xs
xsm
sm
md
lg

ก.คลัง เตรียมชงมาตรการภาษี-ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วย ปชช.หลังน้ำท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ เผย ก.คลัง เตรียมเสนอมาตรการภาษี-ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วย ปชช.หลังน้ำท่วมเพิ่มเติม

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 ต.ค. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีการพูดถึงการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติม จากครัวเรือนละ 9,000 บาท และค่าช่วยเหลือการล้างดินโคลนครัวเรือนละ 10,000 บาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ รวมถึงการงดเว้นการเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า โดยกระทรวงการคลัง จะนำเสนอมาตรการทางด้านภาษี การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ การลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อฟื้นฟูบ้านและที่พักอาศัย ทั้งจากธนาคารรัฐและธนาคารเอกชน โดยกระทรวงการคลังจะชี้แจงรายละเอียดว่า ประเภทไหนเข้าข่าย ใช้งบประมาณเท่าไหร่

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือที่ประกาศและมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้

กระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือทั้งด้านภาษี การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูบ้านพักอาศัยและกิจการ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 


ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันเพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัย หรือสรุปแบบง่ายๆ คือ เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐบาล และเงินชดเชยที่ได้จากบริษัทประกันภัย ไม่ต้องนำไปนับรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี รวมถึง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย

กรมธนารักษ์ ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

การเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากที่พักเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี แต่หากที่พักเสียหายทั้งหลัง ยกเว้นค่าเช่าให้ 2 ปี การเช่าเพื่อการเกษตร ยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถทำกิจการได้ตามปกติเกิน 3 วัน ยกเว้นค่าเช่าเป็นรายเดือน ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติม ให้แก่ผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากประสบอุทกภัย

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อ Soft loan เพื่อช่วยเหลือ ซ่อมแซมและฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน กิจการการ ตลอดจนมาตรการลดภาระหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย และพักหนี้ให้แก่ผู้กู้ที่ประสบอุทกภัย ดังนี้

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี โดยให้วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยสามารถขอรายละเอียดของสินเชื่อก้อนนี้ได้จากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ หรือธนาคารใกล้บ้าน (มี 16 ธนาคารที่เข้าร่วม)

โครงการ SMEs No One Left Behind ของ บสย. ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000-2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี และระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี

ธนาคารออมสิน ช่วยเหลือลูกหนี้เดิม ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ถือบัตรเครดิต ด้วยการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 3% ให้ 3 รอบบัญชี

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีสถานะปกติ หรือ ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน สามารถขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และมีมาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับเสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ที่เหลือ อัตราดอกเบี้ย MRR และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ด้วยการลดเงินงวดที่ชำระ 50% และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2% เป็นเวลา 6 เดือน

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อน 1,000 บาทต่องวด ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับการขอสินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย สามารถขอกู้ได้ถึง 2 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ระยะเวลาที่เหลือตามเงื่อนไขของการผ่อนชำระ (โดยมีตั้งแต่ 2% - 6%) และยังมีการให้ค่าสินไหมทดแทนเร่งด่วนแก่ผู้ทำกรมธรรม์ประกันภัยที่อยู่อาศัย โดยจ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย กรณีกู้ยืมเงิน Fixed Loan พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ในกรณีตั๋วสัญญาใช้เงิน จะขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินไปอีกไม่เกิน 180 วัน และยังมีมาตรการเติมทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ หากมีธุรกิจอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้วงเงินเพิ่ม 10% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน

สำหรับนโยบายที่อยู่ระหว่างการออกระเบียบกฎหมายเพิ่มเติม

1. มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะกำหนดให้รายจ่ายการซื้ออุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านในพื้นที่น้ำท่วม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน

2. มาตรการขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมถึงการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักรและชิ้นส่วน ที่เกิดจากการลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วม

3. มาตรการสินเชื่อ Soft Loan เพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ฟื้นฟูทันช่วง High Season

ทั้ง 3 มาตรการ อยู่ระหว่างการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และประกาศ BOI คาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้า ครม. ได้ภายในเดือนตุลาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น