ครม.ไฟเขียวปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยประสบอุทุกภัยเข้าถึงแหล่งทุน ทบทวนมติ ครม. ขอขยายแก้หนี้สินเกษตรกรตามโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) และโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.)
วันนี้ (1 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยและกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอและป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost UP ของธนาคารออมสิน พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. รับทราบโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2567 ภายใต้โครงการ PGS 11 ของ บสย.
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลังเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost UP ของธนาคารออมสิน เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการอิสระที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการฟื้นฟูกิจการ จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost UP ของธนาคารออมสิน โดยจัดสรรวงเงินโครงการจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการเดิม โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ระยะเวลายื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสิน สามารถจัดสรรวงเงินโครงการได้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้ได้รับสินเชื่อตามโครงการได้อย่างเพียงพอและช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ บสย. ได้จัดทําโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2567 ภายใต้โครงการ PGS 11 ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการเพิ่มขึ้น เป็นไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมเฉลี่ยทั้งโครงการไม่เกินร้อยละ 30 อัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.25 ต่อปี รัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการใน 3ปีแรก ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี รับคําขอค้ำประกัน 30 เมษายน 2568 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถขอรับค้ำประกันสินเชื่อในโครงการย่อยอื่นภายใต้ โครงการ PGS 11 ได้ และเมื่อรวมวงเงินค้ำประกันของทุกสถาบันการเงินต้องไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย
ทั้งนี้ ประโยชน์และผลกระทบจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดําเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินดังกล่าว จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการฟื้นฟูกิจการ
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) และโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) (การแก้ไขปัญหาหนี้สิน) ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2567 เป็นสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2572 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ (สงป.) ยังขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามและรายงานผลการชำระเงินคืนให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนดของโครงการต่อคณะรัฐมนตรีด้วย
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 เห็นชอบการขยายระยะเวลาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2567 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้งดคิดค่าบริหารสินเชื่อของต้นเงินกู้ทั้งหมด แต่เนื่องจากผลการดำเนินงานปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พบว่า ยังคงมีเกษตรกรเป็นหนี้ จำนวน 21,968 ราย ต้นเงินกู้ จำนวน 558.55 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีเวลาในการชำระหนี้ เนื่องจากยังมีเกษตรกรบางส่วนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามศักยภาพได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการรักษาวินัยการชำระหนี้ของเกษตรกร ประกอบกับการขยายระยะเวลาดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต กษ. จึงเสนอขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) และโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) (การแก้ไขปัญหาหนี้สิน) ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2567 เป็นสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2572