วันนี้(26 ก.ย.)นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบกระทู้ถามสด ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงความจริงใจในการขึ้นค่าแรง 400 บาท โดยยืนยันว่า ส่วนตัวมีความตั้งใจที่จะพยายามผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เชื่อว่า สส.และผู้ใช้แรงงาน คงทราบดีว่าเจตนารมณ์ของรัฐบาล มีการตั้งเป็นนโยบายในรัฐบาลท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทในปี 2570 ซึ่งส่วนตัวยึดถือนโยบายมาโดยตลอด และถึงแม้นว่ารัฐบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี เป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และไม่ได้กําหนดในนโยบายถึงค่าแรงขั้นต่ำ แต่ถือว่าสิ่งที่รับโจทย์มาจากรัฐบาลนายเศรษฐา ตนมั่นใจ และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป
.
นายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า ส่วนที่ถามว่า เราเล่นละครกันหรือเปล่าในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี วันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ฝ่ายนายจ้าง 5 ท่าน ไม่เข้าที่ประชุม การที่จะประชุมไตรภาคี หากว่าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 ไม่สามารถที่จะเปิดประชุมแล้วลงมติได้ เพราะฉะนั้นในวันที่ 16 กันยายน ฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 ท่าน เสร็จแล้วหลังจากวันที่ 20 กันยายน มีการเชิญประชุมอีกครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีที่กํากับดูแลกระทรวงแรงงาน ไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซง และเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้ เพราะฉะนั้นตนเองไม่สามารถที่จะเข้าไปทําการเจรจา เพราะเป็นข้อห้ามว่า รัฐมนตรีไม่สามารถแทรกแซง ในเรื่องของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ
.
“เพราะฉะนั้นวันที่ 20 กันยายน เลยมีเหตุการณ์ว่าฝ่ายนายจ้าง เข้ามาครบทั้ง 5 ท่าน แต่ฝ่ายลูกจ้าง ขาด 2 ท่าน ตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย 1 ท่าน แล้วท่านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงาน ขอลา ซึ่งตรงนี้จะถามว่าเป็นเทคนิคก็ได้ ถ้าหากว่ามีการประชุมในวันนั้นผมก็เชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะโหวตได้ แต่ถ้ามีการโหวตในวันนั้นถามว่า ฝ่ายนายจ้างยืนยันคัดค้านทั้ง 5 คน ของเราถ้ามีครบ นอกเหนือจากกรรมการจากธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งมาเป็นตัวแทนไม่เข้าหนึ่งท่าน ผมจะขอถามท่าน ถ้ามีการประชุมในวันนั้นผู้ที่จะเสียหายคือกลุ่มใด ซึ่งผมก็ไม่อยากที่จะพูดในที่นี้” นายพิพัฒน์ กล่าว
.
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างยังไม่อยากขึ้น เพราะสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้พวกเราทุกคนทราบ และที่สําคัญไปกว่านั้น สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายนายจ้างคือ ดอกเบี้ยที่อาจจะสูงเกินความจริง นอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคิดว่าในรัฐบาลมีหลายๆ ฝ่ายที่พยายามที่จะเจรจากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถลดดอกเบี้ย เพื่อเป็นการช่วยเหลือกับฝ่ายนายจ้าง ซึ่งตลอดเวลาธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างถึงว่าหนี้สินครัวเรือนเราสูงมาก ก็ไม่ได้เถียง แต่หนี้สินครัวเรือน ถามว่าวันนี้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่เป็นของภาครัฐมีปล่อยกู้ให้ใครได้บ้าง เต็นท์รถมือสอง พวกเราเห็นอยู่แล้ว ทยอยปิดตัวเองไปตลอดเวลา และมีการยึดรถมาจนล้นลานจอดรถสําหรับการประมูล เพราะฉะนั้นตนไม่ขอที่จะถกเถียง
.
ส่วนที่ให้สัมภาษณ์ ว่าจะมีการขึ้นค่าแรง 400 บาท เป็นการแทรกแทรงหรือไม่นั้น นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า การให้สัมภาษณ์ ถือว่าให้นโยบายกับปลัดกระทรวงแรงงาน ในการที่จะนําเข้าไปหารือในที่ประชุมของคณะกรรมการไตรภาคี ถ้าแทรกแซงนั่นหมายความว่าต้องเข้าไปแทรกแซง หรือไปพูด หรือขอเวลาพูด ก่อนที่จะมีการประชุมในคณะกรรมการไตรภาคี
.
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนคงทราบดีถึงสภาวะถดถอยของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย เราพยายามจะคัดว่าไม่ไปกระทบธุรกิจขนาด S และ M ทําไมเราถึงเลือกที่จะประกาศ L อย่างเดียว แน่นอนการประกาศค่าแรงขั้นต่ําที่ 400 บาท เราใช้เกณฑ์ที่มีพนักงานลูกจ้างมากกว่า 200 คน ส่วนที่มีพนักงานน้อยกว่าถือว่าอยู่ในไซส์ S หรือการตีว่าไซส์เล็ก หรือไซส์กลาง เราไม่พยายาม
.
“ผมถือว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ถือครองแรงงานถึงประมาณ 90% ของประเทศไทย วันนี้ SMEs แทบจะอยู่ไม่ได้ เพราะการต่อสู้ทางการค้าค่อนข้างรุนแรงมาก และที่สําคัญไปกว่านั้น ทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน หาแนวทางว่าเราไม่กระทบไปที่ SMEs แล้วจะหาวิธีอย่างไรในการที่จะไปช่วยกู้สถานะทางการเงินให้กับ SMEs ให้เขาเกิดความแข็งแรง และเดินหน้าไปได้สําหรับรองรับการปรับค่าแรงในละครั้งต่อๆไป แต่ถ้าเราทําแล้วเราประกาศในเวลานี้ขณะนี้ แน่นอนว่าคงจะมีเพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงานอีกเป็นแสน หรือหลายๆ แสน ที่จะไม่มีงานทํา ผมคงจะไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบมากมายขนาดนั้น ผมขอความกรุณาพวกท่านที่อยู่ในภาคแรงงาน ทํางานกับเรื่องของแรงงาน ทราบดีดีกว่าผมเสียด้วยซ้ำ ว่าจุดที่เหมาะสมที่สุดคือจุดไหน”
.
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การที่ปรับค่าแรง ที่ไซส์ 200 คน ผู้ที่ได้ประโยชน์สําหรับการที่เราปรับตรงนี้ ผลกระทบไซส์ L ผู้ใช้แรงงาน ประมาณ 2,290,281 คน เป็นแรงงานไทยประมาณ 1,746,983 คนเป็นแรงงานต่างด้าว ประมาณ 543,298 คน ต้นทุนทางนี้ฝ่ายนายจ้างได้รับผลกระทบต่อคน คือประมาณ 72.78 บาท กระทบค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว ถ้าถามว่าเราผลักภาระตรงไปให้กับSMEs ล้มแน่นอน ความรับผิดชอบต้องอยู่ที่กระทรวงแรงงาน เพราะเล่นประกาศแบบปูพรม แต่ถ้าเราประกาศ ไซส์ L ไปก่อน หลังจากนั้นเรามากู้สถานะให้กับ SMEs เมื่อ เดินหน้าต่อไปได้แล้ว เรามาว่าของ SMEs ต่อไป ไม่ได้หมายความว่า SMEs ปีนี้จะไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เรามีนโยบายต่อไปว่าในช่วงของสิ้นปี ต่อเนื่องปี 2568 เราจะมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะ SMEs อีกครั้ง ตามที่อนุไตรภาคีในแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลมาให้
.
นายพิพัฒน์ ชี้แจงด้วยว่า มีความมุ่งมั่น ก้าวแรกให้จบไปให้ได้ก่อน คือค่าแรงขั้นต่ํา ของเดือนตุลาคมนี้ให้จบที่ 400 บาทเมื่อจบแล้ว จะขอชี้แจงให้ว่าเราจะมีไทม์ไลน์ในการที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ํานอกเหนือไปจากนี้อีกเมื่อไหร่ ถ้าผมจะพูดอย่างเดียว ว่ามีไทม์ไลน์ แล้วผมไม่ดูถึงสถานะของผู้ประกอบการ หรือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย เราประกาศไปเป็นเพียงลมปาก แต่ถ้าจะทําให้สําเร็จจริง อาจจะไม่ถึง 600 ได้แต่ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ําที่ชาวแรงงาน ต้องอยู่ให้ได้ เป็นเหตุผลที่สําคัญมากกว่า
.
นายพิพัฒน์ ยังได้ฝากต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจจะเป็นการก้าวก่าย ธปท. ที่ถือว่าเป็นเอกเทศ ในเรื่องของการลดต้นทุน ของค่าดอกเบี้ย ของสถานประกอบการ ถ้าหากมีต้นทุนดอกเบี้ยที่เหมาะสม เชื่อว่าเมื่อลดต้นทุนได้ การที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมันจะเป็นสมการที่เราสามารถเดินไปได้ เมื่อนายทุนหรือผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เขาสามารถขยับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานได้