ข่าวปนคน คนปนข่าว
++ ทนายตั้ม "มง" ที่18 ต้องมา!? ปมอมเงิน 71 ล้านไม่พอ โป๊ะแตก งุบงิบอีก 5 ล้าน ซื้อเบนซ์หรูไม่ตรงรุ่น
ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ "ทนายตั้ม" กำลังถูกความจริงไล่ล่า
โดยเฉพาะปมประเด็นเงิน 71 ล้าน ของนักธุรกิจสาวที่แจ้งความทนายคนดัง ในข้อหา "ฉ้อโกง" แต่เจ้าตัวชิงออก โหนกระแส อ้างว่าได้มา "โดยเสน่หา"
เรียกว่ากินปูนร้อนท้องแล้ว แก้ต่าง แก้ตัว แต่ไม่มีใครจะเชื่อว่าได้มาโดยเสน่หา
ด้วยคำถามพื้นฐาน ง่ายๆ ใครที่ไหนจะใจดีให้เงินมากมายขนาดนั้นแก่ผู้อื่นฟรีๆ!?
ที่สำคัญ ถ้านักธุรกิจสาวให้เงินทนายษิทรา "โดยเสน่หา" ทำไมต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีทนายคนดัง ให้ถึงที่สุด
เรื่องของการหลอกให้ลงทุนซื้อแพลตฟอร์มหวยออนไลน์ ดูยังไงน้ำหนักก็มีมากกว่าจะให้ฟรี
พิรุธที่ “ทนายตั้ม” แก้ต่างปมเงิน 71 ล้าน ที่ถูกแจ้งข้อหา "ฉ้อโกง" แพร่ออกไป เจ้าตัวทางหนึ่งโพสต์ข้อความตอบโต้ และ เดินสายให้สัมภาษณ์สื่อ โดยระบุว่า มีขบวนการสมคบคิดวางพล็อต "เต้า" เรื่องเพื่อทำลายตัวเอง!
แถมพ่วงพาดพิงไปถึง "บิ๊กเต่า" พล.ต.ท.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. ว่า ผูกใจเจ็บแค้น ทนายตั้ม อยู่ก่อน พอรู้เรื่องจึงรีบดึงคดีจากสถานีตำรวจภูธรปากช่อง มาสอบสวนกลาง เพื่อหวังขยี้ตัวเองถอนแค้น
ประเด็นนี้ใครได้ฟังคงหัวร่อ เป็นไปไม่ได้ ที่เรื่องนี้จะถูกเต้าขึ้นมา เพราะผู้เสียหายมีตัวตนไปเข้าแจ้งความ และ "บิ๊กเต่า" ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวดึงคดี!
งานนี้ ทนายษิทรา จึง "มโน"ล้วนๆ ..เพราะ สติแตกจากเรื่องราวที่ถูกเปิดเผยออกมา !?
อาการสติแตกทำให้โบ้ยไปว่า นักธุรกิจสาวที่ให้เงินเป็นคนดี จากที่เคยจ้าง จ่ายผลตอบแทนเป็นรายเดือน 3 แสนบาท ต่อมาตัวเองขอเงินทำทุนสร้างตัวเป็นเงินก้อน เธอจึงให้มา 2 ล้านยูโร หรือ 71 ล้านบาท แต่ตัวเองมีเรื่องเขม่นบาดหมางใจ กับเลขาฯนักธุรกิจสาว จึงเชื่อว่าถูกปรักปรำใส่ร้าย จนมาถึงแจ้งความ
นอกจากโบ้ยไปที่เลขาฯ ยังท้าทายให้เลขาออก "โหนกระแส" ราวกับตัวเองเป็นเจ้าของรายการ
วิญญูชนเขาดูกันออกแหละ เรื่องนี้เป็นเรื่องของคดีความ ตัวเองเป็นนักกฎหมาย ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการ เอะอะชวน โต้วาทีออกสื่อ เพื่อหวังว่าจะใช้ทักษะทนาย อาศัยวาจาเชือดเฉือนคู่กรณี!
งานนี้ ษิทรา คงคิดว่า "หมู" แต่ต้องไม่ลืมว่า ร้อยถ้อยวาจา ไม่เท่าการกระทำ
แว่วว่า พฤติการณ์หลายอย่างที่ทนายคนดัง สร้างวีรกรรมไว้มีคนรู้ คนเห็น เก็บหลักฐานไว้หมดพร้อมจะงัดให้ “ทนายตั้ม”หงายเงิบได้ทุกเมื่อ
รวมไปถึงเส้นทางการเงินที่ “ทนายตั้ม” บอกว่า สามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อ
หลังจากที่เปิดบัญชีรับเงินโอนที่สาขาปากช่องแล้ว เงินไปต่อที่ไหนโอนให้ใคร จบที่ไหน “ทนายตั้ม”จะกล้ากางออกมาหรือไม่
ไม่ลืมที่ตัวเองโพล่งออกไปในรายการโหนกระแสเรื่องของ "ภาษี" ของ "เงินได้" อีกละ!!
เชื่อขนมกินได้ว่าเมื่อถึงเวลาจวนตัว จะมั่วไปอีกทางอย่างแน่นอน
นอกจากเงินลงทุนซื้อ-ขายแพลตฟอร์มหวยออนไลน์ ที่ถูกกล่าวหาว่าอมไว้คนเดียว 2 ล้านยูโร แล้ว
“ทนายตั้ม” ยังเคยรับเรื่องดำเนินการ "ซื้อรถเบนซ์" ให้กับนักธุรกิจสาว โดยบอกว่า ตัวเองสนิทกับดีลเลอร์รถ จะได้ส่วนลดเป็นพิเศษ
“ทนายตั้ม”แจ้งราคารถ 13 ล้าน โดยที่นักธุรกิจสาวก็โอนให้ เวลาผ่านไปเป็นปีปรากฏว่า "โป๊ะแตก"
เลขานักธุรกิจสาวเอะใจว่า ซื้อรถด้วยเงินสดกว่า 1 ปีแล้ว ทำไมจึงไม่ได้เล่มทะเบียน ไล่เช็กดู ก็พบว่า รถคันที่ซื้อเป็นอีกรุ่นหนึ่ง ที่ราคา 8 ล้าน ไม่ใช่13 ล้าน
หมายความว่า มีส่วนต่างราคาถึง 5 ล้าน ซึ่งไม่รู้ไปเข้ากระเป๋าใคร !!?
มิหนำซ้ำตั้งแต่ทนายซื้อ เจ้าของแทบจะไม่ได้เห็นรถเลย เพราะ “ทนายตั้ม” เอาไปใช้ จนต้องให้ทนายยื่นโนติส ขอกุญแจรถ
เรื่องนี้ “ทนายตั้ม” จะออกตัวอย่างไร!? น่าจะยาก เพราะมีบันทึกเป็นหลักฐาน
ฟังว่ายังมีอีกหลายกรณีที่ “ทนายตั้ม” ได้เงินจากนักธุรกิจสาวที่คงทึกทักว่าได้มาโดยเสน่หา
ติดตามกันให้ดี กรณี “แฉทนายตั้ม” คงไม่หมดแค่นี้ เพราะฟังว่าเจ้าตัวเตรียมตอบแทนผู้มีพระคุณด้วยการฟ้องกลับเชื่อว่า ยิ่ง “ทนายตั้ม”ฟ้อง อีกฝ่ายยิ่งจะมีเรื่องราวของทนายตั้ม ที่สังคมยังไม่รับรู้ ออกมาอีกแน่นอน
เบาะๆ แค่ข้อหาอมเงิน 71 ล้านบาท และ งุบงิบ"ส่วนต่าง" ซื้อรถเบนซ์หรู 13 ล้านไม่ตรงปก-ไม่ตรงรุ่น พฤติการณ์เช่นนี้ ชาวประชาทั้งหลายที่รับทราบก็จะเห็นว่า ทนายผู้นี้สมควรที่ "มง" ที่ 18 ต้องลงแล้วอ๊ะป่าว!
++ นิรโทษฯ112 ไม่ถึงฝั่ง “เพื่อไทย” ยังไม่กล้ากอดคอ “พรรคส้ม”
การพิจารณา ลงมติ รับหรือไม่รับ รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตรา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่สามารถลงมติได้ เนื่องจาก “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภา คนที่ 1 ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ชิงปิดสภาเสียก่อน เรื่องจึงถูกนำมาพิจารณาต่อในสัปดาห์นี้
สาระสำคัญของรายงานการศึกษาฯ ที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นว่า ควรจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” นั้นอยู่ที่ ความผิดตามมาตรา 112 ว่า ควรจะนิรโทษฯ ไปด้วยหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ สรุปไว้แบบเปิดทางให้เลือก 3 ทางคือ
ไม่นิรโทษฯ112-นิรโทษฯ112-นิรโทษฯ112แบบมีเงื่อนไข
ก่อนการประชุม“อดิศร เพียงเกษ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บอกว่าถ้าพรรคเพื่อไทยโหวตคว่ำรายงานฉบับนี้ แล้วจะเอาหน้าไปไว้ไหน!
เพราะพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอรายงานฉบับนี้เอง และประธานกมธ.ฯ คือ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ก็เป็นคนของพรรคเพื่อไทย ประชุมพิจารณากัน กินเบี้ยเลี้ยง ค่าข้าว ค่าน้ำ ค่าแอร์ หมดไปไม่รู้เท่าไหร่ ถ้าไม่รับ ก็เท่ากับชกลม เสียเวลา เสียงบประมาณไปฟรีๆ
ขณะที่ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยในช่วงเช้า ก่อนที่จะมีประชุมสภาเพื่อโหวตกันในช่วงบ่าย ทางพรรคก็มีมติว่า จะโหวตรับรายงานผลการศึกษานี้ ส่วนพรรคร่วมอื่นๆ จะโหวตอย่างไร ปล่อยให้เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรคไป
จึงมีเสียงวิพากวิจารณ์ตามมาทันทีว่า พรรคเพื่อไทย กอดคอ จูบปาก กับพรรคประชาชน ผ่านรายงานฉบับนี้ เพราะ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ติดบ่วง 112 อยู่
สำหรับท่าทีของพรรคประชาชน ชัดเจนมาตลอดว่า ต้องการนิรโทษฯ คดี 112 โดยอ้างว่า จะได้ก้าวข้ามความขัดแย้ง ประเทศจะได้เดินหน้า เพราะคนที่โดนคดี 112 ส่วนใหญ่ เป็นเยาวชน ถูกยัดข้อหา ถูกกลั่นแกล้งในทางการเมือง
ถ้ารวมเสียงพรรคก้าวไกล (ประชาชน) กับพรรคเพื่อไทย แค่ 2 พรรค ก็เกินกึ่งหนึ่ง เหลือเฟือ
แต่ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์นั้น ชัดเจนว่า ไม่รับรายงานผลการศึกษาของ กมธ.ฉบับ เพราะเชื่อว่าจะถูกนำไปใช้เป็น “สารตั้งต้น” ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย และจะนำไปสู่ความแตกแยกในบ้านเมืองครั้งใหญ่ อีกครั้ง
ส่วน “พรรคพลังประชารัฐ” แม้จะถูกเขี่ยไปอยู่ฝ่ายค้าน ยังมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ไม่รับผลการศึกษานี้ เพราะเห็นว่าหากยึดเอามาเป็นหลักในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็จะมีผลกระทบรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ มากกว่าการแก้ไข มาตรา112 เสียอีก
ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดย“จาตุรนต์ ฉายแสง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนชัดเจนว่า ตอนนี้ ไม่ใช่วาระที่พรรคการเมือง จะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี เพราะที่ผ่านมา ก็เคยนิรโทษกรรม คดี 6 ตุลาฯ19 ซึ่งมีคดี มาตรา112 อยู่ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า นักศึกษาทำผิด มาตรา112 แต่ถูกกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย จึงได้รับการนิรโทษกรรม
ถ้ากลัวว่า นิรโทษกรรมแล้วจะทำผิดซ้ำ ขอให้ไปดูว่า ประชาชนไม่เคยทำผิดซ้ำ มีอยู่เรื่องเดียวที่ได้รับนิรโทษกรรมแล้วยังทำผิดซ้ำซาก คือ “การรัฐประหาร” ดังนั้น จึงไม่ต้องห่วงว่าประชาชนจะทำผิดซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ สภาฯควรแสดงความรับผิดชอบแก้ความขัดแย้งในสังคม ด้วยการนิรโทษกรรม “คดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง” ควรให้ความเห็นชอบ ข้อสังเกตของกมธ.ฯ เพื่อไปพิจารรณากฎหมายนิรโทษกรรม ก้าวข้ามความขัดแย้งในอนาคต
หลังจากฝ่ายหนุน ฝ่ายค้าน อภิปรายกันพอสมควร ก่อนที่จะลงมติก็เกิดดรามาขึ้นมาจนได้
เมื่อ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” ประธานในที่ประชุม ได้ขอให้สมาชิก ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับข้อสังเกตรายงานของกรรมาธิการฯ ฉบับนี้ ให้เสนอเป็นญัตติขึ้นมา เพื่อให้มีการลงมติ ทำให้ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียว สอนเชิงประธานฯ ว่า ตามข้อบังคับไม่จำเป็นต้องมีการเสนอญัตติ แค่ให้ที่ประชุมลงมติว่า จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับข้อสังเกตดังกล่าวเท่านั้น จะเสนอญัตติทำไม ถ้าทำไม่ได้ก็เปลี่ยนให้ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 มาทำหน้าที่แทน พร้อมกับชี้หน้าประธานฯ ทำให้ “พิเชษฐ์” สวนกลับด้วยน้ำเสียงไม่พอใจเช่นกันว่า “ไม่ต้องมาชี้หน้า อยากเป็นก็ให้ขึ้นมา”
จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติ ในข้อสังเกตรายงานการศึกษาของ กมธ. โดยไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 270 ต่อ 152 เสียง งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 ทำให้รายงานผลการศึกษานี้ตกไป
เมื่อไปเช็กดูผลโหวต ในส่วนของ สส.พรรคเพื่อไทยมีโหวตเห็นชอบ 11 คน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง , นายชูศักดิ์ ศิรินิล , นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ และยังมีอดีตก๊วนเสื้อแดงเก่า เช่น นายสุธรรม แสงประทุม, นายอดิศร เพียงเกษ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ เป็นต้น ส่วน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล เจ้าของญัตติ กลับโหวตงดออกเสียง