xs
xsm
sm
md
lg

‘ธรรมศาสตร์’ ชวนภาคีสุขภาพเสวนา รับมือสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ถนนทุกสายมุ่งสู่ ‘สร้างนำซ่อม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จัดเวทีเสวนาฉายภาพความพร้อมของไทยในการรับมือ “สังคมสูงวัย - ปัญหาพลัดตกหกล้ม” พบถนนทุกสายมุ่งสู่สร้างนำซ่อม รองเลขาธิการ สปสช. เผย เตรียมสิทธิประโยชน์ดูแลผู้สูงวัยครบวงจร ตั้งแต่รักษา-สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ด้าน “ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” ระบุ โรงพยาบาลร่วมกับภาคีลุยจัดบริการเชิงรุกก่อนเกิดโรค ปีหน้าจ่อเปิดโรงพยาบาลผู้สูงอายุ 150 เตียง พร้อมดันวิจัย-นวัตกรรม เติมเต็มการดูแลอย่างรอบด้าน ขณะที่ กทม. เปิด TOP 3 เขตพื้นที่ผู้สูงอายุสูงที่สุด “บางแค บางเขน สายไหม”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “พลัดตกหกล้ม : ประเทศไทยกับความพร้อมสู่สังคมสูงวัย” ภายใน “มหกรรมงานวิจัย 90 ปี นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน Thammasat innovation for the people” ซึ่งอยู่ภายใต้ธีม “ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันพลัดตกหกล้ม” ขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 เพื่อพูดคุยถึงความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถึงการรับมือสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ที่กำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในอีก 10 - 15 ปีข้างหน้า

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอนาคตนั้น จากการสำรวจข้อมูลการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ พบว่ายังมีข้อน่ากังวลอยู่บ้าง เนื่องจากงบประมาณที่ สปสช. ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลเป็นงบประมาณปลายปิด แต่ในตอนนี้ แต่ละปีเริ่มมีแนวโน้มที่ต้องใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น ความต้องการในด้านบริการสุขภาพก็เพิ่มขึ้นด้วย การบริหารจัดการงบประมาณที่มีก็จะทำได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สปสช. ได้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว ทั้งการขยายสิทธิประโยชน์ทั้งด้านการรักษา และด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เพื่อให้มีความเหมาะสม และครอบคลุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีความเจ็บป่วยได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็จะสร้างเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีไม่เจ็บป่วยง่ายควบคู่กันไปด้วย

ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ที่อยู่นอกเหนือจากการรักษาพยาบาล อาทิ การคัดกรองภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ฯลฯ การให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และรักษาสุขภาพไม่ให้เกิดโรคตามมา รวมถึงเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยปัจจุบันภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สปสช. ยังมีคลินิกเอกชนที่เป็นหน่วยบริการนวัตกรรม 7 วิชาชีพ ให้ผู้สูงอายุเข้ารับบริการระดับปฐมภูมิได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องเดินทางไกลไปรอคอยการรักษาถึงที่โรงพยาบาลด้วย

“จริงๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้สูงอายุ แต่ตั้งแต่ครรภ์มรรดาถึงเชิงตะกอน สปสช. มีสิทธิประโยชน์ดูแลครอบคลุมทั้งหมด โดยแบ่งเป็นสิทธิประโยชน์แต่ละช่วงอายุตั้งแต่วัยทารกถึงวัยสูงอายุ เพราะหวังว่าเมื่อประชาชนเข้ารับบริการตามสิทธิประโยชน์ที่มีในแต่ละวัยแล้ว ก็จะมีสุขภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น และไม่ป่วยก่อน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เอง ภายหลังพบว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุมารับบริการเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ประมาณ 4,000 - 6,000 คนต่อวัน ซึ่งเกือบเทียบเท่าโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ใน กทม. ก็ได้มีการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยเน้นไปที่ก่อนให้คัดกรอง และให้ความรู้ รวมถึงป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

รศ.นพ.ดิลก กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สปสช. หรือกระทั่ง กทม. ในการให้การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผู้สูงอายุ เช่น การจัดโครงการเชิงรุกตรวจสุขภาพให้ประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ การคัดกรองโรคหัวใจ และโรคเบาหวาน และโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดทุพพลภาพของคนไทย รวมทั้งยังมีการช่วยอบรมอาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความรู้ในการคัดกรองผู้ป่วย เพื่อช่วยลดภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

“โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้มีความร่วมมือกับ สปสช. ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีความยากไร้ ในการให้ผ่าตัดข้อเข่าเทียม และข้อสะโพกเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันได้ผ่าตัดข้อเข่าเทียม และข้อสะโพกเทียมให้ผู้ประชาชนผู้ยากไร้ทั้งสิ้นแล้วมากกว่า 750 คน” รศ.นพ.ดิลก กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ทางโรงพยาบาลฯ ยังมีการพัฒนาในส่วนงานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อเติมเต็มการให้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มด้วย เช่น เครื่องตรวจสอบการล้ม (fall detection) อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วย แปรงสีฟันดูดของเหลวในปาก ฯลฯ รวมถึงนวัตกรรมในส่วนการดูแลสุขภาพในภาพรวมของผู้สูงอายุ เพราะไม่ได้มีเพียงการพลัดตกหกล้มเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่ยังมีโรคอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับผู้สูงอายุอีกมากทั้งด้านกาย และจิตใจ

รศ.นพ.ดิลก กล่าวด้วยว่า อีกทั้งกรณีที่ผู้ป่วยหกล้มและได้รับการบาดเจ็บรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งอาจไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทางโรงพยาบาลฯ ก็มีศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ สำหรับให้การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วย มีบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หากครอบครัวของผู้ป่วยต้องการเข้ามาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยก็สามารถทำได้เช่นกัน และขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงพยาบาลผู้สูงอายุ ที่พร้อมรองรับถึง 150 เตียงภายในปีหน้า โดยจะมีการให้บริการในรูปแบบครบวงจร ซึ่งในส่วนนี้จะเสริมให้การดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ที่โรงพยาบาลดูแลครอบคลุมทุกบริการมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในระดับพื้นที่อย่าง กทม. ก็มีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยจากการเก็บข้อมูลประชากรในเขตพื้นที่ กทม. พบว่าอัตราผู้สูงอายุใน กทม. ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 21% และยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2570 สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุจะรุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่มากที่สุด คือ เขตบางแค บางเขน และสายไหม ทว่า ในอีกด้านอัตราการเกิดของประชาชนใน กทม. ก็ส่วนทางลดลงด้วย ทำให้ปัจจุบันประชากรใน กทม. ลดลงมาอยู่ที่ 5.4 ล้านคน จากเดิม 5.6 ล้านคน

นพ.ธีรวีร์ กล่าวว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้น กทม. ได้มีการจัดโครงการเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุแล้วเจ็บป่วยได้ง่าย ด้วยแผนผู้สูงอายุ กทม. เช่น ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่เป็นแผนการเตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ มีการสอนนักเรียนตั้งแต่วัยมัธยมศึกษาให้เข้าใจสังคมสูงวัยมากขึ้น ในวัยทำงานก็มีสร้างการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรค เนื่องจากในการตรวจสุขภาพของ กทม. พบว่าประชากรส่วนใหญ่มีปัญหาน้ำหนักเกินกว่า 50% และเบาหวานอยู่ที่ 20%

“เพื่อป้องกันไม่ให้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุมีโรคภัยตามมาและเป็นภาระที่ต้องมีผู้ดูแล จึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาป้องกันก่อนเข้าสู่วัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยเฉพาะการเน้นไปที่ชุมชน และมี อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เข้าไปให้ความรู้และดูแลประชาชนในชุมชน เช่น การหกล้มของผู้สูงอายุเกิดจากการตึงบริเวณน่องขา ให้ลองนั่งเหยียดขา และกระดกเท้าขึ้นก็จะรู้สึกตึงเช่นเดียวกับที่ผู้สูงอายุรู้สึก และเมื่อผู้สูงอายุเขายืนขึ้นเขาก็จะหงายหลัง ควรต้องยืดแขนหรือขาก่อนลุก สิ่งเหล่านี้คงไม่มีผู้สูงอายุคนไหนรู้หรือได้ทำ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และอยากจะฝากเตือนถึงคนที่มีผู้สูงอายุที่บ้าน ให้อยู่นิ่งๆ ซักพักก่อน อย่าพึ่งเดินเร็ว มีคนคอยประกบจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” นพ.ธีรวีร์ กล่าว

นพ.ธีรวีร์ กล่าวต่อไปว่า กทม. ยังมีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ เพื่อให้เป็นสถานที่สร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันในยามว่าง ไม่ให้ต้องอยู่เพียงลำพังที่บ้าน รวมทั้งมีการจัดการฝึกอาชีพ โดยการนำวิทยากรจากสำนักพัฒนาสังคมของ กทม. มาฝึกสอนผู้สูงอายุให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับสร้างอาชีพ และสร้างรายเสริมได้ให้ผู้สูงอายุอีกทางหนึ่ง รวมถึงอีกกิจกรรมหนึ่งคือการฝึกกล้ามเนื้อขาผู้สูงอายุให้แข็งแรง โดยให้ผู้สูงสามารถออกกำลังกายด้วยวิธีที่สามารถฝึกได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้ม และป้องกันการติดเตียงของผู้สูงอายุได้








กำลังโหลดความคิดเห็น