วันนี้(24 ต.ค.) ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี เขต 10 ได้ตั้งกระทู้ถาม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงการถ่ายโอนกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือ เนื่องจากปัญหาไฟฟ้าถือเป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ ในหลายครัวเรือน ยังไม่ได้รับการขยายเขตไฟฟ้า อีกทั้งยังประสบปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ อยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้พี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าบ่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผล ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ เป็นระยะเวลาหลาย 10 ปี และทางกระทรวงกลาโหมมีแนวโน้มว่าจะส่งคืนกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดูแล
นายสะถิระ กล่าวต่อว่า ปัญหาการถ่ายโอนกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอำเภอสัตหีบกว่า 300,000 ราย และก็เป็นปัญหาที่ตนได้ติดตามมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 สมัยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ถ้ามีการทำประชาพิจารณ์ว่า จะให้ขายกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือให้กับการไฟฟ้าภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ตนเชื่อว่ากว่า 80% ของประชาชนอำเภอสัตหีบ เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ตนทราบดีว่า กิจการไฟฟ้าของกองทัพเรือมีบุญคุณกับพวกเรา เมื่อปี พ.ศ.2483 ท่านสร้างโรงไฟฟ้ามา แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว
นายสะถิระ ยังกล่าวต่อว่า อำเภอสัตหีบประชากรหลาย 100,000 คน มีการให้บริการไฟฟ้าทั้งหมด 53,273 ครัวเรือน อำเภอสัตหีบ มีทั้งหมด 5 ตำบล ประกอบด้วยตำบลแสมสาร, ตำบลพลูตาหลวง, ตำบลสัตหีบ, ตำบลบางเสร่ และตำบลนาจอมเทียน อย่างเช่น ต.แสมสารมีแต่ไฟฟ้าชั่วคราวใช้ ต.นาจอมเทียน และบางเสร่ ก็ไฟดับ ไฟตก ทั้งนี้ กองทัพเรือมีหนังสือเลขที่ กห 0552/697 ลว. 7 มี.ค. 2567 ขอหารือและพิจารณาความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนการให้บริการไฟฟ้า ในส่วนของประชาชนภาคครัวเรือนจำนวน 53,273 รายไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ กฟภ. โดยได้ประเมินค่าสินทรัพย์ประกอบกิจการไฟฟ้า จำนวน 2,000 ล้านบาทและเงินชดเชยค่าสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้าที่ต้องสิ้นสุดก่อนครบกำหนดอายุสัมปทานในปี 2588 สำหรับส่วนของประชาชนภาคครัวเรือน จำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาท
“ผมจึงขอถามว่า กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแผนการดูแล รับผิดชอบต่อจากกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรืออย่างไร เมื่อมีการถ่ายโอน ขอทราบรายละเอียด”
นายสะถิระ กล่าวต่อว่า ตนยังกังวลอีก 2-3 ประเด็น เช่น ที่บ้านฉางมีการถ่ายโอน การไฟฟ้าภูมิภาคจ่ายไป 138 ล้านบาท เป็นการชำระค่าถ่ายโอน ไม่รวมค่าสัมปทาน ในกรณีที่เป็นค่าสัมปทาน ซึ่งจะหมดปี พ.ศ. 2588 โดยกองทัพเรือได้ต่ออายุสัมปทานกับคณะกรรมการกิจการพลังงาน หรือ กฟภ.ในปี 2563 โดยเป็นการต่อไป 25 ปี โดยกองทัพเรือให้การไฟฟ้าภูมิภาคชำระปีละ 200 ล้าน รวมเป็น 4,000 ล้านบาท เงินตรงนี้คือ เงินภาษีประชาชนทั้งประเทศ เหมือนการย้ายกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ประเด็น 2,400 ล้านบาท เป็นทรัพย์สินที่กองทัพเรือได้สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2483 แต่สัญญาสัมปทานปีละ 200 ล้าน คือภาษีประชาชน ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูแลการไฟฟ้าภูมิภาค จะเจรจาต่อรองอย่างไร เพราะทุกบาทเป็นภาษีของพี่น้องประชาชน
ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ และสถานีรถไฟฟ้าอีก 3 สถานี นายสะถิระ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่ากองทัพเรือจะถ่ายโอนให้กับการไฟฟ้า ภูมิภาคด้วยหรือไม่ ตนเข้าใจว่า การไฟฟ้าภูมิภาคคงกังวลในเรื่องของผลกำไรอยู่ที่จะต้องมาบริหาร ดังนั้น งบประมาณที่จะรับการถ่ายโอนไม่ว่าจะเป็น 2,400 ล้านที่เป็นทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งค่าสัญญาสัมปทานของท่านจะหาอย่างไร และบุคลากร ซึ่งสมัยก่อนบ้านฉางเขารับถ่ายโอนบุคลากรไปด้วย แต่บุคลากรของกองทัพเรือ ท่านจะสามารถถ่ายโอน ไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทยอย่างไร
ด้านนายทรงศักดิ์ ตอบชี้แจงว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ยินดีที่จะรับการถ่ายโอนกิจการไฟฟ้า เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ซึ่งการรับโอนเป็นเรื่องของหลักเกณฑ์ที่ได้พูดคุยกันจบเรียบร้อย ไม่มีใครได้เปรียบ เสียเปรียบ มีแต่ประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาของคณะทำงาน ซึ่งจะมีการเร่งรัดทำให้เร็ว และคาดหมาย เบื้องต้นในเดือน ธันวาคม 2567 จะได้ข้อสรุป