กมธ.สันติภาพจชต. ฝากทภ.4-สมช. เข้มชุมนุม-เหตุรุนแรง หลังคดีตากใบหมดอายุความส่อจับใครไม่ได้ ยึดเป็นธรรม-เคารพสิทธิ-ดูแลขั้นคุมตัว อย่าให้ซ้ำรอย มทภ.4 รับจนท.พลาดไม่อยากให้เกิด อาศัยช่องโหว่เคลื่อนไหว ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเปิดความจริง สมช.เล็งฟื้นคุยสันติสุขชุดใหม่ เปิดพื้นที่แสดงออก เผยมาเลย์จริงจังมากรอบหลายปี
วันนี้ (24ต.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางส่งเสริมการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมกมธ.ฯ กรณีคดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความในวันพรุ่งนี้(25ต.ค.) ว่า กมธ.ฯได้เชิญ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แต่รองนายกฯมอบหมายนายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) มาชี้แจงแทน รวมถึงพล.ท.ไพศาล หนูสังข์แม่ทัพภาคที่4 ในฐานะผอ.กอ.รมน.ภาค4(ส่วนหน้า) มาชี้แจง โดยเราได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการช่วยติดตามแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากคดีตากใบกำลังจะหมดอายุความ และอาจจะไม่สามารถดำเนินคดีกับใครได้เลย แต่จะหาทางสร้างสันติภาพ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ด้านแม่ทัพภาคที่4 ชี้แจงยอมรับว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่มีใครอยากต้องการให้เกิดขึ้น และฝ่ายตรงข้ามพยายามอาศัยความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ จึงต้องการใช้กระบวนการยุติธรรมเปิดเผยความจริง นอกจากนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมาย ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่2รายในคดีที่ยังอยู่ในราชการ กำลังพยายามติดตามตัวให้มาต่อสู้คดีในศาลฯ รวมถึงกำชับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมาย
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมธ.ฯยังมีความกังวล ที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่48 ไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่เป็นโจทก์ในคดีนี้บางคน ที่ยื่นฟ้องคดีตากใบในอ.สุไหงปาดี และอ.เจาะไอร้อง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกถูกคุกคาม จึงขอความร่วมมือจากกองทัพภาคที่4 รับรองความปลอดภัย และยุติปฏิบัติการเหล่านั้น ทางรักษาการราชการแทนเลขาฯสมช. ก็รับปากจะพยายามไปสื่อสารไม่ให้เกิดขึ้นอีก ขณะเดียวกันกมธ.ฯได้สอบถามกองทัพภาคที่4มีการเตรียมการรับมือกับการจัดการฝูงชนเพื่อควบคุมประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียผิดพลาดในอนาคต ทางพล.ท.ไพศาล ชี้แจงว่า หน้าที่หลักในการควบคุมประชาชนในที่ชุมนุม เป็นหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่ได้รับการอบรมเรื่องการควบคุมดูแลฝูงชน ซึ่งตนให้ข้อสังเกตไปว่า การดำเนินการที่มีหลายหน่วยงานสนธิกำลังกัน จะมีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบว่าใครเป็นผู้คุมสถานการณ์หลัก ใครเป็นผู้รับผิดชอบ หรือใครจะชี้แจงกับสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเชื่อถือกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงฝากแม่ทัพภาคที่4ไปพิจารณาปรับปรุงเรื่องเหล่านี้เพื่อให้การใช้กระบวนการยุติธรรมเกิดความยุติธรรม
ประธานกมธ.ฯสันติภาพฯชายแดนใต้ กล่าวอีกว่า ส่วนทางเลขาสมช. ชี้แจงว่า ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลได้กล่าวคำขอโทษ และได้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามดำเนินการติดตามตัวอย่างเต็มที่ กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไประดับหนึ่ง โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม มีข้อสั่งการให้เฝ้าระวังการก่อเหตุ ติดตามตัวผู้กระทำผิด และยกระดับการเตรียมการเพื่อรับมือการชุมนุมโดยเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ รักษาความปลอดภัย และป้องกันมือที่สาม และเตรียมมาตรการ4ด้าน หลังวันที่25ต.ค.เป็นต้นไปที่คดีหมดอายุความ ได้แก่ 1.สถานการณ์น่าจะมีการก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เข้มข้นมากขึ้น 2.กำชับหน่วยปฏิบัติให้มีการดำเนินการตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เคร่งครัด ห้ามซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย 3.เยียวยาทางจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ตากใบนอกเหนือจากที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ และ4.รัฐจะเดินหน้าขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า โดยเฉพาะกระบวนการพูดคุยฯ ทางสมช.จะเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งภาครัฐยินดีเปิดพื้นที่แสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ทางผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยฝ่ายมาเลเซีย มีความจริงจังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายปีที่ผ่านมา และฝ่ายไทยกำลังพิจารณาลดการใช้กฎหมายพิเศษ และอาจมีการออกกฎหมายอื่นมาใช้แทนที่การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการแยกกลุ่มผู้เห็นต่างเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมตามลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะคืนสู่สังคม หรือผู้ต้องขัง ควรได้รับการปฏิบัติ หรือการดูแลอย่างไร ตนในฐานะประธานกมธ.ฯ จึงฝากความเห็นว่า ควรต้องรีบสรุปประเด็นจากเหตุการณ์ตากใบที่ผ่านมา ตั้งแต่ขึ้นตอนการควบคุมการชุมนุม หรือการดูแลผู้ชุมนุม การดำเนินคดีให้เกิดความยุติธรรม เพราะผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ เป็นบาดแผลสำคัญของสังคมไทยอย่างร้ายแรงมากยิ่งขึ้น และอาจไม่สามารถดำเนินคดีใครได้เลยก่อนที่คดีจะหมดอายุความ ที่สำคัญต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชน เพื่อฟื้นความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมกลับมา ทั้งนี้ ในโอกาสต่อไป กมธ.ฯจะเชิญหน่วยงานความมั่นคงมาชี้แจงแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระบวนการพูดคุยสันติภาพฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลสดใหม่มาประกอบในรายงานของกมธ.ฯให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น