xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.การเมือง สว. ถกปมตากใบก่อนหมดอายุความ ไร้เงาทหาร "อังคณา" แนะฟ้องศาลระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.พัฒนาการเมือง สว. เชิญฝ่ายเกี่ยวข้องแจง “ตากใบ” ก่อน 3 วันหมดอายุความ ไร้เงาทหารร่วม “อังคณา” งง ครม.ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ ทำไมบอกไม่ทัน หวังหยุดอายุความ ตามจำเลยขึ้นศาลก่อน ชี้ ช่องสุดท้ายฟ้องศาลระหว่างประเทศ มีมูล “ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ” ฝากรบ.อย่าโยนวาทกรรมใส่ผู้เสียหาย กังวลความไว้เนื้อเชื่อใจที่สร้างสูญหาย



วันนี้ (22ต.ค.) ที่ประชุม กรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้มีการประชุมเรื่องคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความอีก 3 วัน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9 , กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า , สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานอัยการภาค 9 รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งผู้มาชี้แจงใน กมธ. มีเพียงตำรวจภูธรภาค 9 และตัวแทนสำนักงานอัยการมาเท่านั้น

นางอังคณา นีละไพจิตร ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า เรื่องนี้ รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ เพราะวันนี้มีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และวันพฤหัสบดีนี้ สภาก็ยังประชุมอยู่ ยังสามารถขอเสนอ พ.ร.ก. ได้ เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ได้ฟังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม บอกว่าทำไม่ทัน ส่วนตัวมองเห็นว่าถ้าทำจริงก็น่าจะทัน เพราะตรม.สามารถออกพรก.ในกรณีเร่งด่วนได้เองอยู่แล้ว จึงก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ทัน เป็นเรื่องของการขยายอายุความ อาจจะไม่ใช่ขยาย แต่ให้อายุความหยุดอยู่ตรงนี้ก่อนจนกว่าจะสามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้

“เรื่องนี้มันเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหายว่ารัฐบาล สามารถขยายถึงหยุดอายุความไว้ก่อนได้หรือไม่ พวกเขาจะได้รับความยุติธรรม แต่หากประตูตรงนี้ปิด คดีก็จะหมดอายุความ”

เมื่อถามว่าเมื่อหมดอายุความไปแล้ว ทุกคนก็จะถือว่าพ้นผิดไปเลยใช่หรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า ก็เหมือนจะเป็นอย่างนั้น เหมือนกับคดีกรือเซะ การเสียชีวิตของประชาชน 31 คนในมัสยิดถือว่าหมดอายุความไปแล้ว ซึ่งกรณีนั้นผู้ก่อเหตุก็ได้รับโทษ แต่คดีตากใบนี้ เป็นการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ จริงๆ เป็นความรับผิดชอบของรัฐโดยที่ไม่อาจปฏิเสธได้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าทางออกสุดท้ายในการสู้คดีนี้คืออะไร นางอังคณา ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าถ้ากลไกในประเทศไม่ทำงาน ประชาชนก็สามารถที่จะฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศได้ ซึ่งจะมีกลไกอยู่ และเมื่อศาลรับฟ้องหรือมีคำพิพากษาแล้ว บุคคลเหล่านั้นจะไม่สามารถเดินทางเข้าไปยังประเทศนั้นๆ ได้ เพราะเข้าไปก็จะถูกจับกุม แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำคดีเหล่านี้มากนัก อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ต้องมาศึกษาเพิ่มเติม อีกประเด็นหนึ่งคือ การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากอาจจะเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

“ที่ผ่านมาทุกคนมักจะตั้งคำถามและโยนความผิดให้ผู้เสียหาย แต่ที่จริงแล้วคดีอาญาแผ่นดินไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องเอง แต่คดีอาญาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของอัยการ พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวน ฟ้องร้องแทนประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนผู้เสียหายที่จะลุกขึ้นมาฟ้องเอง” นางอังคณา กล่าว

ส่วนประเด็นที่สังคมมองว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เสียหายยังไม่ได้รับความเป็นธรรม นางอังคณา กล่าวว่า มันเกิดความเปรียบเทียบไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ แต่เป็นทั่วประเทศ ว่าเวลาประชาชนทำผิด ประชาชนต้องถูกลงโทษ มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ แต่เวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด แทบจะไม่เคยจับกุมผู้กระทำความผิดได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่เกิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นพื้นที่เปราะบาง มีความอ่อนไหวและยังเกิดความรุนแรงอยู่ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นความขัดแย้งทางอาวุธ แต่ในทางสากล การใช้ความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานาน ถือว่าเข้าข่ายความขัดแย้งในการใช้อาวุธ เพราะมีความขัดแย้งกันจากเรื่องชาติพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎหมาย ประการแรก กรณีความผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จะต้องไม่มีอายุความ , ประการที่สอง คือขยายนิยามของคำว่าผู้เสียหายให้กว้างขึ้น

เมื่อถามว่าหากวันที่ 25 ต.ค.นี้ ยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหามาได้ครบ ประเมินสถานการณ์อย่างไร นางอังคณา กล่าวว่า ส่วนตัวก็กังวลจริงๆ เพราะเราอยู่กับเหตุการณ์นี้มาตลอด 20 ปี เราก็บอกไปว่าความไว้เนื้อเชื่อใจที่มันกำลังริเริ่มขึ้น และมีมาในระยะหนึ่งอาจจะหมดไป เมื่อคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งใช้การต่อสู้ด้วยความรุนแรง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ทุกฝ่ายเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่เราก็ปล่อยให้โอกาสในการพิสูจน์ความจริงในศาลหมดไป ถ้าไม่สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏตัวหน้าศาลได้ คงหลีกเลี่ยงยากในการที่จะเกิดความรุนแรงตามมา ส่วนตัวก็ได้แต่พูดว่าเสียดายความไว้เนื้อเชื่อใจที่เคยมีที่อาจจะหมดไป

เมื่อถามว่าอยากจะฝากอะไรถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่พรรคประชาชาติก็ทำพื้นที่ภาคใต้ และนั่งเป็นหัวหน้าดูเรื่องนี้โดยตรง นางอังคณา กล่าวว่า “ท่านรัฐมนตรียุติธรรม เราก็ได้เห็นความพยายามของท่านมาโดยตลอด แต่ว่าหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงอื่น หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีการสนับสนุน ส่งเสริมที่จะทำให้มีการพิสูจน์ความจริง เช่น กรณีที่ศาลออกหมายจับแล้ว กลับปล่อยให้คนหายไปไหนตั้ง 7-8 คน โดยที่ไม่รู้มีข่าวว่าคนหนึ่งอยู่อังกฤษ อีกคนอยู่ญี่ปุ่น แล้วที่เหลือไปไหน ตรงนี้ก็เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างมากและตรงนี้เราจะคืนความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างไร”

นางอังคณา กล่าวทิ้งท้ายว่า จากรายงานการศึกษา ทุกฉบับพูดถึงปัญหาภาคใต้ว่าเกิดจากความรู้สึกไม่เป็นธรรม แล้ววันนี้ประเทศไทยกำลังสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นมาอีก ที่สำคัญอีกประการที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล คือรัฐบาลต้องหยุดในการที่จะสร้างวาทกรรมในการโยนความผิดให้ผู้เสียหาย เราจะเห็นหน่วยงานรัฐบางหน่วยพยายามที่จะพูดว่ากรณีตากใบเป็นการจัดการ เป็นกระบวนการ เป็นการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อให้เกิดการชุมนุม แต่สิ่งที่ กมธ.เองหรือทุกฝ่ายพูดในวันนี้คือใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของคน 78 คน ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน ไม่ว่าเขาจะมีความเชื่อแบบใด บุคคลเหล่านั้นต้องไม่ตาย ไม่ต้องมาเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น