วันนี้( 20 ต.ค.)สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความพึงพอใจต่อผลงานตำรวจคดี ดิไอคอน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,160 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17 - 19 ตุลาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา
บทสรุป ผลสำรวจความพึงพอใจต่อผลงานตำรวจคดีดิไอคอน พบว่า ในเรื่องการติดตามข่าวสารการทำงานของตำรวจคดีดิไอคอน พบมีผู้ติดตามข่าวสารสูงถึง 93.6% และมีเพียง 6.4% ที่ไม่ได้ติดตามข่าว ในขณะที่ความยุ่งยาก ซับซ้อน และอิทธิพลของผู้อยู่ในขบวนการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 87.5% ระบุว่ามีความยุ่งยาก ซับซ้อน และอิทธิพลของผู้อยู่ในขบวนการมากถึงมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ประชาชนถูกหลอกลวง เดือดร้อนจากขบวนการดิไอคอน พบว่า
-ความโลภ 92.9%
-ความลุ่มหลง 90.8%
-ความเข้าใจผิดในการลงทุน 87.4%
-ความหละหลวมของหน่วยงานรัฐ 65.3%
-การทุจริตคอร์รัปชัน 64.9%
ที่น่าสนใจคือ ความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของตำรวจคดีดิไอคอน พบว่า
-ความพึงพอใจมากถึงมากที่สุด 88.7%
-พึงพอใจน้อยถึงไม่พึงพอใจเลย 11.3%
รายงานของซูเปอร์โพลชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นการตอบรับของประชาชนต่อการทำงานของตำรวจคดี ดิไอคอน ด้วยความพึงพอใจอย่างสูง คือ ร้อยละ 88.7 พึงพอใจมากถึงมากที่สุด นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นและความเพียรพยายามของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคม สังคมควรมีส่วนร่วมในการให้กำลังใจและการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่มีขวัญและกำลังใจในการทำหน้าที่อย่างซื่อตรงเพื่อฟื้นฟูศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตำรวจได้สำเร็จในยุคนี้ นอกจากนี้ การใช้สื่อโซเชียลเพื่อประกาศชื่นชมและส่งเสริมผลงานของตำรวจสามารถสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีความมุ่งมั่นทำหน้าที่เพราะการให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รัฐผ่านสื่อต่างๆ สามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมบรรยากาศที่ดีให้กับการทำงานของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รายงานของซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า แม้ว่าจะมีการให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รัฐ สังคมและสื่อไม่ควรละเลยในการจับตาดูและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว การมีส่วนร่วมของสังคมในการตรวจสอบจะช่วยป้องกันการทุจริตและรักษามาตรฐานของการปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินไปอย่างสุจริตและโปร่งใสผ่านการชื่นชมสนับสนุนแต่เกาะติดตรวจสอบเข้มข้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเฝ้าระวังการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ สังคมและสื่อโซเชียลสามารถช่วยสร้างและรักษามาตรฐานของความเป็นธรรม ความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนในมิติอื่น ๆ ได้