xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช. ภาค 4 จับอดีตเภสัชคุมคลังยา รพ.นากลาง ขโมยยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนมูลค่า 3.8 แสนบ.เมื่อปี 55

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป.ป.ช. ภาค 4 จับอดีตเภสัชกรคุมคลังยาโรงพยาบาลนากลาง จ.หนองบัวลำภู ลักลอบนำยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาล มูลค่าความเสียหาย 380,000 บาท คดีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 55

วันนี้ (18 ต.ค.) นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ได้มอบหมายนักสืบสวนคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ลงพื้นที่ทำการจับกุมนายศักดิ์โกสินทร์ สูตสนธิ์ บุคคลตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ที่ 29/2564 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบัง เอาทรัพย์นั้น เป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยทุจริต ฐานปลอมเอกสารราชการ และฐานใช้หรืออ้างเอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 147, 157, 265 และมาตรา 268 ประกอบมาตรา 91

นายศักดิ์โกสินทร์ สูตสนธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลตามหมายจับ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเภสัชกร ปฏิบัติการ ปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลนากลาง อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เมื่อปี พ.ศ 2554 - 2555 มีหน้าที่ควบคุมคลังเวชภัณฑ์ยา และขออนุมัติสั่งซื้อยา ได้ลักลอบนำยาที่มีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีน ออกจากโรงพยาบาลนากลาง และนำไปไว้ที่ร้านขายยาของตนที่อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู เพื่อส่งมอบ หรือจำหน่ายให้กับบุคคลอื่นโดยทุจริต จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 จำนวน 25,000 เม็ด มูลค่า 50,000 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2554 จำนวน 25,000 เม็ด มูลค่า 50,000 บาท ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2555 จำนวน 50,000 เม็ด มูลค่า 100,000 บาท และครั้งที่ 4 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จำนวน 100,000 เม็ด มูลค่า 180,000 บาท ซึ่งในครั้งที่ 4 ได้ปลอมลายมือชื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลนากลาง สั่งซื้อยาจำนวน 100,000 เม็ดดังกล่าว รวมปริมาณยาที่นำออกจากโรงพยาบาลนากลางจำนวนทั้งสิ้น 200,000 เม็ด มูลค่าความเสียหาย 380,000 บาท

จากการสืบสวนทราบว่า ภายหลังเกิดเหตุเมื่อปี 2555 นายศักดิ์โกสินทร์ฯ ถูกดำเนินการทางวินัยจนถูกไล่ออกจากราชการ แต่ยังคงดำเนินกิจการร้านขายยาของตนที่อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภูตามเดิม และได้เปิดกิจการร้านหมูกระทะในเขตพื้นที่ดังกล่าวจนกระทั่งปี 2560 ได้หลบหนีไปทำงานโรงงานแห่งหนึ่งที่ประเทศเกาหลีใต้ประมาณ 1 ปีจากนั้น ได้ลาออกมาทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าเกาหลีทางออนไลน์ให้กับคนไทยในประเทศเกาหลีใต้ได้ประมาณ 4 ปี จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย นายศักดิ์โกสินทร์ฯ ได้ย้ายจากอ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู ไปพักอาศัยอยู่ตามบ้านเช่าที่อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู และยังคงประกอบอาชีพค้าขายสินค้าเกาหลีทางออนไลน์ตามเดิม จนกระทั่งทราบว่าเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2567 นายศักดิ์โกสินทร์ฯ ได้ย้ายมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเช่าเลขที่ 70 หมู่ที่ 10 ต.นากลาง อ.นากลาง จังหวัด หนองบัวลำภู โดยเปิดเป็นร้านขายสินค้าจำพวกขนมและอาหารเล็กๆ น้อยๆ สำหรับนักเรียน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 คณะพนักงานเจ้าหน้าที่งานสืบสวนคดีทุจริตภาค 4 สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 4 จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่บริเวณบ้านเช่าหลังดังกล่าวโดยเฝ้าสังเกตการณ์จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.45 น. พบรถยนต์กระบะคันที่ตรง ตามข้อมูลสืบสวนขับเข้าไปจอดที่บ้านหลังดังกล่าว โดยมีบุคคลซึ่งมีลักษณะและรูปพรรณสัณฐานตรงกับ นายศักดิ์โกสินทร์ฯ ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมชายอีก 1 คน คาดว่าจะเป็นเพื่อนชายคนสนิท ลงจากรถและเดินเข้าไปภายในบ้าน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรนากลาง ร่วมเข้าทำการจับกุมตัว ในเวลาประมาณ 14.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานแสดงหมายจับและอ่าน หมายจับให้ฟัง นายศักดิ์โกสินทร์ฯ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับบุคคลตามหมายจับนี้จริง และยังไม่เคยถูกจับ ตามหมายจับนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้ทราบ จากนั้นได้นำตัวไปยังสถานี ตำรวจภูธรนากลาง อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เพื่อลงบันทึกประจำวันทำบันทึกจับกุม เก็บลายพิมพ์ นิ้วมือเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติผู้ถูกกล่าวหา/ผู้ถูกจับ รวมทั้งแจ้งการควบคุมตัวไปยังอัยการและฝ่ายปกครอง และดำเนินการตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ. 2565 จากนั้นได้ ควบคุมตัวนำส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 4 เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาคดี ทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ต่อไป

ทั้งนี้ คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2555 มีรายงานข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หนองบัวลำภูว่า มีการตรวจพบการสั่งซื้อและการจ่ายยาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนโดยโรงพยาบาลนากลาง อำเภอนากลาง ซึ่งมียอดสั่งซื้อต่อปีสูงผิดปกติ โดยในรอบปี 2553 มียอดการสั่งซื้อ จำนวน 80,000 เม็ด ปี 2554 มียอดการสั่งซื้อจำนวน 200,000 เม็ด และปี 2555 มียอดการสั่งซื้อจำนวน 100,000 เม็ด กระทรวงสาธารณสุขจึงสั่งให้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ช่วงระยะเวลาปีงบประมาณ 2553 - 2555 มีการสั่งซื้อยา แก้หวัดที่มีสูตรผสมของสารซูโดอีเฟดรีนในปริมาณมากผิดปกติเกินความจำเป็น โดยไม่มีระบบการควบคุมที่ดี เพียงพอตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น โดยมีการสั่งซื้อ 129 ครั้ง จำนวน 7,874,800 เม็ด มูลค่า 12,298,116 บาท ทั้งที่ความต้องการใช้ยาของโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (สถานีอนามัยเดิม) จำนวน 28 แห่ง มีความต้องการ ใช้เพียง 600,000 เม็ด อีกทั้งยังเบิกใช้จริงแค่ประมาณ 350,000 เม็ดเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในการสั่งซื้อ และการหายไปของยาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนจากระบบ โรงพยาบาลรัฐ พบความผิดปกติเกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี โรงพยาบาลทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ โรงพยาบาลนากลาง จ.หนองบัวลำภู โรงพยาบาลเสริมงาม จ.ลำปาง โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โรงพยาบาลหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ โรงพยาบาลฮอด จ.เชียงใหม่ และ โรงพยาบาลดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ พบมีเจ้าหน้าที่เข้าข่ายกระทำความผิด และได้ดำเนินการทางวินัยโดยมีการเสนอลงโทษทางวินัยกับข้าราชการ รวม 23 ราย แบ่งเป็นลงโทษวินัยร้ายแรง 5 ราย วินัยไม่ร้ายแรง 18 ราย และอยู่ระหว่างการสอบวินัยร้ายแรง 1 ราย เป็นระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล สำหรับความผิดวินัยร้ายแรงให้ไล่ออก 5 ราย ระดับเภสัชกร ส่วนการลงโทษ ทางวินัยไม่ร้ายแรง มีทั้งการหักเงินเดือน การภาคทัณฑ์และการว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 18 รายมีทั้งระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เภสัชกร และเจ้าพนักงาน เภสัชกร

ในขณะที่ทางต้นสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ลงดาบด้านวินัย ส่วนในทางคดีอาญาเป็นความรับผิดชอบ ของดีเอสไอ ซึ่งในขณะนั้น (ปี 2555) ดีเอสไอกำลังสืบสวนคดีการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรที่มีสารซูโดอีเฟดรีน เข้าประเทศและนำออกจากระบบของโรงพยาบาลภายในประเทศ เพื่อส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านทางชายแดน ให้กับขบวนการค้ายาเสพติดนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์ โดยการสอบสวน ของดีเอสไอแยกออกเป็น 2 คดี คือ 1.คดีการลักลอบนำเข้ายาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนมาจากต่างประเทศ และ 2. คดีลักลอบนำยาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนออกจากระบบรักษาของโรงพยาบาลภายในประเทศ โดยยาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนที่นำเข้าประเทศ และนำออกจากระบบของโรงพยาบาลภายในประเทศ รวมกันทั้งหมดคิดเป็นร้อยละแบ่งออกเป็นที่นำเข้ามากถึง 83% ส่วนอีก 17% เป็นการนำออกจากระบบ โรงพยาบาลภายในประเทศ โดยในส่วน 17% ที่เป็นการลักลอบนำออกจากระบบรักษาของโรงพยาบาลนั้น อาจเกี่ยวข้อง กับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามกฎหมายอาญา และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดีเอสไอจึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จึงเป็นที่มาของการดำเนินคดีกับนายศักดิ์โกสินทร์ สูตสนธิ์ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามกฎหมายอาญา จนกระทั่งจับกุมตัวได้ในครั้งนี้ โดยขณะจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหานั้น นายศักดิ์โกสินทร์รับสารภาพทุกข้อกล่าวหาและเปิดเผยต่อชุดจับกุมว่ายินดีให้จับกุมเข้าสู่กระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมาย เพราะได้ทราบ ข้อกฎหมายในภายหลังว่า คดีทุจริตไม่นับระยะเวลาในระหว่างหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ คดีจึงไม่มี อายุความ ตนไม่อยากหนีไปทั้งชีวิต และอยากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เสร็จสิ้นเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น