xs
xsm
sm
md
lg

“ช่อ” จี้ รบ.รับผิดชอบทางการเมือง หากปล่อยผู้ต้องหาคดีตากใบลอยนวล ต้องคลี่ปมขัดแย้งเพื่อสันติภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แกนนำก้าวหน้า จี้ รบ.รับผิดชอบทางการเมืองต่อผู้เสียหายคดีตากใบ หากนำผู้ต้องหามาเข้ากระบวนการไม่ได้ ชี้ ต้องคลี่คลายปมขัดแย้งในชายแดนใต้ เพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต

วันนี้ (17ต.ค.) น.ส.พรรณิการ์ วานิช พร้อมด้วย นายฮานาฟี หมีนเส็น โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะ แถลงการณ์ต่อรัฐบาล กรณีการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 47 อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 7 ราย และเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารอีก 78 ราย รวมเป็น 85 ราย นับเป็นคดีที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในความขัดแย้งชายแดนใต้ และสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลอย่างลึกซึ้ง แม้ว่ารัฐบาลจะได้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสีย โดยมีการกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ และมีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ เมื่อปี 2555

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนในเหตุการณ์กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร คดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้าสภ.ตากใบ อัยการระงับการสอบสวนไปเมื่อปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากไม่พบตัวผู้กระทำผิด และคดีการเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปค่ายอิงคยุทธบริหารดำเนินคดีไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยตำรวจ สภ. หนองจิก ปัตตานี ลงความเห็นว่าเหตุและพฤติการณ์ของผู้ตายทั้ง 78 ราย เกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามหน้าที่ มิได้เป็นผลแห่งความผิดอาญาในปี 2566 คณะกมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ติดตามความคืบหน้าในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสีย นำมาสู่การรื้อฟื้นคดีอาญาเพื่อนำ ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แบ่งเป็น 2 คดีด้วยกัน คือ

1. คดีที่หนึ่ง ตำรวจภูธรภาค 9 ตั้งคณะทำงานของพนักงานสอบสวนเพื่อทำสำนวนคดีขึ้นมาใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 8 อัยการสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา

2. คดีที่สอง ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวฟ้องต่อศาลโดยตรง ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐ 7 ราย เป็นจำเลย บัดนี้ เหลือเวลาเพียง 8 วันก่อนคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 67 ปรากฏว่า ตำรวจยังไม่สามารถติดตามจับกุมตัวผู้ถูกออกหมายจับได้แม้แต่คนเดียว

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า คณะ กมธ. มีความกังวลอย่างยิ่งว่า หากไม่สามารถนำจำเลยมาส่งศาลได้ก่อนหมดอายุความ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างน้อย 3 ระดับ ดังนี้

1) ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกปฏิบัติอย่างสองมาตรฐานซึ่งจะเป็นการเพิ่มอุปสรรคในการสร้างความสมานฉันท์และสันติภาพในพื้นที่ นอกจากนี้ คดีตากใบ จะเป็นอีกคดีที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย

2) กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจนำประเด็นดังกล่าวไปขยายผล และใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุรุนแรง เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาล นำมาสู่ความสูญเสียในพื้นที่เพิ่มขึ้น

3) อาจเกิดความไม่แน่นอนในสถานะของการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐซึ่งมีการพูดคุยสันติสุขรอบใหม่มาแล้วในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน และยังอยู่ระหว่างการกำหนดนโยบาย ที่ชัดเจนในการคลี่คลายความขัดแย้งในชายแดนใต้โดยรัฐบาลปัจจุบัน

“คณะ กมธ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายใต้เวลาอันจำกัดที่เหลืออยู่นี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีตากใบจะดำเนินการอย่างสุดความสามารถในการทำให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไปตามครรลอง และอำนวยความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทั้งประชาชนผู้สูญเสีย และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในเหตุการณ์ และรัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนมาและให้ความยุติธรรมกับผู้สูญเสียทุกคน ด้วยการนำผู้ถูกกล่าวหามาแสดงตนเพื่อพิสูจน์ตนเองต่อศาลตามระบบยุติธรรมต่อไป หากไม่สามารถดำเนินการนำตัวจำเลยมาเข้ากระบวนการได้ทันเวลาก่อนหมดอายุความ คณะ กมธ.ขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อผู้เสียหายโดยมีคำแถลงชี้แจงอย่างเหมาะสมและชัดเจน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคลี่คลายปมความขัดแย้งในชายแดนใต้และเป็นแนวทางไปสู่การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต”


กำลังโหลดความคิดเห็น