xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรง400ส่อเหลว ฝันไกลไปไม่ถึง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิพัฒน์ รัชกิจประการ - ไพโรจน์ โชติกเสถียร
เมืองไทย 360 องศา


กลายเป็นว่า เวลานี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ ที่เดิมมีการประกาศให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ หรืออีกไม่กี่วันข้างหน้า มีอันต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด และมีแนวโน้มว่าน่าจะล้มเหลวตามเคย เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากนายจ้างผู้ประกอบการทั่วประเทศ ว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจนแบกรับไม่ไหว ทำให้ธุรกิจต้องล้มไปหรือไม่เช่นนั้นหากยังมีการเดินหน้าก็จะปรับลดการจ้างแรงงานลงไป เพื่อให้ธุรกิจของพวกเขาอยู่รอดต่อไปได้


ก่อนหน้านี้ รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มารับหน้าที่ต่อจากรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน มีการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำว่าจะมีการประกาศปรับค่าแรงอัตราใหม่พร้อมกันในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 กันยายน ถึงการประชุมบอร์ดค่าจ้าง เพื่อพิจารณาค่าแรงขี้นต่ำ 400 บาท หลังการประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน ล่มมา 2 ครั้ง ว่า ได้รับการแจ้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ว่า นายเมธี สุภาพงษ์ ไม่ได้เป็นตัวแทน ธปท.แล้ว จึงต้องรอให้ ธปท. ยืนยันกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ส่งผู้แทนคนใหม่มา ส่วนนายเมธี ต้องลาออก เพราะการแต่งตั้งทำโดยมติ ครม. เป็นการตั้งโดยชื่อ ซึ่งการจะแต่งตั้งคนอื่นได้ ต้องลาออกก่อน

ถามว่าขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องชื่อคนใหม่ที่จะมาแทน นายเมธี เสนอชื่อ ครม. หรือไม่ นายไพโรจน์ ระบุว่า ใช่ และประเด็นคือในวันที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง ยังคิดว่านายเมธียังเป็นตัวแทน ธปท.อยู่ เมื่อตรวจสอบส่วนราชการที่ไม่มาประชุมรวมถึง ธปท. ระบุไม่รับผิดชอบการกระทำของนายเมธี ตนเองจึงได้ทำหนังสือไปยัง ธปท.ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานว่านายเมธีไม่เกี่ยวข้องแล้ว

เมื่อถามว่าจะไม่ทัน ประกาศขึ้นค่าแรง 1 ตุลาคมนี้ และต้องเลื่อนไปก่อนใช่หรือไม่ นายไพโรจน์ ยอมรับว่า น่าจะไม่ทัน 1 ตุลาคมนี้ แต่หาก นายเมธี ลาออกภายในสัปดาห์นี้ และเราสามารถหาคนแทนนายเมธีได้ และเสนอเข้า ครม. ก็อาจจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทัน ล่าช้าไป 1-2 สัปดาห์

นายไพโรจน์ ยังระบุอีกว่า หลังจากตนเองเกษียณอายุราชการแล้วก็เป็นหน้าที่ของปลัดไตรภาคี นั่นคือ ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ยืนยันว่า ตนเองทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและทำเต็มที่ ส่วนจะไปรอดหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า เรื่องค่าแรงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่อยู่ในห้องประชุมก็ไม่รู้ว่าการพิจารณาแต่ละประเด็น ฝ่ายนายจ้างก็มีมุมมองหนึ่ง นายจ้างทุกคนมีเหตุผล ส่วนลูกจ้างก็มีเหตุผล ภาครัฐก็ต้องเป็นคนประสานเอามิติความคิดทั้งสองฝ่าย รวมถึงฝ่ายราชการมารวมในรูปแบบว่าจะขึ้นเท่าไหร่ ตนเองรู้ว่าสื่อมวลชนก็รอคำตอบอยู่

ขณะเดียวกันยังมีอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้าอีกนั่นคือ แรงคัดค้านจากฝ่าย “นายจ้าง” ทั่วประเทศที่ยืนกรานหนักแน่น

โดย นายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเขต 2 (ปราจีนบุรี,สระแก้ว,จันทบุรี และตราด)เปิดเผยถึงการที่รัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำสูงถึงวันละ 400 บาท นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงขึ้นต่ำต่ำกว่าประเทศไทย เช่น ประเทศเวียตนาม หรือประเทศอื่นๆ และว่าหากขึ้นค่าแรง แรงงานของไทยก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่แรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ไปเต็มๆ

ด้าน นายอดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ย้ำว่าในนามของภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เรายังคงยืนกรานเช่นเดิมว่า “ไม่เห็นด้วย” เราอยากให้รัฐบาลฟังเสียงจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำหรือไตรภาคี ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันที่ประชุมกันลูกจ้างเองไม่ได้ต้องการให้ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ แต่เสนอให้ปรับไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ วันนี้หากรัฐบาลจะปรับให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี จะมีอุปสรรคเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งทุกวันนี้มีข่าวการปิดโรงงานมากขึ้น ทุกเดือนก็มีโรงงานปิดกิจการลง

เมื่อพิจารณาจากท่าทีคัดค้านจากฝ่ายนายจ้าง ผู้ประกอบการดังกล่าวทำให้โอกาสที่จะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ เป็นไปได้ยากเต็มที หรืออย่างน้อยก็ไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ตามที่เคยประกาศเอาไว้อย่างแน่นอน อีกทั้งการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีก็ยังต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดอีกด้วย

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว จะว่าไปแล้วถือว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายเรือธงของฝ่ายรัฐบาลเหมือนกัน แม้ว่าอาจยังไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เพราะนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยก็คือค่าแรงวันละ 600 บาท แต่ด้วยปัญหามากมาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสอยู่ในเวลานี้ ทำให้มีการเสนอขึ้นได้แค่วันละ 400 บาทเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ทำท่าจะไปไม่ไหวอีกแล้ว

ทำให้เวลานี้เหมือนกับว่ารัฐบาล “เสียเครดิต” ขาดความเชื่อมั่นทั้งจากฝ่ายผู้ใช้แรงงาน ที่กำลังรอค่าแรงปรับใหม่ที่รับปากเอาไว้ในวันที่ 1 ตุลาคม ก็ต้องรอต่อไปแบบยังไม่มีกำหนด ขณะที่ฝ่ายนายจ้างที่คัดค้านในเรื่องนี้ เพราะทำให้พวกเขาต้องประสบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจมีปัญหาที่อ้างว่าทำให้ต้องล้มหายตายจากเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องลดแรงงานลง สร้างผลกระทบวนกลับมากับทั้งระบบเศรษฐกิจและ ผู้ใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำอีก

เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว มีแนวโน้มสูงว่า การปรับขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท น่าจะไม่อาจเป็นจริงได้ อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้อย่างแน่นอน เพราะยังมีขั้นตอนอีกมากมาย โดยเฉพาะกรรมการไตรภาคีจากฝ่ายรัฐบาล ที่เป็นตัวแทนที่มาจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยังไม่มีการแต่งตั้งใหม่เข้ามา

ทำให้กลายเป็นนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ถือว่าเป็นอีกเรื่องสำคัญของรัฐบาลที่ประกาศเอาไว้ล่วงหน้า กลับยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นผลขึ้นมาได้ แม้ว่ายังไม่ถึงเป้าหมายเดิมก็ตาม ทำให้เสียเครดิตเพิ่มขึ้น เหมือนกับก่อนหน้านี้กับนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่เวลานี้แจกได้แค่ “กลุ่มเปราะบาง” เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกกว่ายี่สิบล้านคนจะได้รับแจกหรือไม่ จนบัดนี้ยังถือว่า “เคว้งคว้าง” ไม่มีจุดหมายใดเลย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น