xs
xsm
sm
md
lg

"พลอย“หลังบ้าน "บอสกันต์”- "พ่อหนุ่ม-แม่โน๊ต" โดนคุ้ยหนัก "ทนายจุ๊กกรู" จะแจ้งความ "ว.วชิรเมธี" ชุดสองเอี่ยว "ดิไอคอน"ร้อนๆหนาวๆ ** อภิปรายเดือด นิรโทษกรรม รวม-ไม่รวม112 สุดท้ายประธานชิงปิดสภาหนีโหวต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พลอย” อัยดา กันตถาวร - ว.วชิรเมธี - เดชา กิตติวิทยานันท์
ข่าวปนคน คนปนข่าว

++ "พลอย“หลังบ้าน "บอสกันต์”- "พ่อหนุ่ม-แม่โน๊ต" โดนคุ้ยหนัก "ทนายจุ๊กกรู" จะแจ้งความ "ว.วชิรเมธี" ชุดสองเอี่ยว "ดิไอคอน"ร้อนๆหนาวๆ

บอส 18 รายของ "ดิไอคอนกรุ๊ป" ที่ถูกจับตัว ตำรวจระบุว่าเป็น “ ผู้ต้องหาชุดแรก” ทำให้เชื่อกันว่า ผู้เกี่ยวข้องกับ ดิไอคอน ที่เข้าข่ายกระทำผิดร่วมกัน "ฉ้อโกงประชาชน" ต้องมีมากกว่านี้แน่นอน

ตอนนี้สังคมจึงเฝ้าติดตามจับตากันว่า จะมี “ชุดสอง” -“ชุดสาม” ตามมาเมื่อไหร่? และจะมีใครบ้าง?

บอสชุดแรกโดนข้อกล่าวหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ” ถือว่า หนักหนาสาหัส

ตามข่าวว่า ในชั้นศาลไม่ให้ประกันตัว เพราะเป็นคดีที่มีโทษสูง และมีผู้เสียหายจำนวนมาก ทั้งยังเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เกรงจะยุ่งเหยิงกับพยาน

นอกจากตัวบอสๆ จะดูทรงท่าจะต้องติดทริป “ห้องกรง” ยาวๆ จากการไม่ให้ประกันตัว เจ้าหน้าที่ยังทยอยยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง เช่น รถหรู, นาฬิกา ,ที่ดิน ทรัพย์สินมีค่าของบรรดาบอสทั้งหลาย

ฝนที่ตกทางโน้นย่อมหนาวถึงคนทางนี้ ใครที่อยู่ในข่าย ชุดสอง-ชุดสาม เห็นแบบนี้ก็มีหนาวสะท้านกันละ

ตอนนี้ต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจเต็มที่ เพราะคดี ดิไอคอน นับเป็นคดีใหญ่มูลค่าความเสียหายมหาศาล เหยื่อที่เป็นผู้ประสบภัย มีจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน คนเข้ามาเกี่ยวข้องได้ผลประโยชน์เยอะ การสืบสวนสอบสวนต้องละเอียด รัดกุม อาจจะไม่เร็วเท่ากับการจับกุม “บอสพอล” วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ดิไอคอน และ“บอสดารา” ที่มี บอสแซม ยุรนันท์- บอสมิน พีชญา และ บอส กันต์ กันตถาวร ที่ชัดเจน

ตำรวจทำงานไป ชาวโซเชียลฯ ก็กระหน่ำขุดคุ้ยพฤติกรรมของคนที่น่าจะเข้าข่าย ช่วยตำรวจ

ต้องบอกว่า คนที่โดนขุดเยอะกว่าใครในโซเชียลฯ ไม่ใช่ใครอื่น เป็นภรรยา บอสกันต์ “พลอย” อัยดา กันตถาวร

ด้วยปรากฏคลิปของพลอย และบอสกันต์ โชว์ความมั่งมีอู้ฟู่ เอาไว้เยอะ รวมไปถึงคำให้สัมภาษณ์จากปาก “บอสกันต์” ที่เข้ามาร่วมงานกับดิไอคอน ก็เพราะ ภรรยาชักนำ

ขณะที่ “ก้อย” ชนกพร เพียรเหมือน อดีต รองผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ ช่อง 7 ก็ถูกขุดว่า น่าจะมีเอี่ยวด้วย

ร้อนถึง ช่อง 7 ต้องร่อนหนังสือชี้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแล้วเพราะ “ชนกพร” ลาออกตั้งแต่ 10 ธ.ค.65 และ ชี้ว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคล ช่องไม่เกี่ยวข้อง

ยังมีพระนักเทศน์ชื่อดังท่าน “ว. วชิรเมธี” ก็ถูก “ทนายเดชา” เดชา กิตติวิทยานันท์ "ทนายจุ๊กกรู" ร้องจุ๊กกรูๆ ทุกวันว่าจะเอาเรื่อง "พระ" หลังจากที่ปรากฏคลิปและภาพของ "ว.วชิรเมธี" รับกิจนิมนต์มาร่วมเป็นหนึ่งในครอบครัวดิไอคอน

ทนายความชื่อดังได้ลั่นวาจา จะไปแจ้งความในสัปดาห์หน้า

และยังมีเพจดังแฉ "พ่อหนุ่ม-แม่โน้ต" สองตัวละครสำคัญของ ดิไอคอน แต่ยังไม่ได้ถูกกล่าวหา ทั้งที่เป็น "แม่ข่ายเบอร์ 1" มีตำแหน่งเป็นถึงระดับ "เอ็มเพอร์เร่อ" ที่ต้องมียอดขายระดับพันล้านของ ดิไอคอน

งานนี้ผิด-ถูก หรือ ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ใครเอี่ยวแค่ไหน ก็ต้องรอติดตาม

ชูศักดิ์ ศิรินิล- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ - พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน
++ อภิปรายเดือด นิรโทษกรรม รวม-ไม่รวม112 สุดท้ายประธานชิงปิดสภาหนีโหวต

หลังจากเจอโรคเลื่อนมาสองสามครั้งแล้ว เมื่อวานนี้ (17ต.ค.) สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ฤกษ์ พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ.

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” เกริ่นนำเปิดหัว ก่อนให้สมาชิกอภิปรายว่า การนิรโทษกรรม ไม่ใช่การยกเลิกความผิด การกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่สมควรเป็นการยกเลิกความรับผิด เพื่อแก้ปัญหาความขัดแยงในบ้านเมือง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ... ประเทศไทยเคยมีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 23 ฉบับ และรายงาน กมธ.ฉบับนี้ ก็เป็นการศึกษา แนวทางการตรากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณา หรือยก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพียงแต่เป็นข้อเสนอแนะแนวทางเท่านั้น

สำหรับประเด็นที่อ่อนไหวอย่าง มาตรา 110 และมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นั้น ทางคณะกรรมาธิการได้เสนอแนวทางไว้ 3 ทาง คือ ไม่นิรโทษกรรม , ให้นิรโทษกรรม และ นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข

จากนั้น ก็เป็นช่วงการอภิปรายของสมาชิก โดย สส.ฝ่ายค้าน ที่มีพรรคประชาชน เป็นแกนนำ ได้สนับสนุนให้การนิรโทษกรรม รวมเอาคดี 110 และ 112 ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่รวม ก็ไม่สามารถสร้างสังคมสามัคคี ก้าวข้ามความขัดแย้ง ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ นั่นเท่ากับปิดประตู ไม่ให้ลูกหลานเข้าบ้าน

ขณะที่สส.ฝั่งรัฐบาล มีความชัดเจนว่า การนิรโทษกรรม ไม่ควรรวมคดี112 เข้าไป ไม่ว่าจะเป็น สส.จากพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์

โดยเฉพาะ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า แม้การนิรโทษกรรมทำได้ ในอดีตก็เคยทำ แต่สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และไม่เคยมี คือ นิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และ 112 ซึ่งมีไว้คุ้มครองประมุขของประเทศ เช่นกับอารยะทั่วโลกที่มีกัน

ผลการศึกษาที่ว่า ให้นิรโทษกรรม หรือ ให้นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข นั้น อันตรายทั้งคู่ เพราะหากสภารับรองผลการศึกษานี้ ก็จะเป็นหัวเชื้อ ในการที่จะนำไปสู่การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป เพราะจะต้องส่งรายงานฉบับนี้ไปยังรัฐบาล

การนิรโทษกรรม ต้องยืนอยู่บนหลักการที่ว่า ต้องเป็นการนิรโทษกรรมที่นำไปสู่การสร้างความปรองดอง แต่ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง แตกแยก... ต้องไม่เป็นการนิรโทษกรรมเพื่อตัวเอง... ต้องไม่สร้างแรงจูงใจ หรือหัวเชื้อให้เกิดการกระทำซ้ำอีกในอนาคต เพราะคิดว่าทำผิดแล้วก็ล้างผิดได้... ต้องไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และ ต้องไม่รวมความผิด 3 ฐานสำคัญ คือ ทุจริตคอร์รัปชัน คดีอาญาร้ายแรง และ ความผิดตามมาตรา 110 และ112

หากสภาเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ สุดท้ายสภาฯ อาจกลายเป็นตราประทับความชอบธรรม ในการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รวมเอาความผิด มาตรา 110 และ 112 เข้าไปด้วย

หลังทั้งสองฝ่าย อภิปรายกันพอสมควร ทาง สส.ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าควรจะลงมติได้แล้ว แต่ฝ่ายค้านกลับเห็นว่า สมาชิก ยังมีความเห็นต่างอยู่มาก จึงควรให้ กมธ.ได้ชี้แจงเนื้อหาในรายงานเพิ่มเติมด้วย

“พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภา คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถามว่าจะให้ลงมติเลย หรือจะให้กมธ.ชี้แจงต่อ เพราะข้อมูลมีมากพอสมควรแล้ว แต่กมธ.อีกหลายคนยังต้องการขอชี้แจง ดังนั้น วันนี้คงไม่จบ จึงสั่งปิดประชุม แม้จะมีสมาชิกตะโกนทักท้วง แต่ “พิเชษฐ์” ไม่สนใจ และเดินลงจากบัลลังก์ทันที

การปิดประชุมก่อนโหวตครั้งนี้ มีการมองว่า แม้พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลที่มีผู้อภิปรายไม่เห็นด้วย กับการนิรโทษฯ ความผิด 112 แต่เวลาโหวต อาจเสียงแตกไปจากพรรคร่วม เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า “นายใหญ่” คนสำคัญของพรรค กำลังโดนคดี 112 อยู่
หากโหวตแล้วเสียงไปคนละทิศ คนละทาง ก็จะเป็นการฟ้องว่า เสถียรภาพรัฐบาลกำลังง่อนแง่น

ยิ่งถ้าพรรคเพื่อไทย โหวตไปทางเดียวกับพรรคประชาชน ก็จะเห็นชัดว่า งานนี้ต้องการนิรโทษฯ ให้ใคร

อีกประการคือ ในที่ประชุม สส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่กันค่อนข้างโหรงเหรง เกรงว่าองค์ประชุมล่ม ก็เสียหายไม่แพ้กัน

สุดท้ายเลยทำให้ รายงานผลการศึกษา “นิรโทษกรรม” ต้องค้างเติ่ง แถม "ญัตติแชร์ลูกโซ่" ที่รอพิจารณาต่อ ต้องเลื่อนไปสัปดาห์หน้าโดยปริยาย


กำลังโหลดความคิดเห็น