'ธีรยุทธ สุวรรณเกษร' ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย สั่ง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' หยุดใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ยก 6 พฤติการณ์ เข้าข่ายเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษแต่กลับฝ่าฝืนไม่ยอมรับโทษตามพระบรมราชโองการ ครอบงำพรรคเพื่อไทยเพื่อประโยชน์ตัวเอง หวั่นปล่อยไว้เป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ ปัดเป็นมือปืนรับจ้าง แต่ได้ปรึกษา"ไพบูลย์"จริง
วันนี้(10ต.ค.)นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
นายธีรยุทธ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ตนได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด แต่เมื่อครบกำหนด 15 วัน คือวันที่ 9 ต.ค. 2567 อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการส่งคำร้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงใช้สิทธิในฐานะประชาชนมายื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ โดยมี 6 พฤติการณ์ที่เข้าข่ายคือ 1. หลังนายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาในลักษณะเอื้อประโยชน์ ให้กับทางกัมพูชาทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของประเทศไทย 3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง
6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำนโยบายที่นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 67 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย 67
ทั้ง 6 พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ในหลายคำวินิจฉัย อาทิคำวินิจฉัยสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการกระทำและยุบพรรคก้าวไกล ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุความเสียหายร้ายแรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้เรื่องดังกล่าวลุกลามขยายใหญ่ จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองรวม 8 ข้อ คือ ให้นายทักษิณ เลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เลิกเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำ หรือสั่งการดำเนินการของพรรคเพื่อไทย เลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน เลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และให้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้นายทักษิณ ใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำดังกล่าว
ทั้งนี้นายธีรยุทธ ปฏิเสธว่า การยื่นคำร้องในครั้งนี้ไม่ได้มีใครสั่งการ หรือรับงานใครมาแม้กระทั่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่เคยรู้จักหรือพบหน้ากันมาก่อน แต่การยื่นคำร้องเกิดจากที่ได้ศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกฎหมาย และมองเห็นถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เอามาต่อเป็นภาพจิกซอว์ ซึ่งยอมรับว่าได้มีการไปขอคำปรึกษาจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะจากที่เห็นการยุบไทรักธรรม และพรรคก้าวไกล ซึ่งนายไพบูลย์ ก็มองว่าเป็นไปได้ รวมถึงได้ปรึกษานักกฎหมายคนอื่นๆซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ก่อนที่จะยกร่างคำร้องนี้ ซึ่งใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล 2-3 เดือน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้หวังผลไปถึงขั้นยุบพรรค เพียงแต่คาดหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยยุติการกระทำ
นายธีรยุทธ ยังกล่าวอีกว่า ในกรณีเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตนยึดรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นหลัก และได้เตรียมพยานบุคคล 3-4 คน ซึ่งมีชื่อตามรายงานดังกล่าว มาให้ศาลพิจารณาเรียกตัวมาไต่สวน เพราะถือว่าเป็นพยานบริสุทธิ์ เมื่อเทียบกับคลิปเสียงหรือรูปภาพ ที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ เพราะถ้านำเข้ามาประกอบสำนวน หากไม่ได้รับการยินยอมก็อาจผิดกฎหมาย
เมื่อถามว่าพยานบุคคลจะรวมไปถึงพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยด้วยหรือไม่ เพราะเป็นผู้ออกมาเปิดเผย ว่าเป็นผู้เข้าพบในทักษิณ นายธีรยุทธ กล่าวว่า มิอาจก้าวล่วงศาล ซึ่งศาลเห็นอยู่แล้วว่าพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ออกมาดำเนินการอย่างไร แต่ตนจะยึดตามรายงานของกสม.เป็นหลัก
ทั้งนี้การยื่นคำร้องของนายธีรยุทธ ประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า เอกสารประกอบคำร้องอีก 443 แผ่น รวมคำร้อง เอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น ทำสำเนารวม 10 ชุด รวมเป็นเอกสาร 5,080 แผ่น
เปิดรายละเอียดคำร้อง
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ในฐานะประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้โปรดวินิจฉัยวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ได้สรุปสาระสำคัญของคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า
ก่อนยื่นคำร้องนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 ซึ่งครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ในวันที่ 9 ต.ค.67 ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้ดำเนินการส่งคำร้องขอของผู้ร้อง มายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องฉบับนี้ เพื่อขอศาลรัฐธรรมนูญ โปรดวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
ผู้ร้องมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏตามคำร้อง 65 หน้า โดยมีพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองแบ่งได้เป็น 6 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1. ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุม การบริหารรราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุก ได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืน ไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
กรณีที่ 2. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับ สมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับ สมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชา ละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทย ให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่ 3. ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
กรณีที่ 4.ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทน ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
กรณีที่ 5. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
กรณีที่ 6. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ โปรดพิจารณาวินิจฉัยว่า ทั้ง 6 กรณี ผู้ถูกร้องทั้งสองได้มีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และ ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศและสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลมมิให้ไฟกองเล็กกระพรือโหมไหม้รุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป
จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้
1.ให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
2.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
3.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
4.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
5.ให้พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
6.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
7.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
8.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบอีกจำนวน 443 แผ่น รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080 แผ่น