นายกฯ ชู “ซอฟต์พาวเวอร์” เครื่องยนต์ใหม่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจพุ่งทะยานในทศวรรษหน้า ยกระดับเทศกาล “มหาสงกรานต์-ลอยกระทง-ผีตาโขน-แห่เทียนพรรษา-บุญบั้งไฟ” เป็น Festival country เที่ยวได้ทั้งปี สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นคนไทยทุกคนไม่ยากจน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ต.ค. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม 2-3 โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปอย่างไรให้มีพลัง” ในงานเสวนา เดลินิวส์ ทอล์ก 2024 (Dailynews Talk 2024) “Soft Power: โอกาสประเทศไทย”
โดย นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวในวันนี้
ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งการจะยกระดับให้เป็นประเทศรายได้สูง คงไม่ใช่เรื่องง่าย และด้วยปัจจัยเรื่องความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพของการศึกษา และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งรัฐบาลเชื่อมั่นว่าซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้พุ่งทะยานภายในทศวรรษหน้า และจะเป็นนโยบายที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้หลายสิบล้านคน ทั้งนี้ ประเทศไทย เราร่ำรวยด้วยทุนวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ ขายได้ พัฒนาได้ ทำให้ชาวต่างชาติหลงใหลได้ไม่ยากอยู่แล้ว และดิฉันเชื่อมั่นว่า คนไทยเก่ง มีศักยภาพ มีทักษะสร้างสรรค์ที่รอโอกาสในการพัฒนา
นายกฯ กล่าวต่อว่า ดังนั้น หัวใจสำคัญของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ คือ การพัฒนาแรงงานทักษะต่ำ ให้เป็นแรงงานทักษะสูง แล้วเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการจากทักษะสูง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดด้วยนวัตกรรม สร้างแบรนด์ดิ้งที่มีเรื่องเล่า ให้คนทั่วโลกได้เข้าใจและเห็นคุณค่า การต่อยอดเพิ่มเติมทักษะเดิมที่มีอยู่แล้ว (Up-skill ) และการฝึกอบรมสร้างทักษะใหม่ (Re-skill) เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานราชการ นักวิชาการมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน แรงงาน ก็พูดคำนี้อยู่ตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมา มักทำกันแยกส่วน ยังไม่มีการบูรณาการกันเป็นระบบอย่างจริงจัง ซึ่งการทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ครั้งนี้ภายใต้โครงการ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ OFOS-One Family One Soft Power เราจะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันขับเคลื่อน ออกแบบหลักสูตรการอบรมที่ใช้ประกอบอาชีพได้จริง ทั้งการอบรมในสถานที่ออนไซต์และการอบรมออนไลน์ ทุกคนเรียนได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ทำให้การยกระดับศักยภาพระดับทักษะจากขั้นต่ำ ไปสู่ขั้นกลาง และขั้นสูงอย่างไม่มีข้อจำกัดและให้เข้าถึงง่ายที่สุด
นายกฯ กล่าวอีกว่า โดยเป้าหมายของเรา คือ ทำให้คนไทยสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทุกสาขาได้ ยกระดับสินค้าและบริการจากวัฒนธรรมไทย ให้มีคุณภาพมากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น มีเสน่ห์มากขึ้น ทำให้ไม่ต้องกังวลในการแข่งขันเรื่องราคากับผู้ผลิตสินค้า
ที่มีข้อได้เปรียบในการผลิตจำนวนมาก หรือ Economy of scale ตัวอย่างเช่น “Korakot” แบรนด์ประติมากรรมไม้ไผ่จากภูมิปัญญาไทย เขาสานด้วยไม้ไผ่เป็น โคมไฟ เป็นของตกแต่ง เป็นเฟอร์นิเจอร์ ที่สวยงาม ใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่เล่นแสงและเงาอย่างโดดเด่น ซึ่งประสบความสำเร็จมากในเวที ทั่วโลกจนแบรนด์หรูของฝรั่งเศส จ้างแบรนด์ Korakot ทำ window backdrop ให้กับคอลเลกชันปัจจุบัน นี่คือ ภาพที่รัฐบาลอยากเห็นการพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ไปให้ถึงระดับโลก เราอยากยกระดับช่างศิลป์ทุกคน ทุกท้องถิ่น ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ ใช้ทักษะสร้างสรรค์แบบนี้ไปให้ถึงระดับโลก เพราะตลาดโลกกว้างใหญ่ ไร้พรมแดน ไม่มีขอบเขตจำกัด
นายกฯ กล่าวด้วยว่า อย่างอุตสาหกรรมอัญมณีไทยที่เติบโตจากหลักหมื่นล้านเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นกว่า 500,000 ล้าน ในปัจจุบัน และยังสามารถเติบโตได้อีกหลายเท่า แต่ขาดแคลนช่างอัญมณีจำนวนมาก เพราะไม่มีการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ ขาดแรงงานทักษะสูงจนต้องแย่งตัวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากในการเสียโอกาส เพราะขาดแรงงานที่มีศักยภาพตรงนี้มากเลย นอกจากนั้น เราต้องไม่เพียงเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีของโลก เท่านั้น เรายังจะผลักดันให้มีอัญมณีที่เป็นแบรนด์ไทยให้มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับในระดับโลกอีกด้วย ทั้งนี้ จากที่ดิฉันได้ไปประชุม ACD รวมถึง ASEAN ที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความสนใจในวัฒนธรรมของไทยมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารไทย ซึ่งแต่ละชาติก็มีความสนใจแตกต่างกันไปค่ะ
นายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับวงการอาหาร เราต้องเปลี่ยนประเทศไทย จากเกษตรกรรมที่ส่งออกพืชผล สู่อุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ นอกจากเราจะผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ให้มีร้านอาหารไทยที่มีรสชาติแท้ และใส่ความคิดสร้างสรรค์ในทุกจานไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีถนอมอาหารที่เก็บได้นาน 2 ปี เติมนวัตกรรมอาหารด้วย Food Lab ที่ช่วยรักษารสชาติ และกลิ่นของอาหาร ยกตัวอย่างที่โด่งดังมากในอเมริกา คือ ขนมครกแช่แข็ง ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ขายดีมาก จนสร้างกระแสไวรัล เพราะสามารถคงรสชาติของขนมครกไว้ได้ดี ด้วยการใช้นวัตกรรมถนอมอาหาร อย่างเช่น อาหารอิตาลีที่ครองใจคนทั่วโลกในเวลานี้ ทุกประเทศมีร้านอาหารอิตาลี ทุกซูเปอร์มาร์เก็ตมีอาหารอิตาลีแช่แข็งขาย ทั้งพิซซ่า และ พาสต้า ซึ่งเราเชื่อว่า อาหารไทยพร้อมทานเช่น ต้มยำกุ้ง พะแนงเนื้อ ผัดกะเพรา ต้มข่าไก่ จะทำให้ต่างประเทศรู้จักเรามากยิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้นวัตกรรมด้านถนอมอาหาร ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีรีทอร์ท การทำอาหารแช่แข็ง การยืดอายุอาหาร การคงความสดของอาหารเอาไว้ มีราคาถูกลงมาก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้คือโอกาสใหม่ของอาหารไทย หากลองนึกภาพว่า ถ้าเรามีโรงสีข้าวในชุมชนได้ เราก็สามารถมีนวัตกรรมถนอมอาหารแบบเครื่องรีทอร์ทในชุมชนซึ่งจากการวิจัยของสถาบันอาหาร
ราคาเครื่องเหลือเพียงไม่กี่แสนได้เหมือนกัน ชุมชนไหนที่มีเมนูเด็ด จะสามารถเพิ่มมูลค่าของเมนูอาหารท่องถิ่นที่สามารถส่งออกได้ทั่วโลกมากมาย จึงต้องเร่งทำ เพราะความมั่นคงทางอาหารจะเป็น แหล่งรายได้ และมีความสำคัญสำหรับโลกในอนาคต
นายกฯ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังมีโอกาส ในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Wellness) เพราะเทรนด์ทั้งโลกหันมาสนใจ การอยู่ดีมีสุข สุขภาพกายและใจที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ธุรกิจนี้กำลังเติบโตมากทั้งโลก และรวมถึงบ้านเราซึ่งประเทศไทยเรามีครบวงจร เรื่องอาหารสุขภาพ สมุนไพรไทยเรามีภูมิปัญญาซึ่งเป็นมรดกโลกอย่างการนวดไทย มีมวยไทยสำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและยังโด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงความแข็งแกร่งทางการแพทย์ของประเทศไทยทำให้ประเทศไทยมีโอกาสอย่างมากในอุตสาหกรรม Wellness ซึ่งต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการท่องเที่ยวด้วย Human made tourism ซึ่งเราจะยกระดับเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาสงกรานต์ ลอยกระทง หรือระดับท้องถิ่น เช่น ผีตาโขน แห่เทียนพรรษา และบุญบั้งไฟ เสริมภาพลักษณ์ Festival country ประเทศที่สามารถเที่ยวได้ทั้งปี มีเทศกาลใหม่ให้มาเที่ยวได้เสมอ ซึ่งจะสร้างเศรษฐกิจเทศกาล ให้หมุนเวียนอย่างมากมายในทุกท้องถิ่น รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่สำหรับการจัดเทศกาลดนตรีระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ ทั้งหมดนี้คือโอกาสของประเทศไทยในกรอบของคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เราจะยกระดับชีวิตของพี่น้องประชาชนตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประชาชนกับรัฐบาล เราคือหุ้นส่วนประเทศไทยร่วมกันค่ะหุ้นส่วนประเทศไทยจะช่วยกันพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรือง เป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้สูง และคนไทยทุกคนไม่ยากจนอีกต่อไปเมื่อพี่น้องประชาชนพัฒนาศักยภาพทักษะของตัวเอง ยกระดับรายได้และฐานะให้ร่ำรวยรัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นตามไปด้วย ภาษีที่เก็บได้จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองขึ้นไปอีกมาทำงานร่วมกันเพื่อประเทศที่เรารักของเราทุกคนกัน” นายกฯ กล่าว.