xs
xsm
sm
md
lg

“อิทธิ” เผย รบ.ใช้ One Map แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน สำรวจไปแล้วกว่า 18 จังหวัด 90 อำเภอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (24 ต.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้ถาม นายประเสริฐ บุญเรือง สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ที่ถามถึงปัญหาเรื่องที่ดินทำกินว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวคิดเรื่องนี้อย่างไรที่จะยกเลิกพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 7 เล่มที่ 95 ตอนที่ 107 ลงวันที่ 2 ต.ค พ.ศ. 2521 เพราะปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานหรือการขยายตัวของชุมชน และมูลค่าเพิ่มของทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรที่ดิน แต่ไม่สามารถที่จะออกโฉนดเป็นเจ้าของที่ดินและครอบครองได้ เพราะติดปัญหาที่กฤษฎีกาครอบเอาไว้อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน จึงอยากทราบว่ากระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการอย่างไร

โดย นายอิทธิ กล่าวชี้แจงว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน บริบทมีการเปลี่ยนแปลงไป กฎหมายต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับที่ดินทำกิน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.ใช้มาหลายปีแล้ว จึงมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาถึงการปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจนขึ้น จะต้องแก้ไขจุดบกพร่องที่นำมาซึ่งปัญหาที่คาราคาซังมาหลาย 10 ปี เพื่อหาทางออกให้กับพี่น้องประชาชนที่อาจจะไม่ได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งในสมัยก่อนมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมทั้งอำเภอ เพื่อจะทำให้การสำรวจที่ดินของ ส.ป.ก. สามารถทำได้ง่ายคล่องตัวและครอบคลุมพื้นที่

นายอิทธิ กล่าวต่อว่า สำหรับราษฎรที่มีเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน ส.ป.ก.ก็จะไม่เข้าไปดำเนินการในที่ดินแปลงดังกล่าวของราษฎร และ ส.ป.ก.ยังมีหน้าที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงแนวเขตพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน และจะเป็นการปรับปรุงข้อมูลที่ดินบางส่วนที่ไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้ เช่น ที่ดินที่มีโฉนด ที่ดิน น.ส.3 หรือแม้กระทั่งภูเขาที่มีความลาดชัน คงเหลือแค่ที่ดินที่สามารถเข้าไปดำเนินการได้เท่านั้น

ดังนั้น เจ้าของที่ดินที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนการประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน ทำการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินของและทำประโยชน์ในที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินได้ และการออกโฉนดที่ดินในเขต ส.ป.ก.ต้องไปต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ข้อ 14 และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฏหมาย โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้ ไม่เป็นที่ดินต้องห้าม มิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน 5 ประเภท คือ 

1. ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ หรือชายทะเล
2. ที่ภูเขาและพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศห้ามตามมาตรา 19(2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
3. ที่เกาะ ยกเว้นที่ดินของผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์
4. ที่สงวนห้ามตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน หรือกฎหมายอื่น เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ
5. ดินที่คณะมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

“ผมเข้าใจท่าน สส.ประเสริฐ บุญเรือง ว่า ทำไมท่านจึงเดือดเนื้อร้อนใจแทนพี่น้องจังหวัดกาฬสินธุ์ ผมก็เคยเป็น สส.แบบแบ่งเขตเหมือนท่านมา 5 สมัย จึงเข้าใจหัวอกของการเป็นผู้แทนอย่างดี กรณีที่มีพื้นที่ที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ต่อมามีหน่วยงานรัฐเข้ามาบอกว่ามีการลุกล้ำที่ดินของราษฎร ก็ย่อมเกิดความไม่สบายใจ
จึงอยากขอความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินทำกินให้กับพี่น้องเกษตรกรของท่าน” นายอิทธิ กล่าว

นายอิทธิ กล่าวต่อด้วยว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่ สส.ได้กล่าวมา จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้น ตนจะเร่งมอบหมายให้ ส.ป.ก.ซึ่งสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานหน่วยงานรัฐที่สังกัดกระทรวงอื่น เร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว ที่ผ่านมา เราประสบปัญหาในการจำแนกที่ดินของพี่น้องประชาชนจริงตามที่ท่านตั้งกระทู้ไว้ เนื่องจากการทำแผนที่ในรุ่นเก่าใช้อัตราส่วนในสมัยก่อนนั้น หากมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ก็ทำให้แนวเขตคลาดเคลื่อนไปเป็นหลักกิโล

“ขณะนี้นี้รัฐบาลกำลังเร่งทำการปรับปรุงแผนที่ แนวเขตที่ดินของรัฐ และบูรณาการในมาตราส่วน 1 ต่อ 4000 หรือที่เรียกกันว่า One Map โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วจำนวน 3 กลุ่ม 18 จังหวัด 90 อำเภอ และในกลุ่มที่ 4 ที่ประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการสำรวจเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอ ครม.ให้เห็นชอบ หากเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น ก็จะเร่งเสนอพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ที่มีผลในการปรับปรุงแนวเขตการดำเนินงานปฏิรูปที่ดิน และยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับเก่าที่อ้างอิงจากที่ท่านถามกระทู้ ซึ่งมีผลทำให้แนวเขตดำเนินการของ ส.ป.ก.จะลดลงชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินก็จะสามารถเข้าไปดำเนินการกับกรมที่ดินต่อไปได้ จะไม่ติดปัญหาว่าพระราชกฤษฎีกาของ ส.ป.ก.เข้าไปควบคุมเหมือนอดีต” นายอิทธิ กล่าวทิ้งท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น