xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐานเขมรมั่ว อ้างสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ประกาศเขตแดนทางทะเล ไทยกลับยอมเซ็น MOU44 ไม่รักษาประโยชน์ชาติ จี้ต้องยกเลิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” เปิดหลักฐาน กัมพูชาประกาศเขตแดนทางทะเล อ้างสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส โดยไม่ถูกต้อง แต่การเซ็น MOU44 เท่ากับไทยยอมรับโดยปริยาย ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าไม่ถูกต้อง แนะ “ภูมิธรรม” รมว.กลาโหม ผู้มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตย ต้องเสนอยกเลิก MOU44 หรือหากจะทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ก็ต้องยกเลิกก่อนอยู่ดี เพราะเส้นเขตแดนของกัมพูชาไม่ถูกต้อง

วันที่ 26 ตุลาคม 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ ขายชาติหรือไม่? มีรายละเอียด ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายอนุรักษ์ทันสมัย ประกาศอนุรักษ์สถาบันพระมากษัตริย์ อนุรักษ์อธิปไตย อนุรักษ์ทรัพยากรของชาติ ซึ่งผมเห็นด้วย

รูป 1-2 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันจะเจรจากับกัมพูชาเพื่อขุดทรัพยากรในทะเล วอนอย่าปลุกกระแสคลั่งชาติ




ดังนั้น ผมคงเป็นพวกคลั่งชาติตามที่เขาว่า แต่ผิดตรงไหน ที่ผมจะรักหวงแหนอธิปไตยของชาติ

ผมค้นกูเกิลหลายครั้งเพื่อหาข้อความใน MOU44 ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ แปลกใจที่หาไม่พบ

โชคดีที่เมื่อวานนี้ ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล ผอ.ศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ใช้กำลังภายในอย่างแยบยลหามาได้ ผมขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

ผมเคยสนับสนุนแนวคิด เอาทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ แบ่งประโยชน์ร่วมกัน แต่กระบวนการนั้น จะต้องไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน ขอย้ำ ต้องไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน

ผมเพิ่งอ่าน MOU44 ครั้งแรกแล้วตกใจ ขอเตือนนายภูมิธรรม ว่า มีความเสี่ยงจะถูกตีความได้ว่าเป็นเอกสารขายชาติ เนื่องจากทำให้ไทยเสี่ยงจะเสียดินแดน

จึงขอให้ข้อมูลวิชาการ เพื่อเป็นฐานในการถกแถลงหาทางออกเรื่องนี้ ดังนี้

1. ทำไมกัมพูชาลากเส้นผ่านเกาะกูด?
ตอบว่า กัมพูชาอ้างอิงเอกสารแนบในสนธิสัญญาฯ


รูป 3 จากวิทยานิพนธ์ของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ปี 1976 แสดงเส้นเขตแดนไหล่ทวีป (ชี้โดยลูกศรสีแดง) ที่กัมพูชาประกาศในปี 1972 (ไทยประกาศเส้นของไทยปี 1973)
เส้นของกัมพูชาเริ่มจากตำแหน่ง A บนชายฝั่ง ไปทิศตะวันตกถึงตำแหน่ง P ล้ำเข้ามาในอ่าวไทย 200 ไมล์ทะเล และเส้นดังกล่าว พาดผ่านเกาะกูด!!!

ถามว่า เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส สมัย ร.5 ข้อ 2 ระบุชัดว่าเกาะกูดเป็นของไทย? (รูป 4)


ตอบว่า เป็นเพราะ (รูป 5) อนุสัญญาสหประชาชาติ ข้อ 12 ย่อย 1 อนุญาตให้อ้าง “การจำเป็นโดยเหตุสิทธิแห่งประวัติศาสตร์” ได้


กัมพูชาจึงอ้างสนธิสัญญาฯ แต่ไม่ใช่อ้างตัวแม่บท ไปอ้างเอกสารแนบ (รูป 6)


รูป 6 ในเอกสารแนบข้อ 1 ระบุว่า

“เขตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด เป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวาน ...”

นี่เอง กัมพูชาจึงอ้างการเล็งเส้น ทิศตะวันออก-ตก จากจุดแบ่งเขตแดนที่ชายฝั่ง ผ่านยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด ล้ำเข้ามาในอ่าวไทย เป็นที่มาในการอ้างเส้นพาดผ่านเกาะกูด

โดยถึงแม้ไม่ได้แสดงจุดประสงค์ในการเป็นเจ้าของเกาะกูด แต่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ประสงค์พื้นที่ในเขตน่านน้ำไทย ไปไกลจนถึงตำแหน่ง P ในรูป 3

และประสงค์จะกินแดนในน่านน้ำไทย ไล่ยาว ทิศเหนือ-ใต้ เป็นเส้นจากตำแหน่ง P ยาวลงไปตลอด ถึงตำแหน่ง PCK1 ไปจนถึงตำแหน่ง PCK6 (ชี้โดยลูกศรสีเขียว)

นี่เอง เป็นที่มาของการอ้าง “พื้นที่ทับซ้อน” มากมายมหาศาลถึง 26,000 ตร.กม. คิดเป็น 10% ของพื้นที่ทะเลอ่าวไทย

2. กัมพูชาอ้างอิงสนธิสัญญาฯ ถูกต้องหรือไม่?

ตอบว่า ไม่ถูกต้อง

แค่อ่านเอกสารแนบในรูป 6 ข้อ 1 ให้จบ ก็จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า ข้อ 1 เป็นคำบรรยายภูมิประเทศบนบก เพื่อกำหนดแนวเขตแดนบนบก

และท้ายข้อ 1 ก็ระบุว่า “ได้เขียนเส้นพรมแดนประเมินไว้อย่างหนึ่ง ในแผนที่ตามความที่กล่าวในข้อนี้ติดเนื่องไว้ท้ายสัญญานี้ด้วย”

และเมื่อดูแผนที่ดังกล่าว คือ รูป 7 ก็ชัดเจนอีกว่า เป็นแผนที่ประกอบคำบรรยายสถานที่บนบก ไม่ใช่บรรยายสถานที่ในทะเล


ดังนั้น เจตนารมณ์ในการระบุใช้จุดสูงสุดในเกาะกูด ก็เพื่อเล็งมาทางทิศตะวันออก ใช้สำหรับชี้จุดแบ่งเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ชายฝั่ง

ย้ำว่า เล็งมาทางทิศตะวันออก ไม่ใช่จากชายฝั่งเล็งไปทิศตะวันตก

สรุปแล้ว การที่กัมพูชาอ้างเล็งจากจุดแบ่งเขตแดนบนชายฝั่ง ผ่านจุดสูงสุดในเกาะกูดไปทางทิศตะวันตก เพื่อกินเนื้อที่เข้าไปในอ่าวไทย นั้น ไม่ตรงกับเอกสารแนบสนธิสัญญาอย่างแน่นอน และไม่มีโอกาสจะชนะในศาลโลก

สำหรับกัมพูชาที่จะอ้างเอกสารแนบสนธิสัญญาฯ อย่างไม่ถูกต้อง นั้น ไม่เกินความคาดหมาย

แต่สำหรับรัฐบาลไทยที่หากจะไปยอมรับการอ้างไม่ถูกต้องเช่นนั้น จะไม่เป็นการรักษาประโยชน์ของชาติ

3. MOU44 ผูกพันประเทศไทย หรือไม่?

เว็บไซต์กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ บรรยายว่า

“สนธิสัญญาเป็นความตกลง ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทางวาจาก็ตาม ที่ทำขึ้นระหว่างบุคคลหรือผู้ทรงสิทธิระหว่างประเทศ” และระบุหมายความรวมถึง MOU ด้วย










ในรูป 8-12 ผู้ลงนามซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า For the Thai government นั้น ถึงแม้กระทรวงต่างประเทศแปลว่า “สำหรับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย”

แต่ในภาษากฎหมายอังกฤษนั้น ชัดเจนว่าเป็นการที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ลงนามในฐานะ “ตัวแทนรัฐบาลไทย” ถือเป็นผู้ทรงสิทธิตามนิยามของกรมสนธิสัญญาฯ

ดังนั้น เอกสารนี้จึงมีสภาพตามข้อเท็จจริงในภาษาอังกฤษเป็นสนธิสัญญาที่ผูกพันประเทศไทย ตามนิยามของกระทรวงต่างประเทศเอง

4. ทำไม MOU44 เสี่ยงที่จะขายชาติ?

ในแผนที่รูป 10 ขอบพื้นที่สีเทา เส้นด้านบน (ชี้โดยลูกศรสีแดง) และขอบพื้นที่สีขาว เส้นด้านซ้าย (ชี้โดยลูกศรสีเขียว) คือ เส้นที่กัมพูชาอ้างสนธิสัญญาฯ อย่างไม่ถูกต้อง

พื้นที่สีขาวเรียกว่า Joint Development Area กระทรวงต่างประเทศแปลว่า “พื้นที่พัฒนาร่วม”

ใช้คำเช่นเดียวกับ “พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย” ซึ่งขอบเขตเกิดจากเส้นเขตแดนที่ไทยและมาเลเซียอ้างแตกต่างกัน

ดังนั้น การที่ไทยมีเส้นที่กัมพูชาอ้างสนธิสัญญาฯ ไม่ถูกต้อง แสดงปรากฏอยู่ใน MOU โดยบรรยายเป็น Joint Development Area นั้น จึงถูกตีความได้ว่า ไทยยอมรับเส้นเขตแดนที่กัมพูชาประกาศโดยปริยาย ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่ากัมพูชาอ้างสนธิสัญญาฯ ไม่ถูกต้อง ไทยก็ไม่ขัดข้อง

(ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ไทยเสียเปรียบในกรณีเขาพระวิหารมาแล้ว)

นอกจากนี้ ในรูป 8 ย่อหน้าที่สาม ข้อความภาษาอังกฤษที่ว่า
“RECOGNIZING that as a result of claims made by the two countries to territorial sea, continental shelf and exclusive economic zone in the Gulf of Thailand, there exists an area of overlapping claims (the Overlapping Claims Area)”

ถึงแม้กระทรวงต่างประเทศแปลว่า
“ตระหนักว่าจากผลของการอ้างสิทธิของประเทศทั้งสองในเรื่องทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทย ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน (พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน)”

อย่างไรก็ดี คำว่า Recognize ในภาษากฎหมายอังกฤษหมายความว่า แต่ละประเทศยอมรับเส้นเขตแดนที่อีกประเทศหนึ่งประกาศว่าแตกต่างจากเส้นของตน อันนำไปสู่ Joint Development Area

ซึ่งตอกย้ำอีกชั้นหนึ่งว่า ไทยยอมรับเส้นเขตแดนที่กัมพูชาประกาศ ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่ากัมพูชาอ้างสนธิสัญญาฯ ไม่ถูกต้อง ไทยก็ไม่ขัดข้อง

ผมจึงขอแนะนำนายภูมิธรรม ในฐานะ รมว.กลาโหม ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ ท่านควรเป็นผู้เสนอยกเลิก MOU44

ประชาชนคนไทยควรสนับสนุนให้ท่านเจรจาผลประโยชน์ทรัพยากร ต่อเมื่อมีการยกเลิกแล้ว

มิฉะนั้น ท่านต้องเตรียมคำตอบสำหรับที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ถามว่า กองทัพไทยจะยอมรับให้กองทัพกัมพูชาเคลื่อนเรือรบ และเครื่องบินรบ เข้ามาถึงตำแหน่ง P ได้เลย หรือไม่?

นอจากนี้ นายธีระชัย ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ JDA ไทย-กัมพูชา เป็นไปได้ไหม? โดยระบุว่า มีหลายเสียงเสนอว่า ควรเจรจาพัฒนาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา โดยยังไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเขตแดน

ถามว่า แนวคิด JDA ไทย-กัมพูชา เป็นไปได้ไหม?

ตอบว่า พื้นที่ JDA จำเป็นต้องมีขอบเขตไม่ใช่กว้างขวางทั้งอ่าวไทย

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 ต้องมีแผนที่แนบ ซึ่งในแผนที่ดังกล่าว มีกรอบขอบเขตระบุตำแหน่งเส้นรุ้งเส้นแวง

จึงมีปัญหาว่า ถ้ามี JDA ไทย-กัมพูชา จะเอาเส้นใดตีกรอบขอบเขต


ถ้าใช้ตามแผนที่ใน MOU ใช้พื้นที่สีขาวเป็น JDA ก็จะมีปัญหาว่า กรอบด้านทิศตะวันตก จะต้องใช้เส้นสีแดงของกัมพูชา

แต่จะใช้ได้อย่างไร ในเมื่อมีข้อมูลปรากฏชัดเจนแล้วว่า ในการขีดเส้นสีแดงนั้น กัมพูชาอ้างอิงสนธิสัญญาฯ อย่างไม่ถูกต้อง

ดังนั้น ในเมื่อเส้นสีแดงไม่ถูกต้อง ก็ต้องเลิก MOU44 ไปก่อน แล้วจึงค่อยคิดเจรจาพัฒนาปิโตรเลียม


กำลังโหลดความคิดเห็น