xs
xsm
sm
md
lg

"หมอชัย" เร่งยกระดับพัฒนาโคเนื้อไทยพรีเมี่ยมเพื่อการส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้แทนการค้าไทย “ชัย วัชรงค์” เร่งพัฒนาตลาดโคเนื้อพรีเมี่ยม มุ่งส่งเสริมการส่งออกและยกระดับมาตรฐานการผลิต

วันนี้ (7 ตุลาคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 302 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ ผู้แทนการค้าไทย เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพัฒนาตลาดส่งออกโคเนื้อของไทย พร้อมตัวแทนจากสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และสหกรณ์โคเนื้อทั่วทั้งประเทศไทย เช่น สหกรณ์โคเนื้อวากิวหนองคาย สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน สหกรณ์การเกษตรหนองสูง และเครือข่ายวิสาหกิจผู้เลี้ยงโควากิว จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

โดยผู้แทนการค้าไทยเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาตลาดสำหรับสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะเนื้อโค ซึ่งในปัจจุบันราคาตกต่ำ รัฐบาลพยายามหาวิธีแก้ไขผ่านการส่งเสริมการขยายตลาด แต่พบว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ บางเกษตรกรที่เลี้ยงโคสามารถทำกำไรได้ดี ขณะที่บางส่วนขาดทุน ซึ่งในส่วนของผู้แทนการค้าไทยมีหน้าที่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการขยายตลาดเนื้อโค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดเนื้อโค Premium ที่ยังไม่มีการส่งออกมากนัก การส่งออกเนื้อโคของไทยในปัจจุบันมักเป็นตลาดระดับล่าง ซึ่งกำไรต่ำ ทำให้เป้าหมายสำคัญคือ การขยายตลาดส่งออกและพัฒนาให้ครอบคลุมทุกระดับ

สำหรับมุมมองของตัวแทนสมาคมโคเนื้อ มองว่าการพัฒนาการเลี้ยงโค Premium ซึ่งเน้นที่การเลี้ยงโคที่มีไขมันแทรกในเนื้อ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ประกอบกับผลกระทบของข้อตกลงทางการค้า เช่น FTA ซึ่งบังคับให้เกษตรกรต้องพัฒนาการเลี้ยงให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการขยายตลาด Premium และเป็นศักราชใหม่ของอุตสาหกรรมโคเนื้อของไทยที่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและสร้างโอกาสในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ตลาดโคเนื้อ Premium ในประเทศไทยยังคงมีขนาดเล็กและเติบโตช้า เนื่องจากมีการแข่งขันจากการนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะโคเนื้อที่เลี้ยงด้วยหญ้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าในประเทศ อย่างไรก็ตาม โคเนื้อ Premium ไทยยังสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในตลาดเพื่อนบ้าน (CLMV) แต่ปัญหาหลักคือการทำการตลาด สำหรับตลาดต่างประเทศ ผู้ประกอบการของไทยยังขาดมาตรฐานการผลิตที่รองรับข้อกำหนดของตลาดต่างประเทศ เช่น มาเลเซียและจีน ซึ่งมีความต้องการเนื้อโคสูง หากไทยสามารถยกระดับมาตรฐานการผลิตและขยายตลาดส่งออกได้ จะสามารถสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและทำให้การผลิตเนื้อโคในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับแนวทางปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการส่งออกโคเนื้อ ทุกฝ่ายมองว่า 1) ตลาดโคเนื้อ Premium มีความน่าสนใจ: จำเป็นต้องชัดเจนในเรื่องของทิศทางตลาด โดยเน้นไปที่ตลาดเนื้อ Premium อย่างแท้จริง ไม่เน้นการแข่งกับตลาดเนื้อทั่วไปที่มีราคาต่ำกว่า ควรเน้นที่การทำให้ตลาดพรีเมี่ยมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรและผู้ผลิตได้กำไรที่ยั่งยืน 2) การพัฒนาสายพันธุ์และคุณภาพ: ในอดีตการผสมพันธุ์ยังไม่สามารถสร้างคุณภาพเนื้อที่มีไขมันแทรกได้ดี แต่ปัจจุบันเกษตรกรมีความรู้มากขึ้นและสามารถพัฒนาสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ตลาดพรีเมี่ยมได้ เช่น การใช้พ่อพันธุ์ที่ดีเข้ามาในระบบ ซึ่งทำให้ได้เนื้อที่มีคุณภาพสูงขึ้น 3) มีระบบการผลิตและการตลาดที่เสถียร: การผลิตเนื้อพรีเมี่ยมต้องมีความต่อเนื่องและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เกษตรกรต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐบาลในการส่งเสริมแม่วัวและการคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่มีคุณภาพ รวมถึงการจัดระบบการตลาดที่แน่นอน 4) มีโมเดลเครือข่ายการผลิต: การสร้างระบบการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเป็นหัวใจสำคัญ เช่น การสร้างกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมมือกันในการผลิตและส่งออกตามมาตรฐานเดียวกัน พร้อมกับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรรายย่อยสามารถผลิตเนื้อคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง และ5) บทบาทของภาครัฐ: รัฐควรเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแม่วัว การจัดหาพ่อพันธุ์ที่ดี รวมถึงการเปิดตลาดเพื่อให้มีการรับซื้อเนื้อพรีเมี่ยมในปริมาณที่สม่ำเสมอ

ในช่วงท้าย ผู้แทนการค้าไทยยืนยันที่จะส่งเสริมการส่งออกโคเนื้อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการ พร้อมส่งเสริมมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการของไทย ทางกรมปศุสัตว์ได้เตรียมส่งเสริมมาตรฐานทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ให้กับผู้ประกอบการไทย ส่วนปลายน้ำ หรือการส่งออกไปสู่ตลาด ทางรัฐบาลพร้อมสนับสนุนและร่วมมือ


กำลังโหลดความคิดเห็น