สตง. เปิดแผนขยะชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี 2566 นโยบายหลักมหาดไทย ยุค มท.หนู ยก 8 ท้องถิ่น “จ.ชัยนาท” ที่คว้ารางวัลชมเชยปีล่าสุด พบมีอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก 3 พันคน จาก 1.2 หมื่นครัวเรือน เผย ส่วนใหญ่ไม่เข้าเป้าประสงค์ เสี่ยงกระทบนโยบาย “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” พบ 4 ปี กิจกรรมรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ ไม่มี อปท. ดำเนินกิจกรรมได้เลย แถมพื้นที่เมือง “ทม.ชัยนาท” มีถังขยะ แค่ 37.5% จ่อประสบปัญหา ขยะเต็มเร็ว ตกค้าง เสี่ยงรองรับขยะในอนาคต เผย ผู้บริหารกังวลฐานเสียง หากปรับใช้เทศบัญญัติ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายได้”
วันนี้ (23 ก.ย.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่ผลตรวจสอบ แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2566 ของกระทรวงมหาดไทย
โดยลงตรวจสอบพื้นที่ตัวอย่าง การบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 8 แห่ง ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาท ในปี พ.ศ. 2566
ซึ่งพบว่า กรณีการจัดตั้ง “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” (อถล.) ทั้ง 8 แห่ง มี อถล. ทั้งสิ้น จำนวน 3,708 ราย จากครัวเรือน ThaiQM จำนวน 12,991 ครัวเรือน
อปท.ส่วนใหญ่ จาก 8 แห่ง ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าประสงค์ ตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2566
ส่งผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยต้นทางได้ สำหรับโครงการ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน”
“กิจกรรม อถล. ที่ส่งเสริมการนำ “ขยะบรรจุภัณฑ์” กลับมาใช้ประโยชน์ อย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มี อปท. ใดสามารถดำเนินกิจกรรมได้เลย”
ส่วนการจัดให้มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอยแบบแยกประเภทในที่สาธารณะ และ/หรือ สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง พบว่า มี อปท. ที่สามารถจัดตั้งภาชนะ รองรับมูลฝอยแบบแยกประเภทในที่สาธารณะได้ตามเป้าประสงค์ ร้อยละ 37.50 ได้แก่ เทศบาลเมืองชัยนาท
เบื้องต้น ทำให้ อปท. ในประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตาม มาตรฐานของประเทศไทย (T–VER) ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้
ในกรณีไม่มีการทวนสอบ หรือทวนสอบแบบเฉพาะเจาะจง จะทำให้ข้อมูลครัวเรือนที่ดำเนินการจริง ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รายงานจังหวัด หากมีการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Verification)
จะพบว่ามีครัวเรือนที่ไม่ได้ดำเนินการเป็นจำนวนมาก กระทรวงมหาดไทย จะไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ได้อย่างแท้จริง
สำหรับการจัดการขยะกลางทาง ที่มีภาชนะรองรับไม่ครบทุกประเภท ทำให้ขยะอันตรายและมูลฝอยติดเชื้อไม่ได้ถูกส่งกำจัดโดยวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ส่วนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย อาจเต็มเร็วขึ้น มีขยะตกค้าง และไม่สามารถรองรับขยะมูลฝอยในอนาคตได้
จากผลกระทบข้างต้น มีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนในการจัดการขยะต้นทาง
สำหรับการจัดการขยะกลางทางเกิดจากเจ้าหน้าที่ อปท.ไม่ได้ศึกษาเกณฑ์ตัวชี้วัดความสำเร็จในการติดตั้งภาชนะรองรับขยะมูลฝอย ประเภทต่างๆ
ไม่มีการจัดทำแผนในการเก็บ ขนขยะมูลฝอย และหน่วยงานรับผิดชอบด้านการกำจัดของเสียอันตรายชุมชน ยังไม่เริ่มดำเนินการ
สำหรับการจัดการขยะปลายทาง อปท. ที่มีบ่อขยะที่มีโครงสร้างพื้นฐานแบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล แต่บริหารจัดการเป็นแบบ “เทกองกลางแจ้ง” เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการกำจัดขยะมูลฝอย
สำหรับการตรวจสอบที่น่าสนใจ พบว่า ยังมีการเข้าไปสำรวจการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 8 แห่ง ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายได้
โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ เช่น กรณีของข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ เพื่อใช้ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บ และขนมูลฝอย
พบว่า อปท.ใน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประกาศ ประเภทเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป ที่ไม่มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
มีการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย ด้านการบริหารจัดการมูลฝอย โดยทั้ง 4 แห่ง ที่มีการเก็บขนและกำจัดมูลฝอย
อปท. ทุกแห่ง มีรายได้ฯ ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจำนวนมาก โดย เทศบาลเมือง (ทม.) ชัยนาท มีรายได้ร้อยละ 45.96 ของค่าใช้จ่าย เทศบาลตำบล (ทต.) โพธิ์พิทักษ์ ร้อยละ 9.31 ทต.หันคา ร้อยละ 20.31 และ ทต.หางน้ำสาคร ร้อยละ 9.83
ทำให้มีผลกระทบ กรณีที่ อปท. ที่มีการให้บริการเก็บขนขยะมูลฝอยไม่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย
“ทำให้ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมในการจ่ายค่าธรรมเนียมตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายได้”
ทำให้ อปท. ไม่สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ อปท. ต้องนำงบประมาณจำนวนมากไปใช้ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย
ทำให้ขาดโอกาสในการนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือพัฒนาด้านอื่นๆ
โดยสาเหตุสำคัญ เกิดจากผู้บริหารไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับการจัดเก็บรายได้
เนื่องจากเห็นว่า เป็นการบริการสาธารณะที่ อปท.จะต้องจัดบริการ ให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่อยู่แล้ว ประกอบกับกลัวถูกต่อต้านจากประชาชน ที่เป็นฐานเสียงพื้นที่การเลือกตั้ง
ล่าสุด สตง. ได้มีข้อเสนอแนะ ให้ ทั้ง 8 อปท. และ จ.ชัยนาท ดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ในการมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดสะอาด และรางวัลอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ระดับประเทศ
พบว่า จังหวัดชัยนาท ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชมเชย กลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก ประจำปี 2567
โดยจังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละกลุ่มจังหวัด จะได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 1,000,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 800,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 500,000 บาท และรางวัลชมเชย ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ.