xs
xsm
sm
md
lg

มท. เวียนผู้ว่าฯ ยกเคส ปปช.ชี้มูล "นาย จ." ส.อบจ. จังหวัด ช. รวยผิดปกติ ใช้รายงานข้อเท็จริง พ่วงอำนาจระดับสูงสุด "มท.1" ในการสั่งปลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดมท. ยกข้อหารือกฤษฎีกา เวียนผู้ว่าฯทั่วประเทศ ยกคำวินิจฉัย ป.ป.ช. ชี้มูล "นาย จ." สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ช. ร่ำรวยผิดปกติ ใช้เป็นกระบวนการรายงานผลการสอบสวนและข้อเท็จจริงถึงผู้บังคับบัญชา พ่วงแจงอำนาจ "มท.1" ในระดับสูงสุด สั่งให้พ้นจากตําแหน่ง ตาม ม. 122 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยการปราบปรามทุจริต ปี 2561

วันนี้ (26 ก.ย.2567) มีรายงานกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) แจ้งผลหารือปัญหาข้อกฎหมายถึงกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการสั่งให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) พ้นจากตําแหน่ง

กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน และวินิจฉัยว่า ร่ำรวยผิดปกติ ตามมาตรา 122 วรรคห้าและวรรคหก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยมีความเห็นดังนี้

1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หากบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวกําหนดหน้าที่และอํานาจหรือวิธีการใด ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การดําเนินการใด ๆ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัตินั้น

โดยไม่จําเป็นต้องดําเนินการ ตามกระบวนการหรือขั้นตอนปกติที่มีกฎหมายอื่นกําหนดไว้ เว้นแต่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

โดยกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกตินั้น มาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กําหนดกระบวนการไว้เป็น 2 ประการ

กล่าวคือ ประการที่หนึ่ง การดําเนินคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 122 วรรคหนึ่ง และประการที่สอง การดําเนินการให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตําแหน่ง

โดยกรณีของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป ซึ่งมาตรา 122 วรรคสาม กําหนดให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งคําวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุป ไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอํานาจแต่งตั้ง ถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่วินิจฉัย

เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ป.ป.ช. ได้รับแจ้ง โดยให้ถือว่ากระทําการทุจริตต่อหน้าที่ และกรณีของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น

ซึ่งมาตรา 122 วรรคห้า กําหนดให้คณะกรรมการ ส่งคําวินิจฉัย พร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่งเพื่อสั่งให้พ้นจากตําแหน่ง ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําการทุจริตต่อหน้าที่

โดยมาตรา 122 วรรคหก กําหนดให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน หรือผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่งมีอํานาจ สั่งไล่ออกหรือดําเนินการถอดถอนได้

โดยไม่ต้องสอบสวนหรือขอมติจากคณะรัฐมนตรี หรือความเห็นชอบจาก หรือผู้มีอํานาจ สั่งให้พ้นจากตําแหน่งในการสั่งลงโทษหรือสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่งกรณีร่ำรวยผิดปกติ

จึงเป็นการใช้ อํานาจที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน องค์กรบริหารงานบุคคล ด้วยเหตุนี้ การดําเนินการของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่ง จึงต้องดําเนินการสั่งให้บุคคลดังกล่าว พ้นจากตําแหน่งโดยไม่ต้องพิจารณาตามกระบวนการที่กําหนดไว้ในกฎหมายอื่นอีก

ทั้งนี้ ตามแนวความเห็น ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 315/2563

2. กรณีตามข้อหารือนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งคําวินิจฉัยว่า "นาย จ. สมาชิกสภาองค์การ บริหารส่วนจังหวัด ช." ร่ำรวยผิดปกติ พร้อมทั้งส่งข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อดําเนินการให้นาย จ. พ้นจากตําแหน่งต่อไป

แม้ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 กําหนดผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอํานาจสั่งให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตําแหน่งไว้โดยเฉพาะ

แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ซึ่งกําหนดให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบกับมาตรา 77 วรรคสาม และมาตรา 79 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

ซึ่งกําหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีอํานาจสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ้นจากตําแหน่ง

ในกรณีที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานผลการสอบสวนว่าผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าว จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการ ตามอํานาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคําสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด

ตลอดจนมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันที่กําหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีอํานาจยุบสภาองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้

กรณีจึงเห็นได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีอํานาจกํากับดูแลในระดับสูงสุดเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงเป็นผู้มีหน้าที่และอํานาจดําเนินการให้เป็นไปตามบทบังคับของมาตรา 122 วรรคห้าและวรรคหก แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงมีหน้าที่และอํานาจสั่งให้ "นาย จ. พ้นจากตําแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ช." กรณีร่ำรวยผิดปกติ ตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

มีรายงานว่า ล่าสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เวียนหนังสือความเห็น เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้กํากับดูแลองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

"สามารถนําไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้ในกรณีเดียวกัน"

ทั้งนี้ เมื่อปี 2566 ปปช.ชี้มูลความผิด สมาชิกสภา อบจ. ในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ร่ำรวยผิดปกติ โดยให้ส่งรายงานไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลทุจริตฯ ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สิน 43 รายการ เป็นจำนวนเงิน 4.6 ล้านบาท.


กำลังโหลดความคิดเห็น