xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ยัดไส้ ม.112 !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชูศักดิ์ ศิรินิล - ณัฐวุฒิ บัวประทุม
เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หลังจากเลื่อนมา 2-3 ครั้ง ทำให้ถูกจับตามองว่าเป็นการนำร่องก่อนจะมีการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ครอบคลุมไปถึงการนิรโทษกรรมความผิด มาตรา 112 ของพวกนักการเมือง และบางกลุ่มที่เป็นแนวร่วม หรือที่เรียกว่า “นิรโทษเหมาเข่ง” นั่นเอง

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และหนึ่งในกรรมาธิการชุดดังกล่าวเปิดเผยว่า นายชูศักดิ์ ได้แจ้งในไลน์กลุ่มกรรมาธิการว่า การประชุมสภาฯ 17 ตุลาคมนี้ จะมีการพิจารณารายงานดังกล่าวแน่นอน หลังเลื่อนมา 2-3 ครั้ง เพราะตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีการเสนอเข้าสภามาแล้วหลายร่างฯ และจ่อจะมีการพิจารณาในสภาฯ อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ก็เพราะต้องการรอให้สภาพิจารณารายงานของกมธ.ชุดนี้ก่อน ซึ่งพอสภาฯ พิจารณารายงานเสร็จ ก็จะได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เสนอเข้าสภาฯ ที่พรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคประชาชนเสนอฯ

นพ.เชิดชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีกรรมาธิการของสภาฯ ชุดไหน พูดคุยศึกษาเรื่อง มาตรา 112 จะมีก็คือคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ที่คุยเรื่อง 112 เป็นครั้งแรก ที่มีการศึกษา มีการเขียนไว้ในรายงานของกรรมาธิการฯ ชัดเจนว่า หากจะนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย จะให้มีเงื่อนไขการนิรโทษกรรมอย่างไร ซึ่งเมื่อสภาฯ ได้อภิปรายกันในวันพฤหัสบดีนี้แล้ว หากพรรคการเมืองไหน เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 หรือมีความเห็นว่าควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบไหน ก็อภิปรายกัน มันจะได้ลดความเข้าใจผิด ยืนยันว่า ข้อเสนอของกมธ.ฯ ไม่ได้เสนอให้แก้ไข 112 แต่มีการอภิปรายเสนอความเห็นกันใน กมธ.ฯ ว่า พวกโดนคดี 112 จะให้นิรโทษกรรมหรือไม่ และหากนิรโทษกรรม จะมีเงื่อนไขอย่างไร เช่นพวกมีพฤติกรรมอาฆาตมาดร้าย แบบนี้ ก็อาจต้องได้รับการลงโทษเบื้องต้นก่อน

แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวข้างต้นย่อมทำให้มองเห็นได้ว่าความพยายามในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิด โดยเฉพาะนักการเมือง ที่เชื่อมโยงไปถึงพวกที่ทำความผิดเกี่ยวกับ มาตรา 112 ที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ที่มีเจตนาบ่อนเซาะทำลาย

ขณะที่เมื่อสำรวจไปที่พรรคการเมืองก็จะพบว่ามีความเคลื่อนไหวในแบบเอาจริงเอาจัง ประเภทที่ว่าถ้ามีโอกาสก็จะไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปได้ง่ายๆ และในคำแถลงของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ก็ยังเปิดเผยว่า พรรคประชาชน ได้เสนอ ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รอเอาไว้แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต้องการให้ครอบคลุมไปถึงผู้ทำความผิด มาตรา 112 ด้วย โดยมีเจตนาชัดเจนมาตลอด

นอกเหนือจากนี้ บรรดาแกนนำพรรคหลายคนก็มักยืนยันตลอดเวลาว่า เดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 อีกด้วย

ล่าสุด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืน ม.112 หลังจากนี้ว่า นโยบายเกือบทั้งหมด พิจารณาต่อเนื่องมาจากสมัยพรรคก้าวไกล นโยบายแต่ละอย่างต้องมาดูรายละเอียดว่าได้ผลักดันไปแล้วบ้างหรือไม่ สำหรับ ม.112 ตนย้ำมาโดยตลอดว่า เห็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งต้องตรงกัน แต่ก็เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะนำมาเป็นกรอบในการเดินหน้าว่าหากจะแก้ไขปัญหา ม.112 จะเดินหน้าตามกรอบที่ศาลกำหนด และสิ่งที่พรรคจะทำมากน้อยแค่ไหน โดยตนอยากเรียกร้องเรื่องนิรโทษกรรม หากเห็นตรงกันเป็นฉันทามติของสังคม อยากให้มาช่วยกันติดตาม โดยควรจะหาข้อสรุปให้สังคม และคืนความยุติธรรมบางส่วนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากคดี

แน่นอนว่าเป้าหมายสำหรับพรรคประชาชน หรือ ก้าวไกลเดิมยังมีความมุ่งมั่นทั้งในเรื่องแก้ไขมาตรา 112 และการนิรโทษกรรม ความผิดมาตรา 112 หรือที่เรียกว่า “เหมาเข่ง” ซึ่งเป็นความพยายามมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาสังคมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย และแสดงท่าทีและส่งสัญญาณต่อต้านออกมาอย่างชัดเจน ทำให้บางพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย ที่หากมองลึกๆแล้วมีความหวังแบบเดียวกัน เพราะมี “ผู้มีบารมี” อย่างเช่น นายทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังตกเป็นจำเลยในคดี ต้องการให้พ้นบ่วงเรื่องนี้ไปด้วย

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ราวสองสามสัปดาห์ก่อน มีความพยายามผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน เพียงแต่ว่าในช่วงเวลานั้น “กระแสต้าน” แรงมาก จึงจำเป็นต้องถอยชั่วคราว โดยใช้วิธีการเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน ดังนั้น เมื่อเห็นว่าบรรยากาศเริ่มซาลงไป ก็ดันเข้ามาใหม่ กำหนดวันพิจารณาในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคมนี้

หากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว อีกทางหนึ่งเหมือนกับการหยั่งกระแส หยั่งท่าทีแต่ละพรรคการเมืองว่าจะเอาด้วยหรือไม่ กับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 หรือ “เหมาเข่ง” เพราะในประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองอื่นๆ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าความผิด มาตรา112 นั้น มีเจตนาเจาะจงบ่อนเซาะทำลายสถาบันฯ ซึ่งเป็นความผิดส่วนบุคคล

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหากประเมินตามความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่ในที่สุดแล้ว ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบ “เหมาเข่ง” จะผ่านสภามีผลบังคับใช้ ก็เป็นไปได้สูงเหมือนกัน หากพิจารณาจากเสียงของสองพรรคการเมืองสำคัญ อย่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาชน ขณะที่หลายพรรคแม้ว่าจะมีท่าทีคัดค้านชัดเจน ทั้ง ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ก็ย้ำว่าไม่เอาด้วย

ดังนั้น ก็ต้องรอดูว่าพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไร จะเดินหน้าร่วมมือกับพรรคประชาชนหรือไม่ จะกล้าทวนกระแสของสังคมส่วนใหญ่ ขัดขวางหรือไม่ จะกล้าเสี่ยงหรือยอมถอยกลับไปอีกครั้ง แต่มองตามรูปการณ์แล้ว นาทีนี้ยังมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ไม่กล้าเดินหน้า “นิรโทษเหมาเข่ง” แน่นอน เพราะเสี่ยงเกินไป ที่สำคัญจะกระทบถึงเสถียรภาพรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็น !!


กำลังโหลดความคิดเห็น