เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้ดูตามรูปการณ์แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเดินหน้าต่อลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และการแก้ไขรายมาตรา ถือว่าเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยิ่งยาก จนแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะหากไปผูกติดกับกฎหมายประชามติ ที่ยังไปไม่ถึงไหน ทำให้ทุกอย่างแทบจะเป็นทางตันเลยทีเดียว
นาทีนี้ดูตามรูปการณ์แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเดินหน้าต่อลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และการแก้ไขรายมาตรา ถือว่าเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยิ่งยาก จนแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะหากไปผูกติดกับกฎหมายประชามติ ที่ยังไปไม่ถึงไหน ทำให้ทุกอย่างแทบจะเป็นทางตันเลยทีเดียว
ที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เข้าสู่สภาไปเรียบร้อยแล้ว โดยจะเป็นในลักษณะของการเดินคู่ขนาน ไปกับเร่งรัดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ซึ่งสาระสำคัญสำหรับร่างแก้ไขรายมาตรา จะประเด็นการลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิก มาตรา 279 ที่เกี่ยวกับประกาศ และคำสั่งคสช. และเพิ่มหมวดการป้องกันรัฐประหาร
ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำลังดำเนินการ คือการแก้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ทบทวนแก้ไขอำนาจการยุบพรรค ซึ่งต้องมีการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2. ทบทวนอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม อย่างไรก็ตาม ทุกพรรคที่ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะไปจบที่การพิจารณาร่วมกัน ในที่ประชุมรัฐสภา
สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้เตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เช่นเดียวกัน แต่เมื่อจะมีการแก้ไขในประเด็นลดมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง และลดอำนาจขององค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการยุบพรรค และการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของนักการเมือง จนเกิดกระแสต่อต้านจากสังคม และที่สำคัญคือ พรรคร่วมรัฐบาลต่างไม่เอาด้วย ทำให้ต้องชะลอออกไปแบบไม่มีกำหนด
ล่าสุด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แจ้งผลการหารือกับ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กรณีวันประชุมสภาในสัปดาห์หน้าว่า ประธานวิปทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมวันที่ 24-25 ตุลาคม โดยในวันที่ 24 ตุลาคม จะเป็นกระทู้ต่างๆ เพื่อตรวจสอบรัฐบาล ขณะที่วันที่ 25 ตุลาคม จะเป็นการพิจารณาญัตติต่างๆที่ค้างอยู่
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า หากพิจารณาในสมัยประชุมนี้จะเป็นการกระชั้นชิดเกินไป จึงต้องการจะพิจารณาเรื่องนี้ในสมัยประชุมหน้า เบื้องต้นทางสภาเห็นว่า วันที่ 16-18 ธันวาคม โดยประมาณ ซึ่งอยากให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำช่วงวันดังกล่าวไปหารือกับ นายมงคล สุรัจจะ ประธานวุฒิสภา
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยหน้านั้น จะได้หารือกับนายมงคลก่อน ซึ่งตอนนี้นายมงคลไม่อยู่ เนื่องจากมีภารกิจติดประชุมที่ต่างประเทศ เมื่อท่านกลับมาจะไปปรึกษาท่าน ได้ผลเป็นอย่างไรจะเรียกวิปสามฝ่ายมาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันอีกครั้ง และหากมีข้อกฎหมายที่จะนำเข้าสู่การพิจารณา ก็สามารถนำเสนอก่อนประชุมได้
ดังนั้น การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเริ่มอีกครั้งในสมัยประชุมหน้า คือในราวกลางเดือนธันวาคม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ส่วนการแก้ไขทั้งฉบับนั้น ยังไม่มีกำหนดวันชัดเจน
แต่ขณะเดียวกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรายมาตรา หรือทั้งฉบับ ล้วนมีอุปสรรค จนแทบเป็นได้ยาก เพราะต้องผูกโยงกับกฎหมายการลงประชามติ ที่เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา หลังจากที่วุฒิสภามีมติ ให้มีเสียงข้างมากสองชั้น คือต้องได้เสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และต้องได้เสียงเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ด้วย ซึ่งสวนมติของสภาผู้แทนราษฎร ที่เคยมีมติให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว
เมื่อพิจารณาจากไทม์ไลน์ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อมโยงกับการร่างกฎหมายการออกเสียงประชามติ ทำให้มองเห็นว่า น่าจะเกิดความล่าช้า หรือเป็นไปได้ยาก เพราะต้องผ่านการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา จากนั้นก็ต้องหามติของแต่ละสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และมติของวุฒิสภา
นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า ได้มีการประชุมวิปวุฒิสภา และได้มีมติว่า ในประประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 21 ต.ค. นี้ จะนำเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ประชามติเข้าที่ประชุม ส่วนรายชื่อว่าใครจะไปเป็นกรรมาธิการร่วมบ้าง ต้องรอที่ประชุมวุฒิสภาในวันดังกล่าว ถึงจะสามารถประกาศได้ว่า สว.ทั้ง 14 คน มีใครบ้าง
เมื่อถามว่า ทางวุฒิสภายังยืนยันเนื้อหาตามที่แก้ไขที่ใช้เสียงข้างมากแบบสองชั้น นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังยืนยันว่า เราจะใช้แบบดังกล่าวในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามติเรื่องอื่น ก็จะใช้แบบธรรมดา เมื่อถามย้ำว่าหากแต่ละสภายังยืนยันเนื้อหาของตัวเอง จะทำให้กระบวนการล่าช้า หรือไม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2564 ไปก่อนได้ ดังนั้นอย่าใช้เป็นข้ออ้างว่าหากการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติล่าช้า จะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนการที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่แก้ไข อย่างไร เมื่อเข้าที่ประชุมร่วมกันแล้ว และได้ข้อตกลงอย่างไร ก็จะแยกออกมาเป็นคนละสภาเพื่อที่จะโหวตกันอีกครั้งว่าแต่ละสภาเห็นชอบอย่างไร หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ก็จะถูกพักไว้ 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎร จึงจะสามารถประกาศใช้ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากท่าทีของแต่ละสภาแล้ว เชื่อว่าจะต้องล่าช้าแน่นอน โดยเฉพาะพิจารณาจากท่าทีของวุฒิสภาแล้ว ยังยืนยันในหลักการ “เสียงข้างมากสองชั้น” เช่นเดิม หากเป็นแบบนี้ก็เป็นไปได้สูงที่จะเข้าสู่โหมด180 วัน ทำให้ไม่น่าจะทันการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่กำหนดเอาไว้ในราวเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า ค่อนข้างแน่ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่โฟกัสไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ต้องทำประชามติเสียก่อน
ขณะที่การแก้ไขรายมาตรา หากไปเกี่ยวข้องกับอำนาจขององค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้น ก็ต้องทำประชามติอีกด้วย ถึงได้บอกว่ามันยากแสนเข็ญ
แต่ที่สำคัญที่สุดเวลานี้ สิ่งที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความยุ่งยากมากขึ้น ก็น่าจะมาจากความรู้สึกของประชาชนที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเห็นว่า เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง เห็นได้จากความพยายามในการแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่เต็มไปด้วยเสียงด่าทอดังรอบทิศ จนต้องถอยกรูดออกมา ทำให้มีการตระหนักในเรื่องมาตรการในการ “ปราบโกง” มากขึ้น ความรู้สึกแบบนี้มันทำให้เกิดอุปสรรคในการแก้ไขอย่างมาก ทำให้แทบจะฟันธงได้เลยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะแบบไหน ล้วนยากทั้งสิ้น !!