xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้บริโภค ยื่นหนังสืออุทธรณ์ประกาศ กกพ.รับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมมรดกบาปรัฐบาลประยุทธ์ เหตุขัดกฎหมายพลังงานและไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาผู้บริโภคชี้ กกพ.ต้องยกเลิกประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เหตุออกประกาศขัดวัตถุประสงค์ของกฎหมายกำกับกิจพลังงาน ไม่ใช้วิธีการแข่งขัน เลือกปฏิบัติออกประกาศเอื้อเอกชนกลุ่มเดิม ล็อกราคารับซื้อ ทำผู้ใช้ไฟฟ้าเสียประโยชน์ และไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาว่า “รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม และความโปร่งใส”

ตามที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงพ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการออกประกาศเพื่อให้สิทธิ์กับกลุ่มรายชื่อเดิม จำนวน 198 รายแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบแรกตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 โดยมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) 1,580 เมกะวัตต์

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือขออุทธรณ์ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เนื่องจากการออกประกาศเพิ่มเติมปี 2567 ฉบับนี้ ยังอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา และล็อกราคาที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ปี 2565 ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายชื่อเดิมที่เคยยื่นเสนอขายไฟฟ้าตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าในรอบปี 2565 แต่ไม่ได้รับคัดเลือกจำนวน 198 รายเท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจรายอื่นเข้าร่วมโครงการได้ และอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ไม่สนใจการรับฟังเสียงร้องเรียนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และเกณฑ์การพิจารณาที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคำนวนผู้คัดเลือกก่อนเลยตั้งแต่ในรอบปี ๒๕๖๕ ทำให้เปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางในการคัดเลือกว่าเอกชนรายใดจะได้รับคัดเลือกหรือไม่คัดเลือก ที่สำคัญคือไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา ราคาซื้อไฟฟ้าถูกกำหนดมาตั้งแต่ปี 2565 ห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซึ่งหลักเกณฑ์ในลักษณะล็อกสเปคต่างๆ เหล่านี้ถูกกำหนดมาในสมัยรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยที่ยังไม่เคยมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม กพช. ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นประธาน กพช. เลยสักครั้ง เพราะนางสาวแพรทองธารแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 แต่ประกาศฉบับนี้ออกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ซึ่งยังไม่เคยมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กพช. ให้นางสาวแพรทองธาร ชินวัตรนากยรัฐมนตรีได้รับแต่อย่างใด

การออกประกาศเพิ่มเติมปี 2567 ของ กกพ. เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาฯ ว่ารัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรมและความโปร่งใส สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งยังขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ต้องการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานและป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ การไม่เปิดให้มีการแข่งขัน การล็อกราคา ล็อคบริษัทที่เข้าร่วมเสนอโครงการ การใช้หลักเกณฑ์คัดเลือกที่ขาดความโปร่งใส จึงทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่สามารถที่จะได้ราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงได้อีกจากประกาศฉบับนี้ ด้วยเหตุนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงทำหนังสือขออุทธรณ์และขอให้ยกเลิกประกาศฉบับนี้

“หาก กกพ. จะเดินหน้าดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าตามประกาศฉบับนี้ต่อไป ก็อาจถือได้ว่า กกพ. มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้พลังงาน และขอเสนอแนะว่าการดำเนินการเพื่อการรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ภายใต้กลักการการส่งเสริมการแข่งขัน รัฐบาลควรดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ เพื่อให้เกิดความชอบธรรม เหมาะสมกับภาวการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาจะเป็นการดีที่สุด” นางสาวรสนา กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น