วย

ขณะที่มีเพียงพรรคประชาชนเท่านั้น ที่ยังเดินหน้า “ทะลุเพดาน” หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องการแก้ไข มาตรา 112 และมีความเดือดร้อนมากที่สุด กับการมีการบังคับใช้ทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังอ้างว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดี ถูกจำคุก ล้วนถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือโดยสถานการณ์บีบคั้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสวนทางกับความรู้สึกของสังคมส่วนใหญ่ ที่มองเห็นว่าเป็นเจตนาทำผิด เพราะหลายคนล้วนมีการกระทำผิดซ้ำๆ ในเรื่องเดียวกัน ประเด็นเดียวกันต่างกรรม ต่างวาระ บางคนถูกดำเนินคดีนับสิบคดี โดยที่ยังไม่เห็นจำเลย หรือผู้ต้องขังรายใดแสดงอาการสำนึกผิด

ขณะเดียวกัน สำหรับพรรคประชาชน กลับมี ส.ส. และแกนนำพรรค รวมไปถึงคนที่ถูกเข้าใจว่าเป็นเจ้าของพรรคก็ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 หลายคน ทำให้สังคมมองออกว่า พวกเขามีเจตนายกเว้นความผิดให้กับคนพวกนี้ รวมไปถึงบรรดาแนวร่วมจากการชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายดังกล่าว

ดังนั้นเมื่อพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว และเมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทยที่ยืนยันหนักแน่นแล้วว่า “ไม่แตะมาตรา 112” เหมือนกับว่า “ลอยแพ” พรรคประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลทางการเมืองตามมาด้วย มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล หลังจากพรรคร่วมอื่นๆยืนยันท่าทีไม่เอาด้วย !!



กำลังโหลดความคิดเห็น