รมต.สำนักนายกฯ เผย ดีเดย์ 3 ต.ค.! บังคับใช้ “มาตรการส่งดี” คุ้มครองผู้บริโภคแบบเก็บเงินปลายทาง แก้ปัญหาสินค้าไม่ตรงปก คืนเงินได้ใน 5 วัน
วันนี้ (2 ต.ค.) เวลา 10.30 น. นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พลตำรวจตรี วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ประกอบการให้บริการขนส่งและแพลตฟอร์มออนไลน์ รวม 7 แห่ง ร่วมแถลงข่าวมาตรการส่งดี (Dee - Delivery) การให้บริการขนส่งสินค้า โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
นางสาวจิราพร กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีการจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยมักใช้บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง เพราะมีความสะดวก และสั่งซื้อได้ง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายหวังใช้ช่องทางนี้หลอกลวงผู้บริโภค เช่น ส่งสินค้าไม่ตรงปก มีการเรียกเก็บเงินโดยไม่ได้สั่งสินค้า สินค้าชำรุด บกพร่อง และสูญหาย บางรายไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ทำให้เกิดปัญหาการขอคืนเงิน และสร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริโภค
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เพราะมีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จึงได้กำชับให้ สคบ. เร่งดำเนินการติดตามและแก้ไขโดยด่วน ซึ่ง สคบ. ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 หรือเรียกว่า มาตรการส่งดี (Dee - Delivery) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม นี้ ซึ่งมาตรการนี้จะคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความเสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าและรับบริการขนส่งจากผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม ช่วยปกป้องผู้บริโภคจากผู้หลอกลวงจำหน่ายสินค้าไม่ตรงปก สินค้าชำรุด หรือหลอกส่งสินค้า โดยสามารถปฏิเสธการรับสินค้าและไม่ต้องชำระเงินได้ หรือหากผู้บริโภคเปิดกล่องสินค้าภายหลังจากที่ชำระเงินไปแล้ว พบปัญหา สินค้าไม่ตรงปก ชำรุด ไม่ได้สั่ง สามารถแจ้งขอเงินคืนได้ ภายใน 5 วัน (นับแต่วันได้รับสินค้า)” นางสาวจิราพร กล่าว
นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ ยังครอบคลุมถึงการให้บริการของบริษัทขนส่ง ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีเหตุตามที่แจ้งจริง บริษัทขนส่งจะต้องคืนเงินทั้งหมดให้กับผู้บริโภค ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 แอปพลิเคชัน OCPB Connect และเว็บไซต์ www.ocpb.go.th