"จักรภพ เพ็ญแข" อดีตผู้ต้องคดี ม.112 ค้านนิรโทษกรรมรวมคดีหมิ่นเบื้องสูง ชี้การเมืองต้องหาจุดร่วม เราบ้างเขาบ้าง ด้อมส้ม-ลี้ภัยวิจารณ์ขรม โวยเปลี่ียนจุดยืนหน้ามือเป็นหลังมือ
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ และเพิ่งกลับเข้ามาในไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมควรรวมคดี 112 ด้วยหรือไม่ว่า "ผมไม่เห็นว่า 112 ควรจะรวมในนิรโทษกรรม พูดผมเสียใจ ควรจะรวมอยู่โดยอัตโนมัติ แต่ผมต้องให้ล้อเลื่อนผ่านไปก่อนในความรู้สึกส่วนตัว ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าตัวเองปลอดภัยแล้วมาพูด แล้วถ้ามันไม่ปลอดภัยผมจะมานั่งอยู่ได้อย่างไร
และการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นในมาตราใดก็ตาม รวมถึงมาตรา 112 และโดยเฉพาะมาตรา 112 นั้น เราควรที่จะกระทำแต่เราต้องกระทำโดยที่ไม่ทำให้ใครเกิดความหวาดกลัว เพราะความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นว่าเขาจะอยู่ไม่ได้ ถ้าคุณได้ฉันเสียหมด ถ้าฉันได้คุณเสียหมด เป็นความรู้สึกที่ไม่ตรงกับการเมือง เพราะการเมืองต้องหาจุดร่วมกัน เขาบ้างเราบ้าง แต่ถ้าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางทุกอย่างหมด ฉะนั้นผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องของระยะในการทำ เป็นเรื่องการคอยเวลา ทั้งหมดไม่ได้พูดว่าจะไม่รวมตลอดไป แต่เราต้องรอจนบรรยากาศเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยนบางอย่างแล้วก็นำไปสู่จุดนั้น"
ทั้งนี้ ความเห็นของนายจักรภพ ถูกแชร์ไปวิพากษวิจารณ์ด่าทอด้วยความไม่พอใจ ในหมู่นักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ผู้สนับสนุนพรรคประชาชน ตลอดจนผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ ทำนองไม่เชื่อว่านายจักรภพ จะเปลี่ยนทัศนะมุมมองต่อโครงสร้างสังคมกรณี 112 ได้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
สำหรับนายจักรภพ เดินทางออกนอกประเทศ ลี้ภัยทางการเมืองกว่า 15 ปีก่อนเดินกลับไทยเมื่อ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา และเคยถูกฟ้องร้องคดีมาตรา 112 ครั้งปาฐกถาเรื่อง “ระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2550 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (เอฟซีซีที) ต่อมาคดีนี้ศาลยกฟ้อง
ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2563- 6 ก.ย.2567 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 273 คนใน 306 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนที่ชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ และมีการปราศรัยหรือแสดงข้อความที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์อยู่เป็นประจำ
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการเสนอนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2548 นั้น นายนิกร จํานง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยวันนี้ว่าเรื่องนี้เสร็จมาเป็นเดือนแล้ว แต่เนื่องด้วยจังหวะของสภาฯ จึงขยับไปพิจารณาในวันที่ 26 ก.ย. ซึ่ง กมธ.มีข้อสรุปสำคัญของทุกเรื่อง ทั้งสภาพปัญหา และรูปแบบของคณะกรรมการ
นายนิกร บอกว่าส่วนความเห็นที่สำคัญของร่างศึกษาฉบับนี้ คือความเห็นต่างเรื่องมาตรา 112 ว่าจะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งกมธ.ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงให้สมาชิก กมธ.แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงาน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.ไม่รวม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมอย่างมีเงื่อนไข 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข
นายนิกร กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ข้อสังเกตของรายงาน ที่ระบุว่า ให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้ข้อเสนอของ กมธ. คือนับคดีความ 25 ฐานความผิด ตั้งแต่ปี 2548 โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการประสานจัดทำร่างขึ้นมาเอง มาตรา 112 เป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล อาจจะส่งผลต่อเรื่องนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ต้องไปหารือกันว่าจะตีความเรื่องนี้อย่างไร