xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเงื่อนไขเยียวยา "น้ำท่วม ปี67" ล่าสุด ยากไปไหม? หลัง "ปภ.มท." แจงเบื้องต้น 57 จังหวัด 3.3 แสนครัวเรือน มีสิทธิรับงบกลาง 3 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเงื่อนไขเยียวยาน้ำท่วมปี67 ล่าสุด ยากไปไหม? หลัง "ปภ.มท." ตั้งโต๊ะ แจ้งเบื้องต้น 57 จังหวัด มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากงบกลาง รัฐบาล "แพรทองธา" 3 พันล้าน 338,391 ครัวเรือน มีทั้งช่องทางออฟไลน์-ออนไลน์ ประเดิมได้เลยวันนี้ แต่ต้องมีหลักฐานรับรอง เพียบ! ทั้งหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่ อปท.ออกให้ ตาม ม.30 กม.ป้องกันสาธารณภัย ปี50 แถมต้องผ่านประชาคมหมู่บ้านแต่ละพื้นที่ ก่อนส่ง 2 บอร์ดอำเภอจังหวัด ย้ำข้อมูล ห้ามลืม! บัตรปชช. หลักฐาน สำเนาทะเบียนบ้าน สัญญาเช่าบ้าน หนังสือรับรองบ้านเช่าจากอปท. ส่วนบ้านพักไร้ทะเบียนบ้าน ต้องมีกำนัน/ผญบ. ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สอบข้อเท็จจริง เซ็นร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3

วันนี้ (24 ก.ย. 67) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 338,391 ครัวเรือน ใน 57 จังหวัด

สามารถยื่นคำร้อง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พื้นที่ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หลังจาก คณะรัฐมนตรี เห็นชอบงบกลาง กรอบวงเงิน 3,045 ล้านบาท

ส่วนการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ทางเว็บไซต์ www.flood67.disaster.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2567 เป็นต้นไป ซึ่งประชาชนที่ยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคาร สามารถไปลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้ทุกธนาคารเพื่อให้สามารถรับเงินช่วยเหลือได้โดยเร็ว

โดยในการประชุมชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ และชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ

(1) บ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท

(2) บ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท

(3) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่ อปท.ออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัย

รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)

ที่ประชุม ร่วมปภ. ได้เน้นย้ำให้ 57 จังหวัดดำเนินการสำรวจ จัดทำบัญชี และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีตามแนวทางที่กำหนดโดยไม่ต้องรอระยะเวลา และให้ทยอยส่งข้อมูลเข้ามายัง ปภ. ให้ได้โดยเร็ว

ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อตรวจสอบและนำส่งธนาคารออมสินโอนเงินให้ประชาชนต่อไป

ได้สั่งการให้อำเภอแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลประจำแต่ละหมู่บ้านที่ประสบภัยทำหน้าที่สำรวจรายชื่อผู้ประสบภัยและการลงทะเบียนพร้อมเพย์ เพื่อส่งให้ อปท.ตรวจสอบและรับรองข้อมูลเพื่อเสนอ ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.อ. ให้ความเห็นชอบ

ก่อนส่งมาให้ปภ. รวบรวมและนำส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินให้ผู้ประสบภัยต่อไป

สำหรับเอกสารที่ใช้ยื่นเป็นหลักฐานในการขอรับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน) สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากอปท. (กรณีเป็นบ้านเช่า)

และหากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3

โดยเบื้องต้นจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรเงินช่วยเหลือฯ จะเป็นจังหวัดที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 67 และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด ได้แก่

กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา

นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน

เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี.


กำลังโหลดความคิดเห็น