“ณัฐวุฒิ” สแกนม็อบ เชื่อไม่มีชุมนุมใหญ่ทางการเมือง ชี้ มีแต่ม็อบปากท้อง รับนิรโทษยังเห็นต่าง จับตาปิดสมัยประชุมสภา พรรคคุยหาข้อสรุป มั่นใจ รบ.ไม่สร้างเงื่อนไขขัดแย้งเพิ่ม เน้นแก้ ศก. เชื่อ 3 ปี ที่เหลือเรื่องที่ว่ายากอาจคลี่คลายง่ายขึ้น หลังนโยบาย-แก้ไขปัญหาต่างๆ ปรากฏชัด เมิน “เหวง” เตือนสิ่งที่พูดจะทำลายตัวเอง ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
วันนี้ (28 ต.ค.) เวลา 13.00 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล และสัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า จริงๆ แล้วไม่ได้มีประเด็นอะไรจะแถลง ที่จริงแล้วได้มีโอกาสเข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล หลายครั้งก่อนหน้านี้ ขณะที่สื่อมวลชนได้โทร.หาตามตัว จึงได้มาเยี่ยมเยียน มอบตัวในวันนี้ โดยไม่ได้มีวาระหรือจะแถลงอะไรเป็นพิเศษ เป็นการมาพบเจอและทักทายกัน
เมื่อถามว่า ได้พบเจอกับนายกรัฐมนตรีแล้วหรือยัง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่ได้พบ
เมื่อถามว่า มีการพูดคุยหรือมอบหมายให้มาดูประเด็นอะไรหรือไม่ ได้เรียนไว้ตั้งแต่ตอนต้นที่มีคำสั่งแต่งตั้ง คงจะปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ทั้งเรื่องการติดตามประเมินสถานการณ์ ประสานงานทางการเมือง ตลอดจนการเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยทำงานร่วมกับคณะทำงาน ส่วนต่างๆ นอกเหนือจากนั้นก็สุดแท้แต่นายกรัฐมนตรี จะมอบหมายภารกิจอะไรเพิ่มเติม
เมื่อถามว่า ได้ให้มาดูเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ด้วยหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ยังไม่ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ส่วนผู้ชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องหรือประสบความเดือดร้อน จากปัญหาการทำกินหรือการดำรงชีพต่างๆ ก็มี นายสมคิด เชื้อคง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ประสานงานความคืบหน้าอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการชุมนุม สถานการณ์ตอนนี้จะมีกลุ่มการเมืองเข้ามาเคลื่อนไหวหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวจริงๆ มีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งในรูปแบบการชุมนุมตรงสะพานชมัยมรุเชฐ หรือรูปแบบการรวมตัวและแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่ในขั้นของการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่ หลัก หลายหมื่น หลักแสนคนเป็นเวลานานๆ อย่างที่เราเคยเห็นหลายครั้งในรอบ 20 ปีมานี้ เข้าใจว่า ยังไม่น่าจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้มีหน่วยงานหรือปฏิบัติการอะไร ที่จะติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ ยังเพียงเคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และมุ่งเน้นการผลักดันผลงาน การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมากกว่า
เมื่อถามว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เข้ามาทำหน้าที่ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำหรือคำแนะนำอะไร ในการทำงานไปบ้าง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เราใช้การพูดคุยกันในวงของคณะทำงาน ตนคงไม่ต้องแสดงความเห็น อะไรถึงรัฐบาล หรือนายกฯผ่านสื่อตรงนี้ หากเราเห็นว่าเรื่องนี้มีมุมมองอย่างไร หรือมีทัศนะประเมินสถานการณ์แบบไหน ก็นำเรียนไปตามช่องทาง
เมื่อถามว่า ในเรื่องของนิรโทษกรรม จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวกระทบถึงรัฐบาลหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้นิรโทษกรรมต้องแยกเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันไม่มีข้อโต้แย้ง คือเห็นชอบว่าควรจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่ง ในการลดความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนที่ยังเห็นต่างต่อกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะออก จะครอบคลุมถึงความผิด หรือการดำเนินคดีข้อหาใดบ้าง เอาตรงๆมาตรา 112 ยังเห็นต่างกันอยู่ ในชั้นนี้ ตนเห็นว่าสภากำลังจะปิดสมัยประชุม และจะมีการพิจารณากฎหมายนี้ หรือไม่อย่างไร ก็อยู่ที่สมัยประชุมหน้า ดังนั้น ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการประชุมสภาฯ เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ ตลอดจนกลุ่มก้อนภาคประชาชนที่ได้เคลื่อนไหว คงจะได้มีการปรึกษาหารือกัน และการที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ หลักการคือจะต้องไม่ไปขยายความขัดแย้งใดๆ เพิ่ม ตนจึงคิดว่าการรักษาบรรยากาศ ไม่ให้ช่วงเวลานี้ ไปมีเงื่อนไขความขัดแย้งอะไร หากจะพูดคุยกัน เช่น ทางพรรคเพื่อไทย โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าจะมีกรรมการยุทธศาสตร์และกรรมการบริหาร จะหารือและมีข้อสรุป ว่าจะมีร่างออกมาประกบหรือไม่ รวมถึงส่วนอื่นๆก็เช่นเดียวกัน คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาคุยกันภายใน ถึงเวลาก็ต้องเอาไปคุยกันในสภา ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐสภา ที่จะไปพูดคุยกัน
“ส่วนจุดยืนของผมต่อเรื่องนี้ ผมได้แสดงความเห็นไปหลายที่ ยังคงมีจุดยืนเดิม และนี่เป็นจุดยืนส่วนตัว ที่พูดมาตลอด ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ และหวังใจเวลาที่ยังเหลืออยู่ ข้อขัดแย้งหรือข้อแตกต่างต่างๆ แต่ละฝ่าย ที่กำลังคิดไม่เหมือนกัน น่าจะยังมีเวลาปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนกันได้” นายณัฐวุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า มีชนวนใดที่จะทำให้จุดม็อบได้ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องหลักที่ทุกรัฐบาลไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ ต้องยึดถือปฏิบัติอยู่แล้ว และจะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา จนกระทั่งนายกฯ แพทองธาร ก็ไม่ได้มีท่าทีทำนองนี้ ขณะนี้เรื่องใหญ่ที่สุดของรัฐบาล คือ พยายามผลักดันนโยบาย หรือเนื้องานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญ แต่การจัดบรรยากาศ การจัดเวที ในการดำเนินการเรื่องนี้ มันมีความละเอียดอ่อน คิดว่าควรให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายสภาว่ากัน ใครมีความคิดเห็นแบบไหน ก็แสดงออกกันด้วยท่าทีและเวทีที่เหมาะสม น่าจะดีที่สุด
เมื่อถามว่า ตั้งแต่มาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับ นายแพทย์เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. ออกมาเตือนว่า สักวันสิ่งที่นายณัฐวุฒิเคยทำหรือพูดไว้ อาจจะกลับมาทำลายตัวเอง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีโอกาสคุยกันเป็นทางการส่วนตัว แต่ตนก็มีเหตุผลในการตัดสินใจ มีวิถีทางในการเลือกเดิน และยังแน่ใจว่า ความเป็นตนเองตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วิธีการคิดและเดิน อาจมีการปรับเปลี่ยนบ้าง ไปตามสถานการณ์ แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และตลอดเส้นทางที่ผ่านมา เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากเพื่อนมิตรและพี่น้อง ตนเลือกที่จะเงียบ และทำตามในสิ่งที่เชื่อ เดินตามทางที่เลือก ให้เวลามันอธิบายเรื่องทั้งหมดดีกว่า
เมื่อถามว่า นโยบายดิจิทัล รวมถึงงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ดูเหมือนจะยากขึ้น ต้องมีอะไรออกมาหรือไม่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ทุกนาทีรัฐบาลเร่งทำงานกันอยู่แล้ว แต่ยังมีเวลาอยู่เกือบ 3 ปี เรื่องอะไรก็ตามที่สื่อมวลชนบอกว่ายาก มันอาจจะคลี่คลายง่ายขึ้น และมีผลที่ปฏิบัติได้ การทำงานทางการเมืองในรัฐบาลผสม ไม่มีอะไรที่จะเดินไปได้ก้าวใหญ่ๆ และเร็วทุกเรื่องอยู่แล้ว เรื่องที่เห็นด้วย และเรื่องที่เห็นต่าง ก็มีเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะหาทางและมีข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้เดินไปต่อได้ เมื่อพรรคเพื่อไทย ตัดสินใจ ที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ความรับผิดชอบทั้งหลายต่อปัญหาของพี่น้องประชาชน ก็ต้องทำกันให้เต็มที่ นโยบายและการแก้ไขปัญหาต่างๆจะปรากฏชัด ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ
นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวต่อด้วยว่า สถานที่ทำงานของตนจะใช้บ้านพิษณุโลกเป็นหลัก