xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเริ่มรวน พรรคร่วมปริร้าว !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

หลังจากมีการเปิดเผยออกมาจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าได้นัดพรรคร่วมรัฐบาล ร่วมรับประทานอาหารในวันจันทร์ 21 ตุลาคมนี้ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ต้องมีการหารือกันหลายเรื่อง ท่ามกลางปัญหาภายในหลายอย่างที่เริ่มก่อตัวขึ้นมา หากไม่หาทางสกัดเอาไว้ก่อน อาจทำให้ทุกอย่างบานปลายก็เป็นไปได้สูง

ที่ผ่านมาเริ่มเห็นร่องรอยปริร้าวภายในรัฐบาลขึ้นมา เริ่มจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่เชื่อมโยงไปถึงความผิด มาตรา112 รวมไปถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ล่าสุดพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มมีความเห็นแตกต่างอย่างชัดเจน โดยหลายพรรคไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษ “เหมาเข่ง” หรือ นิรโทษความผิด มาตรา 112 รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องไม่แตะต้องใน หมวด 1 และ หมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งต่อมาก็มีการเลื่อนการพิจารณารายงานกรรมาธิการออกไป

สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีท่าทีชัดเจนก็คือ พรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ฟากฝ่ายค้าน ก็มีพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีท่าทีชัดเจนนัก

แต่ก่อนหน้านั้นก็เริ่มเห็นร่องรอยบางอย่างกับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค หลังจากมีมติของวุฒิสภาที่สวนทางกับทางสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับ ร่าง พระราชบัญญัติการทำประชามติ ต้องการให้มีเสียงข้างมาก “สองชั้น” นั่นคือ ต้องมีเสียงข้างมากเกินครึ่งจากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และต้องมีเสียงข้างมากจากจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรใช้เสียงข้างมากธรรมดา

ที่บอกว่าเริ่มเห็นรอยปริร้าวขึ้นมาก็คือ หากพิจารณาจากมติของวุฒิสภา ที่มีการเชื่อมโยงให้เห็นภาพของ “สว.สีน้ำเงิน” และหลังจากนั้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา ก็มี ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนการ “ล็อกสองชั้น” ดังกล่าว และตามมาด้วยการ “งดออกเสียง” ทั้งพรรค

จากนั้น ก็มีข่าวความเคลื่อนไหว นายเนวิน ชิดชอบ ผู้นับสนุนคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ที่สังคมเข้าใจว่า เป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

ที่น่าจับตาก็คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังส่อเค้าว่าจะลากยาว จนอาจไม่ทันในวาระของรัฐบาล และสภาชุดนี้ เนื่องจากมีเวลาเหลือแค่สองปีเศษเท่านั้น และร่างกฎหมายการทำประชามติ ก็ยังมีอุสรรคทำให้อาจเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในต้นปีหน้าอีกด้วย เพราะการทำประชามติ ถือว่าเป็นการเปิดประตูบานแรก ไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง แต่เมื่อด่านแรกสะดุด ทำให้เกิดผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่

เมื่อวกกลับมาถึงวงหารือของพรรคร่วมรัฐบาลวันที่ 21 ตุลาคม ที่คราวนี้พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ ทำให้เชื่อว่าต้องมีรายการ “เคลียร์ใจ” กันให้ตกผลึก เพื่อสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลให้มั่นคงขึ้น

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีวงดินเนอร์พรรคร่วมฯ วันที่ 21 ต.ค.นี้ จะมีการพูดคุยเรื่อง กม.นิรโทษกรรมหรือไม่ ว่านักการเมืองเจอกัน ก็ไม่พ้นคุยเรื่องการเมือง ทานข้าวเสร็จก็มาคุยเรื่องการบริหารประเทศ และปัญหาของประชาชน ไม่อยากให้คิดว่ามาคุยเรื่องลับอะไร

ถามว่า สับสนหรือไม่เพราะตอนตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมเห็นพ้องกัน แต่พอเสนอรายงานพรรคร่วมฯ กลับเป็นฝ่ายไม่รับเอง นายประเสริฐกล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของสส. หลายเรื่องที่เข้าไปในสภาก็เคยมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน จึงไม่อยากให้มองเป็นเรื่องแปลก เพราะต่างฝ่ายก็มีความหวังดี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตามที่ตนได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วในการประชุมวาระเรื่องรับทราบรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยเห็นแล้วว่าในพรรคร่วมรัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านการรวมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์รวมอยู่ในการได้รับการยกโทษให้นิรโทษกรรม เนื่องจากมองว่าไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง และเป็นคดีหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ เป็นความผิดร้ายแรง ไม่สมควรได้รับการยกความผิดนิรโทษกรรมให้อย่างเด็ดขาด ควรดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นายธนกร กล่าวว่า ส่วนที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์สื่อโดยแสดงความคิดเห็นมองว่า สส.บางพรรคยังไม่เข้าใจ หรืออาจจะแกล้งไม่เข้าใจในเรื่องนี้ว่าไม่ใช่การยกเลิกมาตรา 112 นั้น ตนมองว่ารัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทยควรที่จะมีการหารือ พูดคุยให้ตกผลึกทางความคิด เข้าใจให้ตรงกันในพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้เกิดการเดินหน้าพิจารณากฎหมายที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคดีทางการเมืองที่ไม่ร้ายแรง ตนเห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกทางความคิด แต่ต้องย้ำจุดยืนหลักการให้ชัด ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายการนิรโทษกรรมก็ตาม ต้องไม่แตะหมวด 1-2 รวมถึงมาตราสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ซึ่งการรับทราบรายงานผลการศึกษาต่อสภา ก็ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ที่สภาผู้แทนราษฎร จะรับรองรายงานที่มีความสุ่มเสี่ยง ควรต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบรัดกุม และถูกต้อง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและจริยธรรมได้

“ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ใช้โอกาสรับประทานอาหารค่ำร่วมกันที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคมนี้ พูดคุยในประเด็นกฎหมายนิรโทษกรรมให้เกิดความชัดเจน และมีทิศทางที่ถูกต้องเห็นตรงกัน ยึดหลักการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ อย่าเปิดช่องให้เกิดการลดทอนกฎหมายสำคัญนี้ เพราะถือเป็นความเสี่ยงต่ออธิปไตยของชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลควรเร่งมือแก้ปัญหาความเดือดร้อนเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชนมาเป็นเรื่องแรก ลดความเสี่ยงต่อการสร้างแรงกระเพื่อมเพิ่มความขัดแย้งในสังคมจะดีกว่า" นายธนกร กล่าว

จากความเห็นและท่าทีดังกล่าวทำให้คาดเดาได้ไม่ยากว่า ในวงดินเนอร์ดังกล่าวต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าจะหาจุดลงตัวได้อย่างไร หลังจากเร่มเห็นรอยปริร้าว ขณะเดียวกันยังมีปัญหาที่กำลังมาจ่อคอหอยเข้ามาอีกนั่นคือ เรื่องร้องเรียนที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค และทำให้นายกรัฐมนตรี อาจต้องพ้นจากตำแหน่ง จากข้อกล่าวหาในเรื่องการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรค ที่ล่าสุดทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มขยับ โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแล้ว หลังจากเห็นว่า “มีมูล”

ประกอบกับเวลานี้เริ่มมีเสียง “ยี้” รัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรี มากขึ้น ผลงานที่ออกมาล้วนยังไม่เข้าตา หลายนโยบายหลักๆ ยังไม่ตรงปก สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างบานปลายมากขึ้น

ดังนั้น “วงดินเนอร์”ในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคมนี้ เชื่อว่าต้องมีรายการ “เคลียร์ใจ” ให้ลงตัว ก่อนที่จะบานปลายขยายใหญ่โต แต่ที่ผ่านมาร่องรอยมันเริ่มชัด ที่สำคัญโอกาสเคลียร์กันก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน เพราะเกี่ยวกับกับประโยชน์เฉพาะตัวของผู้มีอิทธิพลในพรรคหรือ “เจ้าของพรรค” มาพันกับกรณีนิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นแหละ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น