xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ห่วงสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ขอทบทวนรับซื้อไฟฟ้าให้เหมาะสม-ไม่สร้างภาระปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.ห่วงผลกระทบข้ามพรมแดน โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งหนังสือถึงนายกฯ ทบทวนแผนการรับซื้อไฟฟ้าให้เหมาะสม -ไม่สร้างภาระประชาชน

วันนี้ (18ต.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน 4 โครงการ ซึ่งเกิดจากบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว ได้แก่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เขื่อนภูงอย เขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่ม โดยเขื่อนสานะคามอยู่ระหว่างกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามความตกลงแม่น้ำโขง เขื่อนภูงอยจะเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าต่อจากเขื่อนสานะคาม ส่วนเขื่อนบ้านกุ่มและเขื่อนปากชม อยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันระหว่างไทยกับ สปป. ลาว โดยผู้ร้องได้ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากเห็นว่าทั้ง 4 โครงการดังกล่าว จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

กสม. ได้ตรวจสอบและประมวลข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคมและเมื่อวันที่ 3 ต.ค.67 ประธานกสม.ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งประเด็นข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศไทย ข้อพิจารณา และข้อเสนอแนะคือผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ 5 ด้าน ได้แก่1. ด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างเขื่อนอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเท้อท่วมพื้นที่สำคัญและพื้นที่เกษตรกรรม น้ำล้นตลิ่ง การกัดเซาะตลิ่ง การอพยพของสัตว์น้ำ และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะน้ำเท้อจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขาในประเทศไทยจะกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลและแม่น้ำสาขา ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากลำน้ำต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นไปได้ยากขึ้น

2.ด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ จากการศึกษาและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานในช่วงปี 2557 – 2561 ซึ่งรวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานทำให้การไหลของน้ำมีความเร็วและแรง ระดับน้ำมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ตลิ่งถูกกัดเซาะมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อปลาขนาดใหญ่จำนวนมากและปลาท้องถิ่นที่จะไม่สามารถวางไข่ได้
3. ด้านความมั่นคงชายแดนไทย - ลาว การสร้างเขื่อนอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึกทำให้มีผลต่อการเจรจาเขตแดนไทย – ลาว ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission: JBC)

4.ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของประชาชน ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมริมฝั่ง การประมง และการท่องเที่ยว หากพื้นที่ถูกน้ำท่วมจากน้ำเท้อ จะทำให้สูญเสียรายได้หลักในการดำรงชีพ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนที่ต้องใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค และ 5.ด้านความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ที่ผ่านมายังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแก่ประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงที่เปิดดำเนินการแล้ว รวมถึงเขื่อนที่อยู่ระหว่างการศึกษา เช่น เขื่อนสานะคามที่อยู่ประชิดชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริง และหลักสิทธิมนุษยชนแล้วมีข้อห่วงกังวลว่า แม้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานจะสร้างและดำเนินการในเขตอธิปไตยของ สปป. ลาว แต่ที่ตั้งแต่ละโครงการอยู่ติดกับประเทศไทยมากและมีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อุทกวิทยาและชลศาสตร์ ประมง เศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะในจ.เลยและจ.อุบลราชธานี รวมทั้งด้านความมั่นคงชายแดนและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยอาจต้องสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ประมาณ 100 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร เนื่องจากโครงการอาจทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งมากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจผู้ร่วมพัฒนาโครงการซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลสัญชาติไทยทั้ง 4 โครงการ ยังมีความรับผิดชอบที่จะต้องประกอบธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการ UNGPs ด้วย กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดย1. ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบสะสมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การสร้างเขื่อนไซยะบุรีในทุกด้าน และแนวทางการป้องกันผลกระทบต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมของอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพต่างดินแดน และการเคารพในสิทธิและผลประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อประกอบการพิจารณาการดำเนินโครงการทั้งสี่ เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนไทยและอธิปไตยของไทย

2. ให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผนการรับซื้อไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและไม่สร้างภาระแก่ประชาชน รวมทั้งพิจารณาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและผู้ลงทุนสัญชาติไทยให้ประกอบธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน โดยให้กระทรวงการคลังกำหนดให้การจัดทำบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องมีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการ UNGPs และตามที่กำหนดในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 และให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของผู้พัฒนาโครงการซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลสัญชาติไทยทั้ง 4 โครงการ สอดคล้องกับหลักการ UNGPs โดยจัดทำรายงานประเมินผลกระทบและความเสี่ยงของโครงการอย่างรอบด้านและมีมาตรการเยียวยาผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน


กำลังโหลดความคิดเห็น