xs
xsm
sm
md
lg

ล็อกประชามติ2ชั้น ดับฝันแก้รธน. !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา


หลังจากที่ทางวุฒิสภาลงมติสวนทางกับสภาผู้แทนราษฎร ในร่างกฎหมายลงประชามติ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 1 มาตรา คือ มาตรา 7 (แก้ไขมาตรา 13) สาระสำคัญสั้นๆ ว่าหลักเกณฑ์ประชามติที่ใช้สำหรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นแบบ เสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) กล่าวคือ การทำประชามติต้องผ่านเกณฑ์ถึง 2 ชั้น ได้แก่ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และคะแนนเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ทำให้ต้องส่งร่างกฎหมายคืนมาที่สภาผู้แทนราษฎร ว่าจะมีความเห็นด้วยกับมติของวุฒิสภาหรือไม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาฯ มีมติไม่เห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไขด้วยเสียง 348 เสียง ต่อ 0 งดออกเสียง 65 เสียง จำนวนงดออกเสียง 65 เสียง เป็นเสียงของ สส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทั้งสิ้น จากทั้งหมดที่มีสส. 71 คน โดยอีก 6 คน ไม่ได้กดลงคะแนนเสียง

น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่าเป็นธรรมดาที่จะเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นนั้น คล้ายกับร่างของพรรคภูมิใจไทย ที่เสนอต่อสภาฯ สำหรับการแก้ไขเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่าจำเป็นต้องสะท้อนให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นหลักประกันที่การทำประชามติในเรื่องกฎหมายสูงสุดและกติกาสำคัญต้องได้รับความเชื่อถือ ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นยังมีข้อกำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 10%

“เกณฑ์ผ่านประชามติจะใช้เกณฑ์เดียว สามารถทำได้ และไม่ต้องทำเกณฑ์เดียวก็ได้ ไม่ติดใจ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกติกาปกครองประเทศ ดังนั้นต้องมีความละเอียดอ่อน เชื่อถือ มั่นใจได้ ที่ผ่านมาการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญพบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน 50% ดังนั้นหากไม่กำหนดอะไรไว้จะได้รับความน่าเชื่อถือได้อย่างไร หากสภาฯเห็นด้วยกับสว.จะไม่มีปัญหา แต่หากไม่เห็นด้วย จะทำให้ล่าช้า กินเวลาไปหลายเดือนเพราะใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นค่อนข้างมาก” น.ส.มัลลิกา กล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงเหตุผล ที่พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียงลงมติ ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ว่า การรับฟังความคิดเห็นจากวุฒิสภา และทุกภาคส่วน เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ และการปรับปรุงกระบวนการทำประชามติให้สมบูรณ์ก่อน ถือเป็นการเดินหน้าที่รอบคอบ ดังนั้น การลงประชามติถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญของประเทศ ไม่ควรเร่งรัดกระบวนการ เพราะจะมีผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว

“ เมื่อการลงมติของฝ่าย สส.กับ สว.มีความเห็นต่างกัน การงดออกเสียงของภูมิใจไทย จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า ควรมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและให้รอบคอบที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการทำประชามติในอนาคต จะเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถไว้วางใจได้” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อฟังจากคำพูดของ นายอนุทิน ดังกล่าวข้างต้นที่บอกว่านี่คือ “สัญญาณ” ของพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการส่งไปถึงทุกฝ่ายว่ามีเจตนาให้การ “ลงประชามติ” ต้องมีความละเอียดถี่ถ้วนเพื่อความรอบคอบมากขึ้น

แม้ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่โยงไปถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่มันก็พอมองออกว่า มันเชื่อมโยงถึงกันแน่นอน

เมื่อย้อนกลับมาที่ขั้นตอนหลังจากนี้ หลังจากต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา หากแต่ละสภายังยืนยันในมติของตัวเองแล้ว ก็จะเข้าสู่การพักกฎหมาย 180 วัน หรือ 6 เดือน แต่มีการประนีประนอม แต่ละฝ่ายยอมถอยกันคนละก้าวสองก้าว ก็อาจไม่ลากยาวไปแบบนั้นก็ได้

แต่หากพิจารณาจากท่าทีของวุฒิสภา ในเรื่องการลงประชามติ โดยอ้างอิงถึงกฎหมายสำคัญอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้อง “ล็อกเอาไว้สองชั้น” เนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญ หากใช้แค่เสียงข้างมากธรรมดา ไม่กำหนดจำนวนของผู้มาใช้สิทธิ์ และจำนวนการใช้สิทธิ์ แล้วก็น่าจะไม่ชอบธรรมนัก

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากวันเวลาที่ฝ่ายการเมืองต้องการให้มีการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบแรก พร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในช่วงต้นปีราวเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ก็ยังถูกมองว่ามี “วาระซ่อนเร้น” เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมือง และนักการเมืองในลักษณะชี้นำ เพราะในการเลือกตั้ง จะต้องมีการพึ่งพาระบบหัวคะแนน และอิทธิพลท้องถิ่นชี้นำมาถึงเรื่องการลงประชามติได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อกลับมาพิจารณาจากท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ที่อ้างว่าเพื่อให้การลงประชามติ ที่เชื่อมโยงไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความรอบคอบถี่ถ้วน มันก็ย่อมมีความหมาย เพราะหากพิจารณาจากแบ็กกราวด์แล้ว ถือว่าทั้งพรรคภูมิใจไทย กับวุฒิสภาย่อมมีความสอดคล้องกันในเรื่องของส.ว.เสียงข้างมากอยู่แล้ว

อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มเวลานี้เริ่มมองเห็นแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรายมาตรา หรือจะแก้ไขเพื่อให้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เริ่ม “ยาก” มากขึ้นทุกที นอกเหนือจากในตัวของรัฐธรรมนูญที่เขียนล็อกเอาไว้แล้ว ยังมีเรื่องเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองอย่างเดียว ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรนัก ยิ่งทำลายความชอบธรรมลงไปอีก

อย่างไรก็ดี สำหรับขั้นตอนด้านเวลา ก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันจริงๆ หลายฝ่ายยังเชื่อว่า ไม่น่าจะทันในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือใน ปี 70 โดยเฉพาะหากทั้งสองสภายังมีความเห็นของแต่ละฝ่าย และเมื่อพิจารณาจากมติของแต่ละสภาแล้ว ก็ยังเชื่อว่าน่าจะลากยาวไปถึง 180 วัน อย่างน้อยในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม ก็น่าไม่ทันสมัยประชุมนี้ ที่เหลือเวลาอีกไม่กี่วันเท่านั้น

ยิ่งไม่ต้องไปพูดเรื่องการลงประชามติครั้งแรก เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คิดว่าจะให้ทันในต้นปีหน้า เพราะพิจารณาแล้วไม่น่าจะทัน ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากท่าทีของสังคมที่เริ่มวางเฉยกับเรื่องดังกล่าว เพราะมองเห็นว่าเป็นเรื่องของนักการเมืองเป็นหลัก และต้องใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท รวมทั้งบรรยากาศก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว ชาวบ้านหันมาสนใจเรื่อง“ปากท้อง” อีกทั้งด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ที่เริ่มมีแรงกดดันมากขึ้นก็อาจเป็นไปได้เหมือนกับที่พรรคฝ่ายรัฐบาลไม่อยากเสี่ยง เพราะมักจะนำไปสู่วิกฤตการเมืองทุกครั้ง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น