xs
xsm
sm
md
lg

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการบูรณาการระบบเศรษฐกิจ โดยเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมในแต่ละปี สลับกันระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งทวีปเอเชีย เขตเศรษฐกิจที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย และเขตเศรษฐกิจที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งทวีปอเมริกา ประเทศไทยเองก็ได้รับเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครและเชียงใหม่
​​
การประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference หรือ APEC GRP เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม APEC ในความรับผิดชอบของ Economics Committee มีเนื้อหาโฟกัสไปที่ความร่วมมือทางด้านกฎระเบียบ กำหนดแนวทางหรือแนวปฏิบัติในการมีกฎระเบียบที่ดี เพื่อให้อำนวยความสะดวกต่อการค้า การลงทุน การประกอบธุรกิจ และการดำรงชีวิตของประชาชน


สำหรับการประชุมประจำปี 2567 นี้ เป็นการประชุม APEC GRP ครั้งที่17โดยประเทศเปรู ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม APEC ได้กำหนดหัวข้อของการประชุมไว้ในหัวข้อนวัตกรรมและการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (Innovation and Digitalisation to Promote Transition to the Formal and Global Economy) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายที่ดี พัฒนาระบบการตรากฎหมายให้ครบทั้งกระบวนการ (holistic regulatory lifecycle) และเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ในการนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้ในบริบทของเขตเศรษฐกิจของตน

​​สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะหน่วยงานผู้แทนประเทศไทยในการประชุม APEC GRP ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงร่วมพัฒนาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการมีกฎระเบียบที่ดีของ APEC อยู่เสมอ โดยในการประชุม APEC GRP 17 ณ กรุงลิม่า ประเทศเปรูครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มอบหมายให้นายณรัณ โพธิ์พัฒนชัยและนางสาวใจใส วงส์พิเชษฐ เข้าร่วมในฐานะผู้แทนประเทศไทย เพื่อนำเสนอพัฒนาการการพัฒนากฎหมายของประเทศไทยใน 2 ด้าน

1.ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการพัฒนาระบบกลางทางกฎหมาย (law.go.th) ในการผลักดัน Digital Transformation ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนและวัฒนธรรมขององค์กรหรือสังคม ซึ่งต้องการทั้งความเข้าใจบุคลากร เข้าใจระบบและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องการโอกาสที่สนับสนุน รวมถึงนำเสนอความท้าทายในการพัฒนาระบบกลางทางกฎหมายที่เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น การยกระดับคุณภาพของการรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องกับคำแนะนำของ OECD กล่าวคือ หน่วยงานของรัฐมีการนำความเห็นของประชาชนไปปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย ทำให้กฎระเบียบที่บังคับใช้ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างแท้จริง

2.ประสบการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับคุณภาพของกฎหมายและอุปสรรคในการ “เข้าระบบ”หรือTransitionของภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก และรายย่อยในประเทศ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพกฎหมายผ่านกลไก GRPs เพื่อลดอุปสรรคดังกล่าว โดยนำเสนอกรณีศึกษาใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ซึ่งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ภายใต้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโรงแรมโดยการออกแบบกลไกการกำกับดูแลในลักษณะ risk and size based สอดคล้องกับขนาดและความเสี่ยงของประเภทกิจการที่พักอาศัยชั่วคราว เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกขนาดและประเภทสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและเข้ามาอยู่ในระบบการกำกับดูแลของภาครัฐได้ โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎหมายที่สูงเกินความจำเป็น

​​การผลักดันให้เกิด Digital Transformationและการผลักดันให้ธุรกิจขนาด MSMEs ยินยอมเข้าระบบการกำกับดูแลของรัฐ หรือการ Transition to formal economy เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจสมาชิก APEC อื่น ๆ กำลังต้องรับมือ การประชุม APECGRP ครั้งที่ 17 นี้จึงชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือ คุณภาพของกฎหมายและคุณภาพของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ลดช่องว่างระหว่างรัฐธุรกิจและประชาชน ที่จะช่วยดึงให้ภาคธุรกิจและประชาสังคมยินยอมและสามารถ (willing and able) เข้าสู่ระบบการกำกับดูแลของรัฐได้ เนื่องจากการกำกับดูแลของรัฐ มิได้หมายถึงเพียงเฉพาะการเก็บภาษีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการคุ้มครองด้านการแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองด้านแรงงาน และการมีมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยในการประกอบอาชีพอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น