“วราวุธ” กำชับ พม. 11 จังหวัดภาคกลาง รับมือฝนฟ้าคะนอง-อากาศแปรปรวน หลังกรมอุตุฯ ออกประกาศเตือน เตรียมแผนช่วยเหลือ ระยะสั้น-กลาง-ยาว
วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งมีผลกระทบในช่วงวันที่ 30 กันยายน – 3 ตุลาคม 2567 โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย ทั้งนี้ ตนได้กำชับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด พร้อมหน่วยงานทีม พม. หนึ่งเดียวจังหวัดที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากอากาศแปรปรวน ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และวางแผนและกำหนดช่องทางการแจ้งเตือนภัยให้เครือข่ายกระทรวง พม. และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในระบสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์ (MSO – Logbook) พร้อมทั้งลงพื้นที่ร่วมกับท้องถิ่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มเปราะบาง ในการเตรียมความพร้อมในการอพยพ ก่อนเกิดเหตุหรือเมื่อได้รับการแจ้งเตือน
นายวราวุธ กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานทีม พม.หนึ่งเดียวจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ - สถาน – บ้าน - นิคม ขอให้จัดเตรียมสถานที่ เพื่อรองรับการเปิดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับกลุ่มเปราะบาง และวางแผนการอพยพ เคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงของ พม. หรือหน่วยอื่นๆ ล่วงหน้า อาทิ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก เพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ขอให้สำรวจ รวบรวม เตรียมความพร้อม และระดมทรัพยากรที่มีอยู่ของหน่วยงาน อาทิ สิ่งของบริจาค สถานที่ ยานพาหนะ และบุคลากร เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ กรณีเกิดสถานการณ์ พร้อมทั้งวางแผนการจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากรของหน่วยงาน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบกรณีฉุกเฉิน และที่สำคัญ ขอให้วางแผนการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ทั้ง 1) ระยะสั้น ด้วยการช่วยเหลือเป็นการจ่ายเงินสงเคราะห์ ถุงยังชีพ การจัดการศูนย์พักพิง การประสานความช่วยเหลือ การอพยพ 2) ระยะกลาง ด้วยการเยียวยาจิตใจ การสำรวจสภาพความเสียหายและความต้องการ และ 3) ระยะยาว ด้วยการฟื้นฟูสภาพที่อยู่อาศัย การส่งเสริมอาชีพ และการจัดการเคสรายกรณี (CM)