xs
xsm
sm
md
lg

“อุ๊งอิ๊ง”ไปไม่รอด รัฐบาลอายุสั้น!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

หากจะเรียกว่าผิดคาด หรือผิดความคาดหมาย ก็อาจใช้กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนนี้ได้ดี เพราะกลายเป็นว่าเพียงชั่วระยะไม่ถึงสามเดือน เธอต้องเจอกับความท้าทายและบทพิสูจน์อันหนักหน่วง และก็ดูเหมือนว่าเธอจะยังสอบไม่ผ่าน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นไม่เป็นบวกเท่าใดนัก

เสียงวิจารณ์ในเรื่องวุฒิภาวะ ความรู้ความสามารถ มีมากขึ้นเรื่อยๆ และยากที่จะลบเลือนไปได้ง่ายๆ ซึ่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงเริ่มแรกของการดำรงตำแหน่ง ก็ไม่อาจสร้างความมั่นใจได้เลย ตรงกันข้ามมีแต่ภาพลบติดตัว หรือแม้แต่การเดินทางไปร่วมประชุมต่างประเทศ ทั้งเวทีใหญ่ และระดับภูมิภาค ก็ถูกวิจารณ์ในทางเสียหายเกี่ยวกับความรู้ความสามารถ ไม่มีความรู้รอบตัว ไม่มีข้อมูลเบื้องต้น ทั้งในหัวข้อการเจรจา และการสนทนากับผู้นำต่างประเทศ

นอกจากนี้ ในเรื่องนโยบายสำคัญที่เรียกว่าเป็น “เรือธง” ทั้งของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่เข้าเป้า หรือ “ไม่ตรงปก” ที่เพิ่งผ่านไปก็คือ นโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่แม้ว่าแจกเฟสแรกไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้ง 50 ล้านคนตามที่เคยรับปากหาเสียงเอาไว้ และในเฟสต่อไป ก็ไม่มีทีท่าใดๆ จนเชื่อว่าจบแค่นี้แล้ว อีกทั้งเสียงวิจารณ์ตามมาในเรื่องผลทางเศรษฐกิจที่ตามมา ก็ไม่ตรงเป้า เช่นที่บอกว่าจะเกิด “พายุหมุน” ทางเศรษฐกิจ มีการขยายตัวแบบกระชาก ก็แทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ออกมามากนัก รวมถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนปริญญาตรี เป็นต้น ก็ไม่มีความคืบหน้า

อย่าได้แปลกใจที่ล่าสุดผลสำรวจที่สะท้อนออกมาในเชิงไม่เชื่อมั่น คือ ไม่เชื่อว่าจะอยู่ได้นาน หรืออยู่ครบวาระ

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ ไปไหวไหม”

จากการสำรวจเมื่อถามความเชื่อของประชาชนต่อการอยู่รอดของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.68 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนครบเทอมในปี 2570 รองลงมา ร้อยละ 19.08 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 2 ปี (2569) ร้อยละ 16.87 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 1 ปี (2568) ร้อยละ 11.99 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนเกือบ ๆ ครบเทอมในปี 2570 ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้ไม่เกินสิ้นปี 2567 และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงปัจจัยที่จะส่งผลให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไปต่อไม่ได้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.43 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญาและคาดหวัง รองลงมา ร้อยละ 32.52 ระบุว่า

กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังคุณทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 29.47 ระบุว่า การบริหารที่ผิดพลาด ของนายกฯ แพทองธาร จนนำไปสู่สถานการณ์วิกฤต ร้อยละ 28.85 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังนายกฯ แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 19.77 ระบุว่า การบริหารงานที่ไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการทุจริต คอร์รัปชัน ร้อยละ 17.25 ระบุว่า ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ไม่มีปัจจัยใด ๆ ที่จะทำให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ไปต่อไม่ได้ ร้อยละ 10.92 ระบุว่า การชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 9.62 ระบุว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 9.08 ระบุว่า การทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่จะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล ร้อยละ 8.24 ระบุว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีประเด็นอ่อนไหว ร้อยละ 8.09 ระบุว่า ประเด็น คดีตากใบ และร้อยละ 6.95 ระบุว่า การก่อรัฐประหารล้มรัฐบาล

แม้ว่าผลสำรวจดังกล่าวจะระบุว่า รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะสามารถไปต่อจนครบเทอมได้ ร้อยละ 41 แต่หากพิจารณาแล้วถือว่าเปอร์เซ็นต์ความเชื่อมั่นค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนเสียงของรัฐบาลที่มีอยู่มากมาย แต่ขณะเดียวกัน หากมองถึงเรื่องความเป็นเอกภาพแล้ว เริ่มมีความสั่นคลอน มีรอยปริให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ได้เห็นพลังต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้นกว่าเดิม

ความขัดแย้งในกฎหมายสำคัญเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น เท่าที่เห็นก็มีเรื่องการเสนอ ร่าง พระราชบัญญัติการทำประชามติ ที่มีความเห็นสวนทางกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล กับวุฒิสภา เพราะวุฒิสภาเห็นแย้งให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้น นั่นคือ ต้องใช้เสียงข้างมากจะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และต้องได้เสียงข้างมากเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอีกด้วย ขณะที่ความเห็นของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลก่อนหน้านี้ต้องการใช้เสียงข้างมากธรรมดา หรือชั้นเดียวเท่านั้น

และที่น่าสังเกตก็คือ วุฒิสภามีความเชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทย และที่ผ่านมาก็มี ส.ส.จากพรรคดังกล่าวอภิปรายสนับสนุนอีกด้วย จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ทำให้เวลาทอดยาวออกไปอีก จนคาดมีผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอีกด้วย เพราะกฎหมายทำประชามติ เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขดังกล่าว

เมื่อพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการหาเสียงในเรื่องการจัดทำฉบับใหม่ เพราะคาดกันว่าจะทำให้ล่าช้า จนไม่ทันวาระของรัฐบาลและสภาชุดนี้ ทำให้เสียแนวร่วมไปอีก

ขณะเดียวกันประเด็น “นิรโทษกรรม” ที่เดิมได้เห็นท่าทีต้องการให้ครอบคลุมไปถึงความผิดตาม มาตรา 112 ด้วย มีการผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาในเรื่องดังกล่าวจนมีผลรายงานออกมา แต่ต้องถูกบีบให้ต้องลงมติไม่รับร่างรายงานถูกตีตกในสภาผู้แทนราษฎร โดยส.ส.พรรคเพื่อไทย แหกมติพรรค เหมือนกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก็เพิ่งมีการยืนยันชัดเจนแล้ว จะไม่แตะในมาตรา 112 รวมถึงไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญใน หมวด 1 และ 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

“ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเว้นหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมาตลอด และเป็นการตกลงที่ร่วมรัฐบาลกันได้ ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันมากๆ และยืนยันจุดยืน เราไม่แตะ ม.112 ซึ่งได้พูดไปทุกๆ เวที” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ย้ำว่า ไม่แตะต้องในเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน

เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้อง จะร่วมแก้รัฐธรรมนูญ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร แต่ในรายละเอียด ขอให้เป็นเรื่องของสภาฯ ไป แต่ก็คุยกันในกรอบว่ากังวลเรื่องใดบ้าง และมีลงไปถึงไปยังกระทรวงว่าอยากพัฒนาประเทศด้านใด แต่ก็เข้าใจความหมายตรงกัน

ดังนั้น หากพิจารณาจากเรื่องราวดังกล่าวทั้งหมด ถือว่าเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เพราะถือว่าเป็น “ด่านหิน” ที่ยากจะฝ่าฟันไปได้ ถึงว่าไม่ต้องแปลกใจที่จะส่งผลความไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าเธอจะยืนระยะได้นาน หรือครบเทอม !!


กำลังโหลดความคิดเห็น