xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวแผนที่พื้นที่เสี่ยงดินถล่มทั่วไทย เตรียมรับมือป้องกันแจ้งเตือนภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.รับทราบและเห็นชอบ “แผนที่และบัญชีแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย” ตามที่กระทรวงทรัพยากรฯ เสนอพร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเตรียมความพร้อมในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินโคลนถล่มใน 54 จังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบวาระที่ ทส.โดยกรมทรัพยากรธรณีเสนอคือ “แผนที่และบัญชีแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย” เพื่อเป็นกรอบในการป้องกันและลดผลกระทบแผ่นดินถล่ม โดย ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินโคลนถล่มใน 54 จังหวัดทั่วประเทศ โดย ทส.จะได้จัดส่งแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มระดับประเทศและระดับจังหวัด พร้อมทั้งแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มระดับชุมชนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดและชุมชน และจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลธรณีพิบัติภัย เพื่อให้หน่วยงานใช้ข้อมูลการเตือนภัยจากสถานีตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดินเพื่อการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มในพื้นที่

รมว.ทส.กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังได้จัดทำกรอบแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาแผ่นดินถล่มเสนอ คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) เพื่อเป็นกรอบการบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อรับมือกับความเสี่ยงธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเฝ้าระวังและป้องกันภัยแผ่นดินถล่ม ต่อไป 


ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.กล่าวว่า สำหรับแผนที่และบัญชีแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย ใช้มาตราส่วน 1:250,000 โดยใช้ปัจจัยทางธรณีวิทยาและปัจจัยควบคุมการเกิดแผ่นดินถล่ม จำนวน 7 ปัจจัย ได้แก่ 1.กลุ่มหินวิทยา 2.โครงสร้างทางธรณีวิทยา 3.ระดับความสูง 4.ความลาดชัน 5.ทิศทางการไหลของน้ำ 6.หน้ารับน้ำฝน และ 7.การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบลและ 15,080 หมู่บ้าน คิดเป็น 135,000 ตารางกิโลเมตรหรือ 84.8 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศไทย โดยขณะนี้กรมทรัพยากรธรณี ได้มีการติดตั้งสถานีตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดินเพื่อตรวจติดตามการเกิดแผ่นดินถล่ม จำนวน 25 สถานีและในปีงบประมาณ 2568 จะมีการติดตั้งเพิ่มในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตากและเชียงใหม่ จำนวน 20 สถานี และในปีงบประมาณ 2569 กรมทรัพยากรธรณี ของบประมาณติดตั้งเพิ่มอีก 100 สถานี เพื่อให้เกิดการเตือนภัยและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน






กำลังโหลดความคิดเห็น