xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” เขียน จม.เปิดผนึกถึง รมว.คลัง เตือน “กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง” อาจผิดกฎหมาย กบข.-ขัดรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” เขียน จม.เปิดผนึกถึง รมว.คลัง เตือน “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” อาจผิดกฎหมาย กบข. เพราะอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และ สคร.อาจทำหน้าที่ยังไม่ครบถ้วน และอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการนำเอาเงินแผ่นดินไปใช้อุดหนุนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.

วันที่ 20 กันยายน 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังในฐานะรักษาการณ์กฎหมาย กบข. เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ มีเนื้อหาดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังในฐานะรักษาการณ์กฎหมาย กบข.
ด่วนที่สุด
วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๗
เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ
เรียน นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะรัฐมนตรีผู้รักษาการณ์ พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ

อ้างถึง ข่าว ManagerOnline ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๗ เรื่อง “รัฐบาลเสก “วายุภักษ์หนึ่ง” มั่นคงเทียบเท่าพันธบัตร”

ตามที่กระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อาจจะทำหน้าที่ยังไม่ครบถ้วน ดังนี้

๑. ข่าว ManagerOnline ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๗ เรื่อง “รัฐบาลเสก “วายุภักษ์หนึ่ง” มั่นคงเทียบเท่าพันธบัตร”

ปรากฏตามข่าวดังกล่าว นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนฯ กล่าวว่า เงื่อนไขผลตอบแทนที่กองทุนฯ จะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓ ต่อปี นั้น ไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน แต่เป็นกลไกคุ้มครองผลตอบแทนของกองทุน ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จากนั้นผลตอบแทนส่วนที่เหลือจะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.

สำหรับการคุ้มครองเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ระบุว่า จะมีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นที่ ๑๐ บาทต่อหน่วย

ข้าพเจ้าขอเรียนว่าถ้อยคำในหนังสือชี้ชวน จะเกิดผลในทางปฏิบัติเป็นการประกันผลตอบแทนโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้เพราะหนังสือชี้ชวนหน้า ๕ ระบุว่า “บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลในแต่ละปีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จากกำไรสุทธิ และ/หรือกำไรสะสม ...” โดยกองทุนฯ มีกำไรสะสมของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. อยู่มากถึง ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท ซึ่งนำมาชดเชยเงินปันผลในแต่ละปีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้ และข้อความในหน้า ๘ “อย่างไรก็ดี ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ กองทุนรวมมีกำไรสะสม เท่ากับ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท” ย่อมสื่อความแก่ผู้ลงทุนเข้าใจได้ว่ามีเงินไว้รองรับการประกันผลตอบแทน

นอกจากนี้ ถ้อยคำในหนังสือชี้ชวน จะเกิดผลในทางปฏิบัติเป็นการประกันเงินต้นที่ลงทุนโดยอัตโนมัติอีกด้วย

เพราะหน้า ๗ ระบุว่า “ความผันผวนของราคาทรัพย์สินของกองทุนรวมจะถูกส่งผ่านมาให้หน่วยลงทุนประเภท ข. โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะรับผลขาดทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมมีมูลค่าลดลง” และ “ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนภายหลังจากที่ชำระคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนตามสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (คำนวณจนถึงวันที่มีการซื้อคืนหน่วยลงทุน) ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ครบถ้วนแล้ว” โดยกองทุนฯ ขณะนี้มีทรัพย์สินของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. อยู่มากถึง ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ซึ่งใช้ชดเชยเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้

กล่าวโดยสรุป การที่กองทุนฯ มีกำไรสะสมและทรัพย์สินของผู้ถือหน่วยลงทุนภาครัฐอยู่เป็นจำนวนมากนั้นเอง ทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นการประกันผลตอบแทนและการประกันเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยอัตโนมัติ

๒. ประเด็นที่ควรพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน
๒.๑ วัตถุประสงค์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
พระราชบัญญัติกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๕ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ” เรียกโดยย่อว่า “กบข.”
ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบําเหน็จบํานาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
(๒) เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
(๓) เพื่อจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก

มาตรา ๒๖ (๒) บัญญัติว่านโยบายการลงทุนของกองทุน จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง

๒.๒ การปฏิบัติตามกฎหมาย

กรณีถ้าหาก กบข. เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการยินยอมให้กองทุนฯ ใช้กำไรสะสม และรายได้ประจำปีในอนาคต ของ กบข. ไปชดเชยเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี และการยินยอมให้กองทุนฯ ใช้ทรัพย์สินของ กบข. ไปชดเชยเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับเงินลงทุนคืนจนครบถ้วนก่อนจะคืนเงินลงทุนให้แก่ กบข. นั้น อาจอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของ กบข.

และอาจก่ออันตรายให้ฐานะความมั่นคงต่อหลักประกันการจ่ายบําเหน็จบํานาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ไม่มีอำนาจที่จะออกหรือแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดนโยบายการลงทุนของ กบข. ที่นอกเหนือวัตถุประสงค์

ข้าพเจ้าขอเสนอแนะให้ท่านพิจารณา ถ้าหาก กบข. เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ก็ควรสั่งการให้คณะกรรมการ กบข. แจ้งยกเลิกการเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว

อนึ่ง ข่าวตามที่อ้างถึงข้างต้นระบุว่า
“สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ออกมายืนยันว่าการเสนอขาย การดำเนินการเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ประเภท ก. โดยมีการคุ้มครองให้นักลงทุนนั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ และมติ ครม. ปี ๒๕๕๖ ซึ่งการคุ้มครอง คือ ระบุให้นักลงทุนประเภท ก. ได้รับผลตอบแทนก่อน ยืนยันว่าไม่ได้ดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายใดๆ”

ข้าพเจ้าขอเรียนว่ามติคณะรัฐมนตรีที่ค้ำประกันผลตอบแทนและเงินต้นให้แก่ผู้ลงทุนในปี ๒๕๔๖ นั้น เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาครัฐ แต่เงื่อนไขในปี ๒๕๖๗ มิใช่เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาครัฐ

และมติคณะรัฐมนตรีไม่สามารถมีผลบังคับที่เหนือไปกว่าระดับชั้นพระราชบัญญัติ และการดำเนินการที่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของ กบข. จะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

นอกจากนี้ กรณีหาก สคร. มิได้แจ้งเตือนผู้ลงทุนภาครัฐแต่ละรายให้พิจารณาสอดคล้องกับกฎหมายนั้นๆ ที่ใช้บังคับเสียก่อน ก็อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

โดยเฉพาะควรเตือนกระทรวงการคลังว่า ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๐ กำหนดให้กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งกรณีที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. การยินยอมรับการรอนสิทธิของตนเองตามเงื่อนไขนี้อาจเข้าข่ายเป็นการไม่ปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินของแผ่นดิน

ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือฉบับนี้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานและขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ต่อมาวันที่ 21 ก.ย.นายธีระชัยได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลัง เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังเรื่องเงินแผ่นดิน
ด่วนที่สุด

วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๗

เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
เรียน นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อ้างถึง ข่าวกรุงเทพธุรกิจลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗ เกี่ยวกับ กบข.

ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๗ แจ้งว่ากิจกรรมเกี่ยวกับกองทุนวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) อาจอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นั้น ข้าพเจ้าขอเรียนเพิ่มเติม ดังนี้

๑. แถลงข่าวของ กบข.

เมื่อวันที่ ๒๐ ก.ย. ๒๕๖๗ กบข.ได้เผยแพร่คำชี้แจงในเว็บไซต์ของรัฐบาลว่า กบข. ได้มีการลงทุนในกองทุนฯ ชนิดผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ในปัจจุบัน กบข. มีการลงทุนในเม็ดเงินที่น้อยกว่า ๑๐ ล้านบาท โดยปรากฏในข่าวกรุงเทพธุรกิจที่อ้างถึง กบข. ได้แสดงเจตจำนงที่จะไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ข. ดังกล่าวทั้งหมดตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ

แต่คำชี้แจงในเว็บไซต์ของรัฐบาล กลับไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับการไถ่ถอนดังกล่าว

นอกจากนี้ ข่าวกรุงเทพธุรกิจยังระบุด้วยว่าผู้ถือหน่วยลงทุนหลักของกองทุนฯ ชนิดผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. คือกระทรวงการคลัง รวมทั้ง กบข. ไม่มีนโยบายลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนฯ ชนิดผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข.

๒. ความถูกต้องครบถ้วนของหนังสือชี้ชวน

การที่ กบข. ในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ตัดสินใจไถ่ถอนหน่วยลงทุนที่มีอยู่ทั้งหมด ก็มีผลมิให้กำไรสะสมในส่วนที่เป็นของ กบข. ตกไปเป็นของกลางให้ถูกเบียดเบียน

ทั้งนี้ เป็นการสะท้อนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่เป็นภาครัฐนั้น มีความเสี่ยงปฏิบัติให้ถูกกฏหมายในการลงทุนดังกล่าว และถ้าหากมีความจำเป็น ก็จะต้องไถ่ถอนหน่วยลงทุนที่มีอยู่ออกไป

ซึ่งเมื่อปราศจากกำไรสะสมและเงินลงทุนที่มีอยู่ขณะนี้ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ประเด็นเรื่องความมั่นคงแน่นอนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับการประกันผลตอบแทนขั้นต่ำและการคุ้มครองเงินต้นที่ลงทุนก็ย่อมจะลดลง

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กรณีที่กระทรวงการคลังเชื้อเชิญให้ประชาชนจองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยหนังสือชี้ชวนมิได้แถลงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้จองซื้อ จากกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกไป หรือจะไม่สามารถยินยอมให้ใช้กำไรสะสมและเงินลงทุนที่มีอยู่ขณะนี้ของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้ นั้นเข้าข่ายเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงสำคัญที่ไม่ครบถ้วน

๓. กระทรวงการคลังชอบที่จะปฏิบัติเช่นเดียวกับ กบข.
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่ากระทรวงการคลังชอบที่จะปฏิบัติเช่นเดียวกับ กบข. ด้วยเหตุผลดังนี้

(๑) กำไรสะสม ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาทถือเป็นเงินของประชาชน ซึ่งกรณีที่กระทรวงการคลังไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกไป จะทำให้เงินดังกล่าวตกเป็นรายได้ของกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา ๓๑

ซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปพัฒนาประเทศเพื่อประชาชนทั้งปวง อาทิเช่น สร้างโรงพยาบาล ดูแลผู้สูงวัยและผูัป่วย เป็นต้น แต่กระทรวงการคลังกลับเอาไปใช้รองรับการอุดหนุนให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งเป็นประชาชนเพียงส่วนน้อย จึงไม่เป็นธรรมในสังคม

(๒) การค้ำประกันผู้ลงทุนในปี ๒๕๔๖ นั้น เป็นการระดมทุนเพื่อประโยชน์ในการลงทุนภาครัฐ แต่การระดมทุนครั้งนี้ในปี ๒๕๖๗ เป็นการระดมทุนมิใช่เพื่อประโยชน์ในการลงทุนภาครัฐ จึงไม่มีเหตุผลที่กระทรวงการคลังจะต้องไปอุดหนุนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยไม่ได้ประโยชน์ตอบแทน

๔. กำไรสะสมของกระทรวงการคลังเป็นเงินแผ่นดิน

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓ - ๔/ ๒๕๕๗ คดีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเสนอร่างพระราชบัญญัติจะกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาทเพื่อใช้นอกระบบงบประมาณ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ หน้า ๓๗ ระบุว่า

"เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบคำชี้แจงของพยานแล้ว เห็นว่า คำว่า "เงินแผ่นดิน" ไม่ได้มีการกำหนดความหมายไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ ที่บัญญัติคำนิยามของคำว่า "ตรวจสอบ" หมายความว่า "การตรวจบัญชี ตรวจการรับ การใช้จ่าย การใช้ประโยชน์ การเก็บรักษา และการบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจที่ได้มาจากเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค และเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยรับตรวจ

ทั้งนี้ ไม่ว่าเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นของหน่วยรับตรวจหรือหน่วยรับตรวจมีอำนาจหรือสิทธิในการใช้จ่ายหรือใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อให้การดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารการเงินของรัฐและเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และให้หมายความรวมถึงการตรวจสอบอื่นอันจำเป็นแก่การตรวจสอบดังกล่าวด้วย"

ประกอบกับความเห็นของพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเงิน การคลัง และงบประมาณ ทั้ง ๔ ปาก ได้แก่ นางสาวประพีร์ อังกินันทน์ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว

เห็นว่า เงินแผ่นดิน ย่อมหมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติ โดยหมายความรวมถึงบรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค หรือเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานรัฐนั้น ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้มีภาระต้องชำระคืนทั้งเงินต้นหรือดอกเบี้ยจากเงินที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี"

จึงสรุปได้จากคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า "เงินแผ่นดิน" หมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติโดยหมายความรวมถึงบรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ

ดังนั้น กำไรสะสมในกองทุนฯ จำนวน ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นสิทธิและผลประโยชน์ที่รัฐเป็นเจ้าของนั้น จึงเป็นเงินแผ่นดิน

๕. ประเด็นที่ควรพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน

เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีหนังสือแจ้งเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีรวม ๔ ฉบับ จึงเห็นว่าท่านมีหน้าที่ต้องรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ในการที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้ผู้จัดการกองทุนฯ นำเอาเงินแผ่นดินดังกล่าวไปใช้อุดหนุนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นั้น ท่านได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๔๐ แล้วหรือไม่

และเนื่องจากคำวินิจฉัยนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ท่านจึงควรตรวจสอบเหตุผลที่ สคร. ละเลยมิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นหรือไม่

ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือฉบับนี้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานและขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น