“สนั่น” เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “คูณสอง” และ “Easy e-Receipt” เผย จีนพร้อมร่วมไทยปราบสินค้าผิดกฎหมาย-ไร้คุณภาพ ฝากปรับปรุงกฎหมายให้เข้มขึ้น ด้านประธานสภาอุตฯ เสนอเร่ง 4 GO เพิ่มขีดความสามารถ SME-แก้กฎหมาย ฟื้นเศรษฐกิจ จับมือเพื่อนบ้านบริหารจัดการน้ำ
วันนี้ (28 ต.ค.) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี รับปากว่า จะมีการตั้ง กรอ.ระหว่างรัฐบาลและเอกชน โดยอาจจะมีการประชุมทางการกัน 6 เดือนประชุมครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ นายสนั่น ได้นำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเรื่องโครงการคูณสองหรือคนละครึ่ง และโครงการ Easy e-Receipt หรือโครงการลดหย่อนภาษีประจำปี 2567 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องและจะไปพิจารณาร่วมกัน และเชื่อว่า หากรัฐบาลสามารถออกโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 2 ได้ในช่วงต้นปี 68 จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และประชาชนต้องการเม็ดเงินนำไปใช้จ่ายได้
นายสนั่น กล่าวถึงการค้าขายกับต่างประเทศที่ค่อนข้างสำคัญโดยเฉพาะประเทศจีน ว่า สภาหอการค้าไทยมีกลไกในการประสานงานและเชิญชวนหอการค้าไทย-จีน และสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้ประกอบการรายใหญ่ของจีนที่มาลงทุนในไทยกว่า 300 บริษัท ซึ่งเป็นวิสาหกิจได้ตั้งกลไกและมีการพูดคุยกัน ว่า ในประเทศไทยเป็นประเทศที่จีนให้ความสำคัญที่จะมาลงทุน ฉะนั้น หากไทยมีกฎหมายที่บังคับใช้เรื่องการปราบปรามกับบริษัทหรือบุคคลที่ไม่สุจริตและสินค้ามาตรฐานคุณภาพที่ไม่ดี หรือแม้แต่ อี-คอมเมิร์ซ ที่ไม่ผ่านระบบธนาคาร เป็นต้น รัฐบาลจีนพร้อมที่จะให้การสนับสนุนช่วยในการปราบปราม เช่น เรื่องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่วนเรื่องราคาสินค้าที่ผิดกฎหมาย จีนอยากให้ไทยปราบปรามเต็มที่ โดยจีนต้องการให้ความร่วมมืออย่างเป็นมิตรและมาด้วยความสุจริตใจ เชื่อว่า ปัญหาต่างๆ จะสามารถแก้ไขได้
ขณะเดียวกัน เรื่องซัปพลายเชน (ห่วงโซ่อุปทาน) ที่จะตามมากับผู้ประกอบการใหญ่ๆ เช่น รถยนต์อีวี อยากให้ผู้ประกอบการจีนพูดกับซัปพลายเชน ว่า ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันสามารถนำเทคโนโลยีมาให้ไทยได้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ กล่าวว่า ได้มีการนำเสนอขีดความสามารถและการแก้ไขปัญหา SME ซึ่งขณะนี้ SME ถือเป็นภาคที่มีความเปราะบางและอ่อนแอ จึงมีการนำเสนอนายกรัฐมนตรีใน 2 ประเด็น คือ 1. การเข้าถึงแหล่งเงิน เพราะ SME ยังเข้าไม่ได้อย่างเต็มที่ ยิ่งช่วงที่ผ่านมามีความระมัดระวัง SME ได้รับผลกระทบหนักมาก และภาระทางด้านต้นทุนต่างๆ ของ SME แตกต่างกัน ดังนั้น จำเป็นต้องลดภาระในด้านนี้ 2 เรื่องกฎหมายและกติกาต่างๆ ซึ่งพบว่ากฎหมายและกติกาที่มากมาย เป็นต้นทุนแฝง ถึงร้อยละ 30-50 ไม่เหมือนกัน ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทใหญ่ๆ จะอยู่ที่เปอร์เซ็นต์น้อยมาก ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนในการช่วยเหลือ SME ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมมีมาตรการเปลี่ยนผ่าน SME ให้แข่งขันได้ เรียกว่า 4 Go คือ 1. Go Digita โดยการนำดิจิทัล และเอไอ เข้ามาทำให้ SME เข้าถึงในการเป็นดิจิทัล เปลี่ยนผ่านให้ได้ ซึ่งมีนโยบายชัดเจนที่ SME เข้าถึงได้จริง ด้วยโครงการดิจิทัลวัน โดยจะจัดจำหน่ายให้ถูกมากกับให้กับ SME ทั่วประเทศในราคา 1,110 บาท จากที่ต้องซื้อในระดับแสนบาท 2. Go Innovation โดย SME ต้องจิ๋วแต่แจ๋วซึ่งมีต้นแบบ จาก SME หลายประเทศที่อยู่ได้ ดังนั้น ต้องทำ SME ให้มีนวัตกรรมให้ได้ 3. Go Global เน้น SME ส่งออกใหม่ๆ ขายทั่วโลก ด้วยแพลตฟอร์มหรือกลไกต่างๆ หากเป็น SME จะต้องเข้าใจมาตรฐานใหม่และอุตสาหกรรมใหม่ ไปอยู่ในห่วงโซ่ หรือซัปพลายเชนให้ได้ เช่น รถอีวี เป็นต้น และท้ายที่สุดท้าย 4. GO Green โดย SME จะต้องเข้าใจและรักสิ่งแวดล้อมเข้าไปสู่อุตสาหกรรมลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลกได้ โดยทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นเรื่องที่สภาอุตฯผลักดันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอของการบริหารจัดการน้ำ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีน้ำมากและน้ำแล้งสลับกัน ดังนั้น ต้องเอาสิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของประเทศให้ได้ในการจัดการบริหารน้ำทั้งระบบ ส่วนภาคการเกษตรนี้จะเป็นดาวรุ่งในอนาคต เพราะทั่วโลกต้องการอาหารสงครามทุกประเทศ ยังขาดแคลนอาหารจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารมูลค่าสูง ดังนั้น น้ำจึงมีส่วนสำคัญ และมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม เพราะมีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมหาศาล เช่น อีอีซี และหลายๆ แห่ง ดังนั้น ต้องแก้ไขและบูรณาการบริหารจัดการน้ำท่วมจะทำอย่างไร โดยปีหน้า น้ำที่มาจากเพื่อนบ้านจะต้องมีระบบการเตือนภัย โดยจับมือกับเพื่อนบ้านติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยและดูลุ่มน้ำทุกรุ่นในประเทศบูรณาการให้เป็นข้อมูลเดียวกันสิ่งเหล่านี้ได้นำเสนอก็ได้มีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี