“นันทนา”จี้ถาม “พณ.” จัดการแอพ TEMU จากจีน หลังSMEs ไทยเดือดร้อน ด้าน “พิชัย” ชี้ สินค้าจีนแทรกแค่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุเกิดจากโควิด บี้ “แบงค์ชาติ” ออกแรงช่วยหลัง-รบ.ฟื้นเศรษฐกิจ บอก10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยอะไรเลย ยันไม่อยากทะเลาะกับใคร
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ถาม รมว.พาณิชย์ กระทู้ถามรวม.กระทรวงพาณิย์ เรื่องขอให้รัฐบาลเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหารครอบงำของอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการ SMEsในไทย ว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่ข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อ เอาเอ็มอีไทย ซึ่งแพลตฟอร์มล่าสุดคือทีมู(TEMU) ประเทศจีนที่ขายสินค้าทุกชนิดด้วยราคาต่ำมากโดยใช้วิธีตัดพ่อค้าคนกลางออกไปทำให้เธมู่ประสบความสำเร็จทั้งในอเมริกาและยุโรปอย่างรวดเร็ว โดยใช้วิธีลดต้นทุนเพื่อให้ต่ำที่สุด ขณะเดียวกันคนที่ซื้อสินค้าราคาถูกเหล่านี้ก็อาจจะได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือใกล้หมดอายุมีสารปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือใช้ไม่ได้จริงที่เราเรียกว่าไม่ตรงปกเมื่อสินค้าขายไม่ได้ก็กลายเป็นขยะที่กำลังมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ที่สำคัญพ่อค้าแม่ค้าไทยได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เนื่องจากผู้บริโภคสั่งซื้อตรงจากโรงงานที่ผลิตในประเทศจีนผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว และประเทศไทยขาดดุลการค้ากับประเทศจีนติดต่อกันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยเรื่อยโดยใน 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.33 ล้านล้านบาทส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 15.66 % ก่อนหน้านี้เห็นข่าวว่ารัฐมนตรีขอความร่วมมือผ่านทางทูตให้ทางทีโม มาจดทะเบียนและมาตั้งบริษัทในไทย ก็เอาใจช่วยว่าจะทำได้จริง เพราะขนาดเกาหลีใต้ สามารถทำให้ทีมูมาจดทะเบียนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่เมื่อไปตรวจสอบพบว่าสถานที่ตั้งไม่พบว่ามีผู้บริหาร มีเพียงป้ายที่แสดงสัญลักษณ์ของบริษัททีมูอยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐมนตรีที่ไปชวนเขามาตั้งบริษัท ขณะที่กิจกรรมไลฟ์คอมเมอร์ซไทยจีนที่ดึงอินฟลูเอนเซอร์ช่วยขายสินค้าไทยที่คาดว่าห้าวันจะทะลุ พันล้านบาทดูตัวเลขแล้วน่าทึ่ง แต่เทียบไม่ได้กับยอดที่ไทยขาดดุลจีน ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ฉาบฉวย
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ตนขอตั้งคำถามต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เอสเอ็มอีได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ 5 ข้อคือ 1.มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบงำจากอีคอมเมอร์ซข้ามชาติอย่างไร 2.มีมาตรการในการสนับสนุนเยียวยาSMES ในไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างไร 3.มีมาตรการในการจัดการกับปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพอันเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่จะเข้ามาตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร 4.มีแผนยุทธศาสตร์อย่างไรในการแก้ไขการขาดดุลการค้าไทยจีน และ5. ประเทศไทยจะร่วมมือกับอาเซียนอย่างไรในการจัดการกับปัญหานี้
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า ไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาจีนเพราะเป็นตลาดใหญ่ หากเจรจาต่อรองขายของในจีนจะได้ประโยชน์เยอะ ซึ่งได้เชิญ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เข้าหารือหลังรับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งจีนยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยทุกอย่าง โดยเรื่องแรกๆ ที่จะทำคือต้องให้สินค้าจีนมีมาตรฐาน เช่นผ่าน มอก. อย. และมีป้ายติดชัดเจน ซึ่งจีนยืนยันว่าพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด และส่วนตัวจะไม่ยอมเด็ดขาดหากมีการขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้จีนยังยืนยันที่จะลงทุนในไทยเพิ่ม แต่สิ่งสำคัญที่สนใจอยากให้ต่างชาติ มีเทคโนโลยีที่สููงมาลงทุนในไทยมากขึ้น
นายพิชัย ยังกล่าวถึงกรณี ทีมูแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สัญชาติจีน ว่า ถ้ามาตั้งที่ไทยจริงก็ต้องผ่านมาตรฐานต่างๆ และจะติดตามมอนิเตอร์สินค้าจีนที่เข้ามาอย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าไม่นิ่งนอนใจมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ทั้งสร้าง SMEs รุ่นใหม่ที่มีความสามารถ และการแก้ไขปัญหา SMEs ต้องบูรณาการทุกกระทรวง ต้องดูเรื่องหนี้สินของ SMEs เพราะปัจจุบัน หนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมากจะยากต่อการเดินหน้าต่อ โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องร่วมมือกัน แก้ไขปัญหาในภาพรวม เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งสินค้าจีนมาแทรกแซง SMEs เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่เกิดปัญหามาจากโควิด ซึ่งการตัดหนี้ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น จึงอยากให้ธปท.มองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติที่ต้องช่วยเหลือกัน กระทรวงการคลังร่วมมือกับธปท. แต่ธปท.เรายังไม่ยอมลดดอกเบี้ยพอตนออกมาตำหนิ ธปท.คนก็มาตำหนิตน
"ผมยืนยันไม่ได้ด่าแบงค์ชาติ แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ขนาดนี้ จะต้องออกมาตรการช่วยเหลือให้ฟื้น เหมือนประเทศจีน ออกแพ็คเกจใหญ่มาช่วย แต่10 ปีแบงค์ชาติไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งที่มีหน้าที่ช่วยเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่เพียงกระทรวงการคลังหรือรัฐบาลมีหน้าที่อย่างเดียว แต่ทั้งโลกแบงค์ชาติมีหน้าที่ฟื้นเศรษฐกิจ อย่างสหรัฐฯหากมีปัญหาก็อัดเงิน จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ผมยืนยันไม่อยากทะเลาะกับใครหรือข้องใจกับใคร บางครั้งอาจจะพูดแรงไปบ้าง เพราะรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งหอการค้า ภาคอุตสาหกรรม โทรมาบอกว่ามันจะเจ๊งกันอยู่แล้ว มาเจอโควิด ดอกเบี้ยแพงหลายเรื่อง เราพยายามแก้ทุกทาง แต่ต้องแก้ภาพรวมทั้งหมดด้วย เราอยากแก้ทุกอย่างพร้อมกัน ร่วมมือกันทุกฝ่าย ที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤต ทำอย่างไรให้ฝ่าวิกฤตไปให้ได้" นายพิชัยกล่าว
นายพิชัย กล่าวย้ำว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำลังทำคือเร่งเจรจาการค้า ในการแก้ปัญหาผู้ประกอบการ SMEs จะมีการแถลงเร็วๆนี้ โดยนายกรัฐมนตรี มีหลายโปรแกรมที่จะให้ความช่วยเหลือ เพราะเป็นหน้าที่หลักรวมถึงต้องผลักดันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ตนยินดีเปิดรับฟัง และแก้ไขให้กับผู้ที่มีปัญหา