วันนี้ (22 ต.ค.) นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งเร่งสำรวจพื้นที่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม อย่างละเอียดและโปร่งใส เพื่อเยียวยาเกษตรกรให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้ตามปกติต่อไป ล่าสุดได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร วางแนวทางการป้องกันการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืช และเชื้อรา หลังน้ำลด พร้อมกับเร่งให้หน่วยงานในพื้นที่ ระดมกำลังเพื่อเร่งสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ได้รับความเสียหายจากมวลน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และสุโขทัย
“กระทรวงเกษตรฯ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิด บูรณาการบริการจัดการน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร”นายเอกภาพ กล่าว
ทั้งนี้ สรุป
สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 ต.ค. 67 เวลา 7.00 น.พบว่ายังมีสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่
-พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ และบางไทร)
-สุพรรณบุรี (อ.บางปลาม้า อู่ทอง และสองพี่น้อง)
-นครปฐม (อ.นครชัยศรี บางเลน และสามพราน)
ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือที่จ.อุทัยธานี (87 มม.) ภาคตะวันออกที่จ.ตราด (86 มม.) ภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร (80 มม.) ภาคใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช (48) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จ.ขอนแก่น (36 มม.) ภาคตะวันตก ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (28 มม.)
คาดการณ์ช่วงวันที่ 23 - 27 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้
พายุดีเปรสชันบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “จ่ามี” (TRAMI) แล้ว คาดว่า
จะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงวันที่ 23 – 24 ต.ค. 67
สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 80% ของความจุเก็บกัก (64,717 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 70% (40,520 ล้าน ลบ.ม.)
ด้านกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ณ 07.00 น.
สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,646 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 19 ซม. แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 3.82 ม.
สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,300 ลบ.ม/วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับน้ำท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 4.24 ม.
เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จึงต้องปรับเพิ่มการระบายจาก 1,300 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,350 ลบ.ม./วินาที ภายในเวลา 11.00 น. วันนี้ (22 ต.ค.67)
สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 972 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย