วันนี้(28 ก.ย.)นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี เขต 10 ได้ตั้งกระทู้ถามนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึงเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความหวังของผู้สูงอายุในจังหวัดชลบุรี ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้สูงอายุก็จะมีคำถามและความหวังว่า เบี้ยผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ เนื่องจาก ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.06 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในจังหวัดชลบุรีมีจำนวนผู้สูงอายุ 250,056 คนและอำเภอสัตหีบมีจำนวนผู้สูงอายุ 27,149 คน และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่คุณภาพชีวิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น กลับไม่สอดคล้องกับเบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับในปัจจุบัน
นายสะถิระ กล่าวต่อว่า เบี้ยผู้สูงอายุสำหรับหลาย ๆครอบครัวถือเป็นรายได้หลักในการใช้ดำรงชีวิตในแต่ละเดือน ยังไม่รวมถึงผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ตนจึงอยากทราบว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายการขึ้นเบี้ยผู้สูงอายุหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ ผู้สูงอายุในจังหวัดชลบุรี อย่างเช่น ในพื้นที่ชุมชนแออัด หรือเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อาศัยอยู่เยอะ มีอยู่หลายครอบครัวที่ไม่มีผู้ดูแลผู้สูงอายุเลย จึงขอถามไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล หรือไม่
นายสะถิระ ยังถามต่อด้วยว่า ในการรักษาพยาบาลในกลุ่มโรคเรื้อรัง โรคร้าย หรือการฟอกไต และกลุ่มยาวิตามินที่ผู้สูงอายุต้องรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นวิตามินบี วิตามินเอ ที่เกี่ยวโรคสายตา โรคความจำ ตรงนี้มันเบิกไม่ได้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายการรักษาพยาบาลในกลุ่มโรคเรื้อรัง และกลุ่มโรคร้ายหรือไม่
“ในปัจจุบันต่างประเทศมีการเปิดรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน จะเป็นไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างชาติหรือของคนไทย หากมีการจ้างงาานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้”นายสะถิระ กล่าว
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอบคำถามของนายสะถิระว่า ปัจจุบันนั้นเรามีให้เบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได ขั้นตอนในการที่จะเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุนั้น จากการที่คณะกรรมการส่งเสริมและจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ได้มีมติที่ประชุมเมื่อปลายปี 66 ว่า จะให้มีการพัฒนาเพิ่มเบี้ยยังชีพในลักษณะที่เป็นขั้นบันไดเหมือนเดิมจาก 600 700 800 เป็น 700 850 1000 บาทและ 1250 บาท ซึ่งถ้าใช้มาตรการเดิมจะใช้งบประมาณอยู่ประมาณเกือบ 96,000 ล้านบาท แต่ถ้าเกิดเป็นงบประมาณขั้นบันไดแบบใหม่คือเพิ่มขึ้นอย่างละนิดแล้วก็ยังไม่ถ้วนหน้าจะเพิ่มเป็น 114,000 ล้านบาทนี่คือแนวทางที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี หรืออีกแนวทางหนึ่งเป็นการเพิ่มเบี้ยสวัสดิการให้เป็น 1000 บาทถ้วนหน้า แบบไม่เป็นขั้นบันได ซึ่งแนวทางนี้มาจากการประชุมของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ แนวทางนี้จะทำให้ผู้สูงอายุทุกคนได้เบี้ยยังชีพ 1000 บาท แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนที่ทำนองเดียวกัน เพราะว่า เป็นการเพิ่มเงินที่มากพอสมควร ถ้าใช้แบบ 1000 บาทถ้วนหน้า งบจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 167,000 ล้านบาท และจะเพิ่มอีกมากในอนาคต การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เราอยากจะเพิ่มให้จริงๆ แต่การที่จะเพิ่มงบประมาณนั้นคงต้องดูขาเข้าด้วย เพราะว่าวันนี้ขาออกเยอะมาก
ในส่วนของยโยบายในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแลนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า เรามีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม.ที่เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ ประมาณ 60,000 คน จะทำให้เราสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ประมาณ 1,500,000 คน และยังมีโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุด้วย
สำหรับประเด็นเรื่องการรักษาพยาบาลนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า เราอยากเข้าไปดูจริงๆ แต่ภารกิจของเราฃคงไม่สามารถไปก้าวล่วงกระทรวงสาธารณสุขได้ แต่เราจะเน้นในเรื่องการป้องกันมากกว่าการรักษา เช่น ให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะสอดคล้องกับการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังมีงานทำอยู่ หลังอายุ 60 ไปแล้ว เหมือนกับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะว่า ตัวผู้สูงอายุเองก็จะแอคทีฟ สมองยังทำงานอยู่ ไม่กลายเป็นคนติดบ้าน ไม่กลายเป็นคนติดเตียง และจะไม่กลายเป็นภาระทางด้านสาธารณสุขให้กับบุคลากรและงบประมาณ ผมจึงเห็นด้วยกับท่านสะถิระเป็นอย่างยิ่งว่า อยากจะให้มีการจ้างงานของผู้สูงอายุ