“พิเชษฐ์” ลั่นสภาต้องเร่งแก้ กม.ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เตรียมเชิญหน่วยงานหารือมาตรฐาน ใช้โดรนช่วยดับไฟใน กทม. ลั่นวัวหายแล้วล้อมคอกก็ยังดี ค้านยกเลิกทัศนศึกษาชี้ยังจำเป็นต้องเสริมความรู้
วันที่ 2 ต.ค.นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนแห่งชาติ แถลงข่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ประสบเหตุและชาว จ.อุทัยธานี กรณีโศกนาฏกรรมเมื่อวานนี้ (1 ต.ค. 67) ที่รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียน จ.อุทัยธานี ประสบอุบัติเหตุและเกิดเพลิงลุกไหม้ ในฐานะประธานกรรมการฯ ซึ่งมีส่วนกลางอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร จะต้องทำให้เกิดการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ในแต่ละปีที่ผ่านมามีการสูญเสียถึง 17,000 - 20,000 คน ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว อาทิ ประเทศอังกฤษ สูญเสียประมาณ 2,000 คนต่อปี ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีเป้าหมายที่จะลดอุบัติเหตุ ลดจำนวนการสูญเสียให้น้อยลงในทุก ๆ ปีให้ได้
นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ประเด็นรถสาธารณะที่บริการสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถตู้ รถบัส ซึ่งเป็นรถที่จะต้องดูแลอย่างรอบคอบ โดยรถแท็กซี่มีอายุการใช้งาน 7 ปี ส่วนรถตู้สามารถผ่อนผันได้จนถึง 10 ปี แต่รถบัสนั้นข้อกำหนดการใช้งานจำเป็นต้องมีเหมือนรถแท็กซี่ ไม่ใช่รถอายุ 50 ปี แล้วนำมาดัดแปลงขออนุญาต ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเกี่ยวกับมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย เช่น การรับจดแจ้งขึ้นทะเบียนรถที่มีการนำชิ้นส่วนมาประกอบกันแล้วขอจดทะเบียนก็จะต้องเรียกมาทางกระทรวงคมนาคมมาพูดคุย จะต้องสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ให้มีมาตรฐานมากขึ้น และมาตรฐานสูงสุดคือเด็กและเยาวชน เมื่อจะไปทัศนศึกษาข้ามจังหวัดจะต้องมีรถนำขบวนหรือไม่ การขับขี่จะต้องใช้ความเร็วเท่าไร
“สส.ในฐานะผู้ออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมายจะต้องเข้มงวดและนำโศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญที่จะต้องปรับปรุงมาตรฐานรถบนท้องถนน รวมถึงเกิดเหตุเพลิงไหม้ในกรุงเทพฯ ต้องให้ความสำคัญกับการดับเพลิงที่ทันท่วงที จะเห็นได้ว่าเวลาเกิดเหตุบนท้องถนน รถจะติดมาก รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้ อุปกรณ์ดับเพลิงประจำรถก็ไม่มีมาตรฐาน จึงต้องพูดคุยกับหน่วยงานโดยเน้นในเรื่องของโดรนดับเพลิง ไม่ว่าจะเป็น อาคารสูง หรืออุบัติเหตุบนท้องถนน จึงต้องผลักดันให้มีการใช้โดรนสำหรับดับเพลิงขึ้น”
อีกทั้งการตรวจสอบสภาพของรถที่จะเดินทางสำหรับการทัศนศึกษาทั้งของเด็กนักเรียนและประชาชนที่จะไปทัศนศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ จำเป็นต้องตรวจสอบสภาพรถให้ได้มาตรฐานและมีกระบวนการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะหากเกิดความสูญเสียแล้วจะไม่คุ้มค่า
เมื่อถามกระแสสังคมบางส่วนเรียกร้องให้ยกเลิกการจัดทัศนศึกษา นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ไม่สามารถยกเลิกได้เพราะเป็นกระบวนการที่จะเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ ไม่ว่าเด็กนักเรียน ชุมชน หรือประชาชน จำเป็นต้องเดินทาง ดังนั้น คำตอบคือกฎระเบียบ กฎหมาย ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะต้องมีมาตรฐานที่สูงขึ้น
เมื่อถามว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้งเพิ่งจะมีการเข้มงวด ถือเป็นวัวหายล้อมคอกหรือไม่ นายพิเชษฐ์กล่าวว่า วัวหายแล้วล้อมคอกก็ยังดี เหตุการณ์อื่นๆที่เกิดขึ้นมาก่อนนี้ตนไม่ได้มายืนตรงนี้ แต่เมื่อมายืนตรงนี้เมื่อมีโอกาสก็จะรีบทำ และเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดขึ้นซ้ำ