xs
xsm
sm
md
lg

ขยะชุมชน 2 จังหวัด เสี่ยงตกค้างเพิ่ม "สตง." พบ 7 คัสเตอร์โคราช ส่อมีปัญหา เงินให้เปล่าญี่ปุ่น 2.9 ล้าน เตาเผาขยะกำแพงเพชร ปิดยาวแล้ว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง. กังวล! แผนบริหาร อปท.จัดการขยะมูลฝอยชุมชน 2 จังหวัดใหญ่ "โคราช-กำแพงเพชร" เสี่ยงเป็นพื้นที่มี "ปริมาณขยะตกค้าง" เพิ่มสูงขึ้น หลังเข้าสำรวจ 7 กลุ่มรวมพื้นที่ "คลัสเตอร์" กำจัดขยะ และกว่า 80 สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่โคราช กว่าครึ่งไม่เกิดผลสำเร็จ แถมบริหารไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เหตุบางพื้นที่เปลี่ยนนโยบายบ่อย ส่วนโครงการเตาเผาขยะใน จ.กำแพงเพชร จากเงินให้เปล่า "โครงการจีจีพี" 2.9 ล้าน ของสถานทูตญี่ปุ่นในไทย ไม่ได้ไปต่อ หลัง อบต.พื้นที่ ปิดเตาเผาไปแล้วตั้งแต่ ส.ค.ปีนี้

วันนี้ (8 ต.ค.2567) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน 2 จังหวัด และ 2 ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ 2566

โดย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 (นครราชสีมา) เข้าตรวจสอบ 7 กลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (กลุ่มคัสเตอร์) ขณะที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 11 (นครสวรรค์) เข้าตรวจสอบ 8 อปท. ใน จ.กําแพงเพชร ตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน“จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2566 ของ กระทรวงมหาดไทย

ซึ่งที่ จ.นครราชสีมา สตง. พบว่า การที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ทำให้มีปริมาณขยะชุมชนมากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ ถึง 944,620 ตันต่อปี หรือ 2,588 ตันต่อวัน

มีขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ (รีไซเคิ่ล) 384,345 ตันต่อปี ร้อยละ 40.69 ขยะมูลฝอยที่กำจัดอย่างถูกต้อง 247,470 ตันต่อปี ร้อยละ 26.20

"แต่กลับมีขยะมูลฝอยที่กำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 312,805 ตันต่อปี ร้อยละ 33.11 ของปริมาณขยะชุมชนที่เกิดขึ้น และมีปริมาณขยะตกค้างสะสม 558,240 ตัน ส่วนใหญ่ตกค้างอยู่ตามสถานที่กำจัดขยะชุมชน ซึ่งไม่สามารถจัดการได้อย่างถูกหลักวิชาการ"

สตง. พบว่า การบริหารจัดการขยะมูลฝอย ใน 7 คลัสเตอร์ ซึ่งมี อปท. เป็นเจ้าภาพ 12 แห่ง ที่ผ่านมา ไม่เกิดผลสำเร็จและไม่มีประสิทธิภาพ อปท. บางแห่งให้ประชาชนในพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยด้วยตนเอง บางแห่งมีการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดที่บริษัทเอกชน และไม่มีระบบเก็บขนเต็มประสิทธิภาพ

ขณะที่ทำการสำรวจ จังหวัดไม่มีการจัดทำ "แผนปฏิบัติการจังหวัด (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายคลัสเตอร์" รวมทั้ง "คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด" ยังไม่มีการจัดทำแผนร่วมกับจังหวัด

ทำให้ไม่มีเจ้าภาพกลุ่มฯ และอปท. สมาชิกกลุ่มฯ เหตุเพราะยังไม่มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) และมีการจัดทำ MOU แต่ไม่เป็นปัจจุบันตามรายชื่อการร่วมกลุ่มฯ ของอปท.

ซึ่งปัจจุบัน จังหวัดได้ให้แต่ละ อปท. ดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอยเองไปก่อน รวมถึงยังไม่มีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลความสำเร็จของการรวมกลุ่มฯ

"ทำให้ ไม่มีวาระการประชุม เพื่อให้เจ้าภาพกลุ่มฯ ทั้ง 12 แห่ง รายงานปัญหาอุปสรรค ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย"

ขณะที่ สถานที่กำจัดขยะของเจ้าภาพกลุ่มพื้นที่ฯ บางแห่งไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยของ อปท. สมาชิกฯ ได้

จากการสุ่มตรวจสอบ พบว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของ อปท. เจ้าภาพกลุ่มพื้นที่ฯ บางแห่งไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับปริมาณขยะ ของ อปท. สมาชิกทุกแห่งฯได้

ประกอบกับระบบกำจัดขยะมูลฝอย ที่เป็นระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับปริมาณขยะมูลฝอย ณ ช่วงเวลานั้น

แต่ปัจจุบันปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น เกินขีดความสามารถของระบบกำจัดขยะมูลฝอย รวมทั้งไม่มีงบประมาณ ในการปรับปรุงระบบกำจัดขยะมูลฝอยให้สามารถรองรับปริมาณขยะที่เข้าสู่ระบบได้มากขึ้น

ปัจจุบันยังมี อปท. เจ้าภาพกลุ่มบางแห่ง ยังไม่สามารถใช้ระบบการกำจัดขยะมูลฝอยให้มีความเหมาะสมกับปริมาณขยะมูลฝอยที่เข้าสู่ระบบกำจัด หรือมีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับปริมาณขยะมูลฝอยที่เข้าสู่ระบบกำจัดแล้ว

แต่การดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และภายในสถานที่กำจัด ยังคงมีปริมาณขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก แม้ว่า อปท. เจ้าภาพกลุ่มบางแห่งจะมีการรื้อร่อนขยะมูลฝอยเก่า เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเพิ่มอายุการใช้งานของสถานที่กำจัดขยะฯ ให้สามารถรองรับขยะที่เข้ามาใหม่ ได้แก่

1) ทน.นครราชสีมา อ.เมือง ดำเนินการรื้อร่อนขยะมูลฝอยเก่าในพื้นที่ A จำนวน 400,000 ตัน และดำเนินการขนย้ายขยะของบ่อฝังกลบชั่วคราว ถึงมีนาคม พ.ศ. 2567 จำนวน 40,525.845 ตัน

2) ทต.สูงเนิน ดำเนินการรื้อร่อนขยะมูลฝอยเก่า จำนวน 25,000 ตัน และ 3) ทม.ปากช่อง ดำเนินการรื้อร่อนขยะมูลฝอยเก่า ถึง 3 มีนาคม 2567 จำนวน 160,345 ตัน

จากการตรวจสอบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยด้านต้นทาง และกลางทาง ของ อปท.จำนวน 12 แห่ง พบว่า การบริหารจัดการขยะด้านต้นทางของประชาชน

"ไม่มีการคัดแยกขยะมูลฝอยจากครัวเรือน รวมทั้งการทิ้งขยะมูลฝอยตามสถานที่สาธารณะอย่างไม่ถูกต้องตามประเภทของภาชนะรองรับขยะมูลฝอย และ การบริหารจัดการขยะด้านกลางทาง ยังเป็นการเก็บขนขยะแบบรวมไว้ในรถคันเดียว"

สตง. ยังพบว่า แม้จะมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ถึง 80 แห่ง แต่มีถึง 77 แห่ง ที่ใช้วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คิดเป็นร้อยละ 96.25

ประกอบด้วย 1) การเทกอง กลางแจ้ง (Open Dump) จำนวน 71 แห่ง 2) การเผากลางแจ้งจำนวน 4 แห่ง 3) การเทกองแบบควบคุม (Control Dump) จำนวน 1 แห่ง และ 4) การเผาในเตาเผาไม่มีระบบกำจัดมลพิษทางอากาศจำนวน 1 แห่ง

เช่น มีใช้กำจัดโดยวิธีการเผากลางแจ้ง ในป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และป่าอื่น ๆ จำนวน 1 แห่งคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)จระเข้หิน อำเภอครบุรี

พื้นที่ที่มีขยะตกค้างมากกว่า 20,000 ตัน มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษจากการปนเปื้อนของน้ำชะมูลฝอย การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไฟไหม้บ่อขยะมูลฝอย 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลสูงเนิน และ เทศบาลตำบลจอหอ

ขณะที่พื้นที่ที่ขยะมูลฝอยตกค้างที่มีปริมาณน้อยกว่า 20,000 ตัน มีจำนวน 73 แห่ง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะก่อให้เกิดมลพิษ

ส่วนสถานที่หรือบ่อกำจัดขยะมูลฝอย ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จำนวน 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3.75 คือ 1) ระบบฝังกลบแบบถูกหลัก สุขาภิบาลจำนวน 2 แห่ง และระบบแบบผสมผสานจำนวน 1 แห่ง

สตง. ยังให้ความสนใจไปที่ อปท. ที่มีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้แก่ อบต.นากลาง เทศบาลตำบลสูงเนิน เทศบาลตำบลแชะ อำเภอครบุรี เทศบาลตำบลด่านขุนทด อำเภอด่านขุนทด และเทศบาลเมืองปากช่อง อำเภอปากช่อง ซึ่งเป็นระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบเทกอง (Open Dump)

"อปท. บางแห่ง ผู้บริหาร ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน หรือต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือนโยบายที่มีความแตกต่างกันแต่ละช่วงเวลา ทำให้การจัดการขยะมูลฝอยชุมชน การขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง"

สำหรับการเข้าตรวจสอบ 8 อปท. ใน จ.กําแพงเพชร เช่น บริเวณที่ดินที่ตั้งของสถานที่กําจัดขยะมูลฝอย เป็นทรัพย์สินของ อปท. 4 แห่ง ที่สาธารณประโยชน์ 2 แห่ง ที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1 แห่ง ที่ดินในเขตสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) 1 แห่ง

เป็น แบบเทกองควบคุม 4 แห่ง เทกอง 1 แห่ง เตาเผาขนาดเล็ก 1 แห่ง และมีถึง 5 ไม่สามารถบริหารจัดการสถานที่กําจัดขยะมูลฝอยได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

"อปท.ทั้งหมด ยังไม่สามารถดําเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยให้เป็นไปตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle: PPP)"

ข้อมูลที่น่าสนใจที่ สตง.พบ ได้แก่ พบว่า สถานที่กําจัดขยะมูลฝอยของ อปท.1 แห่ง ไม่มีการใช้ประโยชน์แล้ว ได้แก่ สถานที่กําจัดขยะมูลฝอยของ องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)หนองไม้กอง

ซึ่งตั้งอยู่หมู่ 1 ต.หนองไม้กอง อ.ไทรงาม จ.กําแพงเพชร บนที่ดินสาธารณประโยชน์ขนาดประมาณ 2 ไร่ เปิดดําเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558

ซึ่งการกําจัดขยะเป็นแบบเตาเผาขยะระบบแก๊สซิฟิเคชั่นใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 2,932,200 บาท ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก โครงการจีจีพี สถานทูตญี่ปุ่นประจําประเทศไทย สามารถกําจัดขยะได้ปริมาณ 1 ตันต่อวัน

ปัจจุบัน พบว่า อบต.หนองไม้กอง ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเตาเผาขยะแล้ว โดยให้ข้อมูลว่า สํานักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4 (นครสวรรค์) ได้เข้ามาประเมินสถานที่กําจัดขยะมูลฝอย แล้ว

พบว่ าไม่เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินที่กําหนด กล่าวคือ โครงสร้างพื้นฐานของสถานที่กําจัดขยะมูลฝอยไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น ไม่มีอาคารสํานักงาน มีเพียงโรงเตาเผาขยะ ไม่มีรั้วล้อมรอบ ไม่มีลานล้างรถ บ่อบําบัดน้ําเสีย เครื่องชั่งน้ำหนัก

ไม่มีการตรวจวัดคุณภาพน้ําผิวดิน ณ แหล่งน้ำ ใกล้เคียงกับสถานที่กําจัดขยะมูลฝอย ไม่มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำใต้ดิน และไม่มีระบบกันซึมในบ่อ ฝังกลบ

ซึ่งปัจจุบัน อบต.หนองไม้กอง ได้มีประกาศเรื่อง การหยุดให้บริการเก็บขยะมูลฝอย ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

โดยขอความร่วมมือให้ประชาชน มีการคัดแยกขยะต้นทางในครัวเรือน การทําขยะเปียก และการทําธนาคารขยะไปพลางก่อนจนกว่าจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

โดยแนวทางเบื้องต้นที่ อบต.หนองไม้กอง ดําเนินการ คือ การส่งเสริมให้ชุมชนหันมาทํา “ธนาคารขยะ” และได้นําร่อง หมู่ที่ 3 บ้านแม่ยื้อ และคาดว่าจะ ขยายให้ครบทุกหมู่บ้าน จํานวน 10 หมู่บ้าน.


กำลังโหลดความคิดเห็น