ส่อลากยาวไปอีก 3 ปี “ยุบ” กองตำรวจทรัพยากรธรรมชาติฯ “บก.ปทส.” ภารกิจถ่ายโอน ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ ไป ทส. แม้ กม.ขีดเส้น “ยุบ/โอน” อีกสองวันข้างหน้า หลัง “ครม.อุ๊งอิ๊ง” รับลูกบอร์ด ก.พ.ร.- ก.ต.ช. ขยายระยะเวลา “ครั้งที่ 1” ไปถึง 17 ต.ค.ปีหน้า เหตุ ตช. อ้างยังมีความจําเป็นต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ เพื่อดําเนินการอีกหลายขั้นตอน แม้ ทส. ได้ทำคู่มือป้องกันการกระทำความผิด ประสาน บก.ปทส. เพื่อปรับโครงสร้าง อัตรากำลังไปแล้ว กว่า 2 ปี ภายใต้กรอบกฎหมายฯ 8 ฉบับ เผย ความเห็นกฤษฎีกา ขอขยายได้ถึง 3 ครั้ง
วันนี้ (15 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ด้วยการ “ยุบ” กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)
ก่อนถ่ายโอนภารกิจ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ไปยัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สิ้นปี 2567 นี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ครม. มีมติให้ขยายระยะเวลา ตามมาตรา 167 แห่ง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ออกไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 2567 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง “บก.ปทส.” ตามมาตรา 165 แห่ง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ 2565
“ยังมีการดําเนินการที่เกี่ยวข้องอีกหลายขั้นตอนที่มีความจําเป็นต้องใช้ความละเอียด รอบคอบในการพิจารณาและต้องใช้ระยะเวลาในการดําเนินการ”
และเห็นควรอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดําเนินการตราพระราชกฤษฎีกายุบ หรือเปลี่ยนแปลง บก.ปทส. ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกไป 1 ปี ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)
โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้รายงาน ครม. เมื่อ 8 ต.ค. ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ บัญญัติให้ภายในสองปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ. ใช้บังคับ
และให้ ก.พ.ร. สตช. และหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบ ปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ร่วมหารือในประเด็นกฎหมาย เช่น ป่าไม้ ป่าสงวน อุทยาน การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฯลฯ
ให้หน่วยงานรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวน การกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่จะได้ตกลงกัน
โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ และการบูรณาการในการปฏิบัติหน้าที่ และการแบ่งเบาภารกิจของ สตช.
อย่างไรก็ตาม ก.พ.ร. เห็นว่า สตช.ควรเร่งรัดการดําเนินการปรับโครงสร้างและอัตรากําลังของ บก.ปทส. และยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบหรือเปลี่ยนแปลง บก.ปทส. ให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 165
ขณะที่ สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นต่อเรื่องนี้ว่า การที่ ก.ต.ช. เห็นว่า มีความจําเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง บก.ปทส. ยังมีการดําเนินการที่เกี่ยวข้องอีกหลายขั้นตอนที่มีความจําเป็นต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณา
“และต้องใช้ระยะเวลาในการดําเนินการ ซึ่งมาตรา 167 บัญญัติว่า หากมีความจําเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ครม. โดยข้อเสนอแนะของ ก.ต.ช. จะขอขยายเวลาออกไปครั้งละหนึ่งปีก็ได้ แต่จะขยายได้ไม่เกินสามครั้ง”
มีรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าเพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการโอนภารกิจการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวน การกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในคราวประชุมบอร์ด ก.พ.ร. เมื่อ มิ.ย. 2567 ขณะนั้นที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการเห็นชอบข้อยุติการโอนภารกิจการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุมการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจาก สตช.
ภายใต้กรอบกฎหมาย จํานวน 11 ฉบับ ตามความรับผิดชอบของหน่วยงาน และยังคงภารกิจด้านการสอบสวนไว้ ให้ตํารวจปฏิบัติ
บอร์ด ก.พ.ร. ยังเห็นชอบให้ สตช. ดําเนินการเสนอเรื่องการขยายระยะเวลา การดําเนินการตามมาตรา 165 ออกไป ต่อ บอร์ด ก.ต.ช. และ ครม. เพื่อพิจารณาตามนัยมาตรา 167 ซึ่ง มติ ก.ต.ช. เมื่อ ก.ค. 2567 ก็เห็นชอบแล้วเช่นกัน
มีรายงานว่า ตั้งแต่ ปี 2565 กระทรวง ทส. ได้ดำเนินการจัดทำคู่มือ การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด
เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองรับภารกิจการดำเนินการตามมาตรา 165 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ภายใต้กรอบกฎหมาย 8 ฉบับเรียบร้อยแล้ว ได้แก่
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2485 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ร.บ.เลื่อยโช่ยนต์ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ของพนักงานเจ้าหน้าที่
โดยได้จัดส่งให้ บก.ปทส. ร่วมพิจารณาก่อนนำไปปฏิบัติ และร่วมดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และ ผลกระทบจากการตัดโอนภารกิจเพิ่มเติม ภายใต้กรอบกฎหมาย 5 ฉบับ
ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ทส. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ พ.ร.บ. นํ้าบาดาล พ.ศ. 2520 พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2561
จากการศึกษาพบว่า กฎหมายทั้ง 5 ฉบับ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการคุ้มครอง ตรวจสอบ ส่งเสริม กฎหมาย จึงได้จำกัดอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตอบสนองต่อภารกิจในด้านการป้องกันเท่านั้น
ส่วนกรณีการปราบปราม การจับกุม การสืบสวน และการสอบสวน ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือกับตำรวจและหน่วยงานอื่น
“แต่ล่าสุด ครม.เห็นชอบให้ขยายเวลาออกไป 1 ปี วันที่ 17 ต.ค. 2567 ถึง วันที่ 17 ต.ค. 2568”.